Work Hard หรือ Work Life Balance จะเลือกอะไรดี?
คุณเป็นคนหนึ่งไหมคะที่เริ่มจะสับสนว่าตัวเองควรจะทำงานแบบ Work Hard หรือควรจะทำแบบ Work Life Balance ดี? เพราะจากกระแสแล้วทั้งสองแบบต่างก็มีคนออกมาสนับสนุนว่ามันดี ซึ่งในสถานการณ์ที่กระแสสังคมมันดึงไปทางนั้นทางนี้ทีก็อาจจะทำให้หลายคนชักจะเริ่มงงว่าตัวเองควรจะต้องทำยังไง? ในมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อเรื่อง Work Hard และ Work Life Balance ก็คือไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะต้องเอาแบบใดแบบหนึ่ง บางช่วงคุณอาจจะเลือก Work Hard แต่บางช่วงคุณอาจจะกลับมา Work Life Balance ก็ได้ แล้วแต่ว่าจังหวะชีวิตในช่วงนั้นของคุณมันเป็นยังไง นอกจากนั้น มนุษย์แต่ละคนย่อมมีรายละเอียดของชีวิตที่ต่างกันไปทั้งเป้าหมายชีวิต เงื่อนไขข้อจำกัด เช่น สถานะทางการเงินและภาระความรับผิดชอบที่มี โดยผู้เขียนมองว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าการเลือกว่าจะทำงานแบบไหนก็คือการหมั่นประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเอง
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณทำงานหนักมากเกินไป
- มีการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ การนอนหลับมีความสำคัญต่อร่างกายและจิตใจโดยเฉพาะความสามารถในการรับมือกับเครียด การตัดสินใจแก้ไขปัญหา และการฟื้นตัวจากสภาวะเจ็บป่วย
- ทำงานจนไม่ได้กินระหว่างวัน การโหมทำงานจนไม่ได้กินอาหารโดยอาจจะยุ่งจนลืมกินหรือรู้สึกว่าตัวเองต้องทำงานจึงไม่มีเวลาที่จะพักไปกินอาหารระหว่างวันจะส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย เพราะการข้ามมื้ออาหารไปนั้นมันจะทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายต่ำ พลังงานตก ซึ่งสภาวะนี้จะทำให้คุณยิ่งอยากจะกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพหลังเลิกงาน (อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง)
- ไม่ได้ออกกำลังกาย ความเหนื่อยล้าจากการทำงานมักจะทำให้หลายคนไม่ได้ออกกำลังกาย แต่การออกกำลังกายนั้นมีผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ โดยการออกกำลังกายแบบเข้มข้นปานกลาง (เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ) 150 นาที หรือแบบเข้มข้นมาก (เช่น ออกกำลังกายแบบที่เหนื่อยจนพูดได้ไม่เป็นคำ) 75 นาที ต่อสัปดาห์ จะช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า ลดความดันเลือด ช่วยรักษาสมดุลของระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาล ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานได้
- ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเริ่มแย่ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นนอกจากจะช่วยให้ไม่เหงาแล้วยังช่วยในเรื่องสมองและความจำ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความสุขและสุขภาวะที่ดี
- เริ่มหันไปพึ่งพาสุราและสารเสพติด หลายคนเวลาที่เกิดความรู้สึกว่าปัญหามันประดังประเดมากจนตัวเองรับมือไม่ไหวก็เริ่มอยากที่จะตัดตัวเองออกจากความรู้สึกแบบนั้น โดยวิธีหนึ่งที่ใช้กันมากก็คือการหันไปดื่มสุราหรือใช้สารเสพติดเพิ่มมากขึ้น
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณ Work Life Balance อย่างไม่เหมาะสม
แน่นอนว่าในการทำงานมันจะต้องมีช่วงที่เครียดบ้าง เช่น เมื่อต้องทำงานให้ทัน deadline แต่ถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่าการทำงานเกินกว่า 55 ชั่วโมงมันเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณ คุณอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการ Burnout โดยสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณเกิดสิ่งที่เรียกว่า “unhealthy work-life balance” ได้แก่
- คุณเริ่มไม่ดูแลตัวเอง
- คุณไม่ได้ใส่ใจกับสุขภาพจิตของตัวเอง
- คุณเริ่มรู้สึกว่างานของคุณมันไร้คุณค่าความหมาย
- คุณเริ่มรู้สึกกังวลกับประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเอง
- คุณเริ่มมีปัญหาในการบริหารเวลาสำหรับงานและครอบครัว
- คุณรู้สึกโดดเดี่ยว
อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในข้างต้นว่าคุณอาจไม่จำเป็นต้องเลือกว่าคุณจะ Work Hard หรือจะ Work Life Balance เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือความสามารถในการรับมือกับความเครียดจากการทำงาน ตัวอย่างของวิธีในการรับมือกับความเครียดจากการทำงาน ได้แก่
- กำหนดขอบเขต (boundaries) ตั้งเป้าของตัวเองในแต่ละวันว่าวันนี้คุณต้องการจะทำอะไรบ้างและวันนี้อยากจะเลิกงานเวลาอะไร
- สร้างกิจวัตรประจำวัน วางแผนว่าหลังเลิกงานในแต่ละวันคุณจะทำอะไร เช่น ไปเข้าคลาสออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นโยคะ ฯลฯ
- วางความรู้สึกผิดลง ไม่ต้องรู้สึกผิดเมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้วคุณกลับบ้านไปในขณะที่คนอื่นยังทำงานกันต่อ หลายคนอาจจะรู้สึกผิดและเลือกที่จะทำงานต่อแม้จะถึงเวลาเลิกงานจนลืมไปว่านอกจากบทบาทของพนักงงานแล้วยังมีบทบาทของสามีภรรยาที่ดีหรือพ่อแม่ที่ดีรออยู่ที่บ้าน โดยในเรื่องนี้ Dr. Adam Borland นักจิตวิทยาได้กล่าวไว้ว่า “สังคมมักจะมองว่าการทุ่มเททำงานจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนมันคือสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนทำงาน พวกเราควรจะปรับทัศนคติกันเสียใหม่”
สุดท้ายแล้ว ชีวิตของคุณย่อมเป็นของคุณ อย่าให้กระแสสังคมดึงคุณไปทางนั้นทีทางนี้ที คุณสามารถที่จะเลือกทำแบบไหนก็ได้ตราบใดที่ทางเลือกนั้นมันดีต่อชีวิตของคุณทั้งในด้านการทำงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากคุณทำแล้วคุณรู้สึกมีความสุขกับวิถีที่คุณเลือกและคุณมีสุขภาพร่างกายจิตใจที่แข็งแรงก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร แต่หากคุณเริ่มรู้สึกว่าสุขภาพร่างกายจิตใจเริ่มถดถอย เริ่มมีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง คุณก็อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้มันดีต่อคุณและคนที่คุณรักมากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องยึดโยงตัวเองให้อยู่กับ Work Hard หรือ Work Life Balance อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอไป เพราะคำว่า “ดี” หรือ “เหมาะสม” ของแต่ละคนล้วนมีนิยามที่แตกต่างกัน
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] 5 Side Effects of Working Too Much. Retrieved from https://health.clevelandclinic.org/effects-of-working-too-much
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments