8 เทคนิคจิตวิทยา Empowerment ทีมให้สู้งาน แม้ว่างานจะสู้กลับ
การ Empowerment หรือที่เราได้ยินคนเรียกสั้น ๆ ว่า “Empower” ซึ่งความหมายในทางจิตวิทยา Empowerment ก็คือ การสร้างเสริมพลังงานค่ะ ซึ่งมันเป็นเทคนิคที่สำคัญมากในทางจิตวิทยาองค์กร เพราะการที่จะสร้างทีมให้เข้มแข็งได้นั้น ต้องอาศัยพลังมหาศาลเลยค่ะ ทั้งพลังกาย พลังใจ เพราะถึงแม้ว่าเราจะสู้งาน แต่งานก็มักจะสู้เรากลับ เช่น งานด่วนมาพร้อมงานแทรกบ้างละ งานเก่าวนกลับมาแก้บ้างละถ้าทีมไม่มีการ Empowerment กัน พังแน่นอนค่ะ ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้องค์กรของคุณผู้อ่านทีการสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง สามารถสู้งานได้ด้วยพลังกายและพลังใจล้นเหลือ จึงขอแนะนำเทคนิคจิตวิทยา ในการสร้าง Empowerment ทีม มาฝากกัน 8 เทคนิค ค่ะ
1. ให้อิสระในการทำงาน ภายใต้กฎ ระเบียบที่ยืดหยุ่น
เทคนิคแรกในการ Empowerment ที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การให้อิสระในการทำงานภายใต้กฎระเบียบที่ยืดหยุ่นค่ะ เพราะเมื่อคนเราไม่ถูกตีกรอบความคิด คนทำงานก็จะกล้าสร้างสรรค์งาน กล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่แตกต่าง หรือกล้าที่จะนำเทคนิคใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการสร้างประสิทธิภาพในงาน และคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อเกิดผลงานก็คือองค์กรค่ะ แล้วยิ่งองค์กรสามารถสร้างทีมที่มีความคิดสร้างสรรค์ องค์กรก็จะมีความแข็งแกร่ง และพร้อมเดินไปข้างหน้าแม้โลกจะเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตามภายใต้อิสระนั้นก็ต้องมีกฎระเบียบมาคุมไว้เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีใครละเมิดสิทธิใครนั่นเองค่ะ
2. ให้กำลังใจกันบ่อย ๆ
เป็นปกติของการทำงานที่เราจะต้องพบเจอช่วงเวลาที่ทำให้รู้สึกว่า “มันไม่ใช่วันของเราเลย” เช่น งานผิดพลาด โดนตำหนิ ไฟล์งานหาย โดนปาดหน้า ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ช่างบั่นทอนกำลังใจคนทำงาน เพราะฉะนั้นอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญอย่างมากของ “ทีม” นอกจากการทำงานร่วมกันแล้ว ก็คือ การหมั่นให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เมื่องานผิดพลาดก็ไม่ควรโทษกัน เพราะอย่างไรมันก็พลาดไปแล้ว แต่ควรช่วยกันหาทางออก ร่วมแก้ไข และถอดบทเรียนว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะไม่ผิดพลาดอีก หรือถ้าเกิดเหตุเช่นนี้อีก ควรจะรับมืออย่างไร เพราะคนเราจะมาทำงานร่วมกันนั้นนอกจากภาระหน้าที่แล้ว “ใจ” ก็สำคัญค่ะ ถ้าสมาชิกทุกคนในทีมให้ใจกัน ดูแลห่วงใยกันทีมจะเข้มแข็ง และมีความผูกพันภายในทีมสูง แล้วทุกคนก็จะมีความสุขในการทำงานค่ะ
3. ลด “จับผิด” มาเพิ่ม “จับถูก”
จากบทความจิตวิทยาองค์กรของต่างประเทศ ที่ได้เขียนถึงห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมจับผิดในองค์กร มาเป็น “การจับถูก” โดยแต่เดิมเจ้าของห้างฯ จะได้รับจดหมายร้องเรียนจากพนักงานเกี่ยวกับเรื่องการทำผิดของเพื่อนร่วมงานบ้าง ผู้ใต้บังคับบัญชาบ้าง หรือหัวหน้าบ้าง และเมื่อมีการประชุมองค์กรก็จะกลายเป็นเวทีสาดสี ตีไข่ ลากไส้กัน ทำให้อัตราการลาออกเยอะมาก ดังนั้น เจ้าของห้างฯ ก็เลยออกแคมเปญ “จับถูก” โดยให้ทุกคนเขียนโพสอิทในเรื่องที่จับถูกคนอื่น ไปแปะไว้ที่โต๊ะ หรือไปมอบให้คน ๆ นั้น และใครที่จับถูกได้มากที่สุดในเดือนนั้นจะได้รางวัลเป็นสินค้าราคาแพงของห้างฯ ทีนี้ก็กลายเป็นว่าทุกคนมองหาแต่ข้อดีของคนทำงาน และพอเลิกแคมเปญ ทุกคนก็ติดเป็นนิสัยในการมองข้อดีก่อน แล้วทำให้ความสัมพันธ์ของคนในองค์กรดีขึ้นมาก รวมถึงมีความผูกพันกับองค์กรขึ้นมากด้วยเช่นกัน
4. เชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อใจ
เทคนิคการ Empowerment ที่ได้ผลอย่างมากอีกวิธี ก็คือ การให้โอกาสคนทำงานได้ทำงานที่เขาอยากทำ เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น เชื่อมือ และเชื่อใจ ที่องค์กรมีต่อคนทำงานค่ะ เช่น คนที่ถนัดทำรายงานก็สรุปประชุม คนที่ชอบออกแบบ ก็ทำ Infographic คนที่ชอบพูดก็เป็นคนพรีเซนต์ คนที่ชอบแสดงออกก็ส่งไปประชุม แล้วเมื่อคนที่มีความสามารถ ความถนัด ความสนใจที่หลากหลายเหล่านี้มารวมตัวกัน ทีมทำงานของเราก็จะกลายเป็นทีมงานคุณภาพ เพราะทุกคนเติมในสิ่งที่ขาด เสริมทีมให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการใช้คนให้ถูกกับงาน ซึ่งวิน - วิน มีความสุขกันทั้งคนทำงาน และองค์กร
5. สนับสนุนทีมในทุกด้าน
ตามทฤษฎี E หรือการ Empowerment องค์กรต้องมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitators) มากกว่าเป็นผู้นำ ดังนั้น องค์กรจึงควรสนับสนุนทีมในทุก ๆ ด้าน ทั้ง สนับสนุนงบประมาณ สนับสนุนทรัพยากร สนับสนุนความคิดเห็น สนับสนุนการตัดสินใจ และสนับสนุนโดยใช้อำนาจ บารมี Connection เพื่อให้สมาชิกในทีมสามารถทำงานได้อย่างสะดวกกาย สบายใจ และทำได้เต็มศักยภาพ เพราะเมื่อคนพร้อม ทรัพยากรพร้อม และองค์กรก็พร้อมที่จะสนับสนุน คนทำงานจะร่วมกันทำงานแบบไม่ต้องกังวลอะไร และงานก็จะออกมาแบบรับประกันความฟินาเล่ค่ะ
6. ให้ความสำคัญกับ Work Life Balance ของสมาชิกในทีม
ตามทฤษฎี Y หรือทฤษฎีมุมมองของผู้นำ ของ Douglas McGregor กล่าวไว้ว่า เมื่อองค์กรรับรู้ได้ว่า คนทำงานมีความไม่สู้งาน เบื่องาน เฉื่อยชา จะมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้องค์กรล้มเหลว ดังนั้นองค์กรจึงควรตระหนักใน 4 ประเด็น คือ
(1) Work Life Balance ของสมาชิกในทีม เพราะคนทุกคนย่อมต้องการการพักผ่อน
(2) เมื่อถึงเวลาทำงานก็ขอให้เชื่อมั่นว่าทุกคนจะใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
(3) ทุกคนสามารถเรียนรู้ในการยอมรับภาระงาน ยอมรับผลจากสิ่งที่ตัวเองได้ทำ รวมถึงมีความปรารถนาที่จะรับผิดชอบในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของทีมงาน และองค์กร
(4) ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการตัดสินใจที่ดี
7. รับฟัง ให้เกียรติ
ตามทฤษฎี Z ของ William G. Ouchl ที่ได้นำเอาหลักการของทฤษฎี X และ Y เข้าด้วยกัน โดยมีแนวความคิดสำคัญ คือ องค์กรต้องมีหลักเกณฑ์ที่ควบคุมคนทำงาน แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่าคนทุกคนย่อมรักความเป็นอิสระ และต้องการบรรลุความต้องการ ดังนั้น หน้าที่ขององค์กร ก็คือ การปรับเป้าหมายขององค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายของคนทำงานในองค์กร โดยการรับฟัง ให้เกียรติคนทำงาน ตามแนวทางของทฤษฎี 4 แนวทาง ได้แก่
(1) การส่งเสริมให้คนทำงานประสบความสำเร็จในชีวิต หรือค้นหาความหมายของชีวิตของแต่ละคนเจอ
(2) ส่งเสริม และพัฒนาคนทำงานให้มีศักยภาพ สมรรถนะ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(3) ให้ความไว้วางใจแก่ผู้ทำงาน
(4) รับฟังคนทำงาน ด้วยการให้คนทำงานได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
8. ให้ความสำคัญกับทุกคนโดยเน้นการมีส่วนร่วม เพราะทุกคน คือ “ทีม”
การจะสร้างทีมนั้น ก็เหมือนการประกอบจิ๊กซอว์ ถ้าขาดชิ้นส่วนไหนไปจิ๊กซอว์ก็ไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับการสร้างทีม หากขาดคนใดคนหนึ่งไปทีมก็ไม่สมบูรณ์ งานที่ออกมาก็ไม่ดี ไม่ปัง ไม่เลอค่า ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ดังนั้นองค์กรจึงควรรักษาความเป็นทีม โดยการให้ความสำคัญกับทุกคนในทีม เช่น การกระจายงานที่เท่าเทียม การมอบหน้าที่รักผิดชอบอย่างเป็นธรรม การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่ากัน และสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการสร้างสรรค์ผลงานของทีม เพื่อให้ทุกคนได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของทีม มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของผลงาน ได้รับเกียรติเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ แล้วเขาจะภูมิใจในการทำงาน มีความสุขใจในการร่วมทีมต่อไปเรื่อย ๆ ค่ะ
การสร้าง “ทีม” ไม่ใช่เพียงแค่การมอบหมายให้คนมาทำงานร่วมกัน แต่องค์กรต้อง Empowerment ให้คนทำงานได้มีส่วนร่วม ได้รู้สึกว่าตนเองป็นหนึ่งเดียวกัน รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าต่อองค์กร เมื่อนั้นต่อให้เจองานสู้มา ทีมก็สามารถสู้งานกลับได้อยู่หมัดค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
[1] ช่อทิพย์ บรมธนรัตน์. (2557). การสร้างพลังทางการบริหาร. จุลสารสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพออนไลน์. (1).
[2] สุรชัย โชคครรชิตไชย. (มปป.). เทคนิคการเสริมพลังตัวเอง และ นักวิจัย R2R (Empowering Technique). เอกสารประกอบการบรรยาย. พระนครศรีอยุธยา : โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา.
[3] ADPT. (13 November 2021). 3 แนวทาง Empower พนักงาน เพื่อการทำงานที่มีความสุข และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2565 จาก https://www.adpt.news/2021/11/13/3-ideas-to-empower-employees/
บทความแนะนำ : 6 วิธีปลุกพลังใจเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุข กับการเขียนบทความจิตวิทยา
Comments