5 กลยุทธ์รับมือกับหัวหน้าที่ไม่ยอมรับ Feedback ด้วยเทคนิค EGRIP
แพรเชื่อว่าในการทำงาน หลาย ๆ คนคงจะมีความเครียดเมื่อต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน ที่ไม่ยอมรับความจริง ตัวอย่างเช่น หัวหน้างานที่ตั้งเป้าสูงเกินความสามารถจนทำให้ตัวเขา และทีมงานมีความเครียดสูง หรือ เพื่อนร่วมงานบางคนที่ไม่ยอมรับ feedback ข้อผิดพลาดในการทำงาน ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และสร้างความยากลำบากในการทำงานร่วมกัน
มีการศึกษาทางจิตวิทยาซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่า 4 ปี โดย Leadership IQ พบว่า 23% ของ CEO ถูกไล่ออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่ยอมรับ negative feedback และไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน โดยธรรมชาติ มนุษย์เราจะจัดการกับคนที่ไม่ยอมรับความจริง โดยการนำเสนอข้อเท็จจริงให้กับเขา ซึ่งมีงานวิจัยทางจิตวิทยาทำการศึกษาพฤติกรรมนี้และพบว่า การทำเช่นนั้นเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยทางจิตวิทยาได้เผยแพร่ว่า คนเราจะรับรู้และแปลความเหตุการณ์ต่างๆ ให้ตรงกับความเชื่อตัวเอง เราหาข้อมูลมาสนับสนุนเรื่องราวต่างๆ ที่เราอยากจะเชื่อ ข้อมูลอะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกแย่กับคุณค่าของตัวเอง (self-worth) จะยิ่งทำให้เรายึดมั่นกับความเชื่อที่ไม่ถูกต้องที่เรามีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
งานวิจัยล่าสุดได้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหานี้ โดยใช้กลยุทธ์ EGRIP ซึ่งมาจากตัวย่อ ของ Emotions (ความรู้สึก), Goals (เป้าหมาย), Rapport (ความเข้าใจ), Information (ข้อมูล) และ Positive Reinforcement) ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้
E - เชื่อมโยงกับอารมณ์ (Emotions)
พยายามทำความเข้าใจว่า ความรู้สึกไหนของเขาทำให้เขาไม่ยอมรับความจริง ตัวอย่างเช่น หัวหน้าที่ตั้งเป้าหมายที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นจริง เขาอาจจะพยายาม ผูกคุณค่าของตัวเอง (self-worth) กับความสำเร็จในการได้บรรลุเป้าหมายที่ดูยิ่งใหญ่ และอยากแสดงผลงานที่โดดเด่น แต่เมื่อเขาไม่สามารถทำได้ เขาจะรู้สึกว่าเขามีความสามารถไม่เพียงพอ หรือเขามีความเชื่อว่ามันจะสามารถเป็นไปได้ แต่ทีมกำลังไม่พยายามมากพอ เป็นต้น และด้วยมุมมองต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้เขารู้สึกเกิดความกลัวต่อการตั้งคำถามกับความสามารถของเขานั่นเอง
บทความแนะนำ “3 เทคนิคแก้ปัญหา อาการกลัวคนอื่นมองเราไม่ดี”
G - ตั้งเป้าหมายร่วมกัน (Goals)
จากตัวอย่าง หัวหน้างานที่ตั้งเป้าหมายสูงเกินความเป็นจริง พยายามทำให้เขาเข้าใจว่า เรามีเป้าหมายร่วมกัน เราทุกคนต้องการที่จะเดินไปด้วยกันและประสบความสำเร็จ ซึ่งเราก็อยากทำให้เป้าหมายประสบความสำเร็จ เพื่อเขาจะได้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับเราเองก็จะประสบความสำเร็จเช่นกัน
R - สร้างความเข้าอกเข้าใจ (Rapport)
สร้างความไว้วางใจ โดยพยายามทำความเข้าใจ รับฟัง ความรู้สึกของเขา และ แสดงให้เขารับรู้ว่าเราเข้าใจเขา การที่เขารู้สึกว่ามีคนเข้าใจ และเขาไว้วางใจ การเปิดรับข้อมูลก็จะง่ายขึ้น จากกรณีหัวหน้างานที่ตั้งเป้าหมายเกินจริง เราอาจจะต้องหาวิธีลดความกลัวในการถูกมองว่า ไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ โดยการชี้ให้เขาเห็นความสำเร็จในด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเขายอมรับเป้าหมายที่ไม่เกินความเป็นจริง เป็นต้น
I - ให้ข้อมูล (Information)
เมื่อรู้สึกว่าเขาเริ่มเปิดรับแล้ว ก็สามารถที่จะให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับเขาได้
P - สนับสนุนพฤติกรรมทางบวก (Positive Reinforcement)
หลังจากที่เขาเปลี่ยนมุมมอง และเปิดรับกับข้อเท็จจริงมากขึ้น จากงานวิจัยทางจิตวิทยา ได้กล่าวไว้ว่า เราควรพยายามทำให้เขารู้สึกดี โดยการชื่นชมเขากับความสามารถในการรับยอมรับข้อเท็จจริง
ในวัฒนธรรมไทย การพูดคุยอย่างเปิดเผยกับหัวหน้างานอาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับ และปฏิบัติใช้ ทำให้ความเครียดในการทำงานเกิดขึ้น จากการที่เราไม่สามารถพูดถึงข้อเท็จจริง และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจริงได้ อย่างไรก็ตาม การลองนำวิธีนี้ไปใช้ ไม่ว่าจะทำได้ทั้งหมด หรือบางส่วน แพรก็เชื่อว่า อาจจะสามารถช่วยให้การทำงานร่วมกันดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม หากเราเกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน การดูแลสุขภาพจิตตัวเองให้แข็งแรงสมบูรณ์ ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะสุขภาพจิต เชื่อมโยงกับสุขภาพกาย และการจัดการเรื่องราวอื่นๆ ในชีวิตเช่นกัน อีกหนึ่งทางเลือกที่ได้ผล ก็คือ การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา ก็เป็นทางเลือกที่แพรแนะนำนะคะ
สุดท้ายนี้ แพรหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยค่ะ
istrong.co ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
コメント