top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่กระทบต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ของลูก



การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่มีความสำคัญเพราะคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองก็จะมีภาพของตัวเองหรือมีการมองตัวเองในทางบวกซึ่งส่งผลต่อวิธีการมองโลกตามไปด้วย โดยการเห็นคุณค่าในตนเองนั้นแตกต่างจากการหลงตัวเองเพราะคนที่เห็นคุณค่าในตนเองจะมองตนเองตามจริง เช่น รู้ว่าตนเองมีจุดเด่น ความสามารถ และมีคุณค่าอย่างไรบ้างตามความเป็นจริง นอกจากนั้น การเห็นคุณค่าในตนเองยังมีผลต่อสุขภาพจิตอีกด้วย คนที่มีการรับรู้ว่าตนเองไร้ค่ามักจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนที่เห็นคุณค่าในตนเองเนื่องจากคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำมักจะมีสภาพจิตใจที่หดหู่ ไม่กล้าแสดงออก ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง ตรงข้ามกับคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงที่จะมีความสามารถในการจัดการกับปัญหาอุปสรรค สามารถยอมรับสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผิดหวังท้อแท้ได้ 


หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บุคคลมีระดับการเห็นคุณค่าในตนเองแตกต่างกันไปก็คือรูปแบบการเลี้ยงดูที่ได้รับ โดยจากบทความของ Jeffrey Bernstein นักจิตวิทยาได้กล่าวถึงวิธีการเลี้ยงดู 4 แบบที่กระทบต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก ทำให้เด็กมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ดังนี้


1. วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง 

การถูกพ่อแม่วิพากษ์วิจารณ์ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของลูกโดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เช่น ใช้น้ำเสียงกระโชกโฮกฮาก ด่าทอหยาบคาย โดย Bernstein กล่าวว่าพ่อแม่ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ลูกอย่างรุนแรงนั้นมักมีความวิตกกังวลสูงแล้วระบายอารมณ์ที่ท่วมท้นของตนเองลงกับลูก การที่พ่อแม่วิพากษ์วิจารณ์ลูกบ่อย ๆ นั้นส่งผลต่อระดับของการเห็นคุณค่าในตนเองของลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าและเกิดอารมณ์เศร้า โกรธ คับข้องใจตามมา เด็กที่ถูกตำหนิบ่อยจะมีแรงจูงใจลดลงและกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง


2. ปกป้องมากเกินไป 

การปกป้องมากเกินไป (Overprotecting) หมายถึง การที่พ่อแม่คอยช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้ลูกเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ลูกไม่สามารถพัฒนาความมั่นใจในตนเองและการรับรู้ความสามารถของตนเองขึ้นมาได้ และการที่พ่อแม่คอยดูแลไม่ให้ลูกต้องพบเจอกับความลำบากจะส่งผลให้ลูกรู้สึกว่าตนเองถูกพ่อแม่ควบคุมมากเกินไปเพราะพ่อแม่จะไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ออกไปเรียนรู้ สำรวจ หรือทำอะไรผิดพลาดทั้งที่มันเป็นสิ่งจำเป็นต่อพัฒนาการของลูก นอกจากนั้น การปกป้องลูกมากเกินไปจะทำให้ลูกรู้สึกวิตกกังวลและไม่มั่นคง เมื่อโตขึ้นก็จะไม่กล้าเผชิญโลกด้วยตนเอง มีลักษณะพึ่งพิง และมีปัญหากับการพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่ สำหรับพ่อแม่ที่เริ่มรู้ตัวว่าตนเองเลี้ยงลูกแบบปกป้องมากเกินไปก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนโดยเปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญกับปัญหาอุปสรรคด้วยตัวเขาเองเพื่อพัฒนาความมั่นใจและทักษะการพึ่งพาตนเอง การให้ลูกได้มีอิสระจะช่วยให้ลูกเกิดการเห็นคุณค่าในตนเอง เปลี่ยนจากการปกป้องลูกจากปัญหาอุปสรรคเป็นการส่งเสริมให้ลูกมีทักษะในการแก้ปัญหาแทน


3. ยัดเยียดความรู้สึกผิด

การสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็พบว่ามีพ่อแม่หลายคนที่สอนสิ่งนี้ให้กับลูกผ่านการทำให้ลูกรู้สึกผิดต่อความรู้สึกและการกระทำของตัวเอง พ่อแม่หลายคนมักจะอ้างว่าทำลงไปเพื่อสอนให้ลูกรู้จักบทเรียนชีวิต แต่การปลูกฝังให้ลูกรู้สึกผิดและโทษตัวเองนั้นไม่ได้ทำให้ลูกเรียนรู้บทเรียนชีวิตอย่างที่คิด เพราะพ่อแม่ที่ใช้ความรู้สึกผิดเป็นเครื่องมือในการควบคุมลูกจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยก 


4. ชอบพูดเสียดสีประชดประชัน

การพูดเสียดสีประชดประชันถือเป็นการทำร้ายลูกอย่างหนึ่งเพราะเป็นการทำให้ลูกรู้สึกอับอาย ลึกลงไปแล้วพ่อแม่อาจจะไม่มีความสุขจึงหลุดพูดคำที่ไม่สร้างสรรค์ออกมาซึ่งมันทำร้ายจิตใจลูก การข่มเหงลูกด้วยคำพูดเสียดสีประชดประชันนั้นไม่ได้ทำให้ลูกเป็นคนที่ดีขึ้นแต่จะเป็นการทำให้ทุกอย่างมันยิ่งแย่ไปกว่าเดิม 


Bernstein ยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า วิธีการที่พ่อแม่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับลูกนั้นมีผลอย่างมากต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของลูก ยิ่งพ่อแม่สามารถใช้การสื่อสารเชิงบวกและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกได้มากเท่าไหร่ ลูกก็จะยิ่งเรียนรู้และทำตามพ่อแม่ได้มากเท่านั้น พ่อแม่ควรทำให้บ้านมีบรรยากาศของความอบอุ่นและการเกื้อกูลกัน ให้ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข (unconditional love) ให้กำลังใจ และให้การเสริมแรงทางบวกแก่ลูกเพื่อให้ลูกสามารถพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองขึ้นมาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้เขียนเองก็มีความคิดเห็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกันและขอเพิ่มเติมว่า...เจตนาที่ดีแต่แสดงออกผ่านวิธีการที่ไม่เหมาะสม...มันจะไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายสัมผัสรับรู้ถึงเจตนาที่ดีได้เลย ผู้เขียนพบว่ามีลูกหลายคนที่เกิดความรู้สึกว่า “พ่อแม่ไม่รัก” ทั้งที่พ่อแม่รักมาก ๆ แต่ปัญหามันเกิดขึ้นมาจากพ่อแม่ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมจึงทำให้ลูกเข้าใจเจตนาของพ่อแม่ผิดไป ดังนั้น หากคุณรักลูกและอยากให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงปลอดภัยก็ควรเลือกใช้วิธีการที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพนะคะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[2] self-esteem. Retrieved from https://dictionary.apa.org/self-esteem

[3] Self-esteem – การเห็นคุณค่าในตนเอง. Retrieved from https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/self-esteem


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page