ชวนคุยปัญหายอดฮิตในความสัมพันธ์...ทะเลาะกันทีไรทำไมอีกฝ่ายถึงชอบเดินหนี?
ทะเลาะกันทีไรอีกฝ่ายชอบเดินหนีทุกที...เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยนเรียกได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตกเลยก็ว่าได้ และส่วนมากแล้วฝ่ายที่เดินหนีมักจะเป็นฝ่ายสามีมากกว่าภรรยา อะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น การทำเช่นนั้นมันส่งผลยังไงบ้าง และหากมันเป็นพฤติกรรมที่ไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์มันจะมีทางออกทางไหนบ้างเพื่อให้ความสัมพันธ์ไม่ร้าวฉาน ผู้เขียนได้ไปรวบรวมมาจากบทความต่าง ๆ และสรุปออกมาในแบบที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากข้อมูลที่ไปพบ ดังนี้
ทำไมความเข้าใจปรากฏการณ์ “เดินหนี”
การเดินหนีไปเวลาที่ทะเลาะมันไม่ได้หมายถึงการไม่ให้เกียรติหรือไม่แยแสอีกฝ่ายเสมอไป แม้ว่ามันจะชวนให้ฝ่ายที่ถูกหันหลังใส่แล้วเดินหนีไปรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่แคร์กันเลยหรือทำให้รู้สึกงง ๆ ไม่เข้าใจ แต่เหตุผลที่แท้จริงมันมีมากไปกว่านั้น ได้แก่
มีความท่วมท้นทางอารมณ์ และไม่รู้ว่าจะรับมือกับอารมณ์ท่วมท้นที่มันเกิดขึ้นมา การเดินหนีมันจึงเป็นเหมือนกลไกป้องกันตัวเอง เพื่อระงับเหตุในกรณีที่เกิดควบคุมตัวเองไม่ได้ขึ้นมาก็จะได้ไม่เผลอไปพูดหรือทำอะไรที่เป็นการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง
สไตล์การสื่อสารส่วนตัว มนุษย์แต่ละคนจะมีสไตล์การสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะชอบเผชิญหน้ากันตรง ๆ ไปเลย แต่บางคนก็ชอบที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งซึ่งคนแบบหลังนี้มักจะมีสไตล์การสื่อสารแบบหลีกเลี่ยงหรือเดินหนี เพราะพวกเขามองว่าการหลีกเลี่ยงไม่คุยกันเป็นวิธีในการลดความรุนแรงของสถานการณ์ที่ตึงเครียดลง
ต้องการพื้นที่(ให้กับตัวเอง) ในบางครั้งคนเราก็อยากจะอยู่กับตัวเองเพื่อเคลียร์กับเสียงในหัวของตัวเอง ออกไปสูดหายใจเพื่อที่จะได้คิดทบทวนกับตัวเองหรือเกิดมุมมองใหม่ ๆ
ขาดทักษะ ทักษะความรอบรู้เกี่ยวกับศาสตร์ในการระงับข้อขัดแย้งไม่ได้มีกันทุกคน คนที่ชอบเดินหนีไปเวลาที่ทะเลาะกันอาจจะไม่รู้เทคนิคในการแก้ไขความขัดแย้ง และการเดินหนีอาจจะเป็นเทคนิคเดียวที่เขามีในการป้องกันไม่ให้สถานการณ์ความขัดแย้งมันเลวร้ายไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเดินหนีมันอาจจะช่วยยับยั้งการปะทะกันอย่างรุนแรงอันเกิดจากการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของฝ่ายที่เดินหนีลงได้ แต่หลายครั้งมันก็ทิ้งบาดแผลและค่อย ๆ กัดกร่อนความสัมพันธ์อยู่เหมือนกันเพราะมันมักจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกทอดทิ้ง และยิ่งถ้าเป็นคนที่มีตัวกระตุ้น (trigger) หรือมีปมเกี่ยวกับการถูกทอดทิ้ง การเดินหนีจะยิ่งไปทำลายความรู้สึกมั่นคงและทำให้ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์แบบมั่นคง (secure) ขึ้นมาได้ หลายคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้จึงอาจไม่รู้ว่าการเดินหนีไปมันสร้างความเจ็บปวดให้กับอีกฝ่ายมากแค่ไหน แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น ทั้งสองฝ่ายจะทำอย่างไรได้บ้างเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น
1. ทำข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้า ว่าถ้าหากการทะเลาะกันมันเริ่มจะรุนแรง มีการด่าทอกัน ต่างฝ่ายต่างมีอารมณ์เดือด ก็อาจจะต้องเดินหนีเพื่อไปสงบสติอารมณ์ก่อน
2. ตัดสินใจว่าจะทำยังไงถ้ามีการเดินหนีเกิดขึ้น พูดคุยซักซ้อมกันไว้ก่อนเลยว่าถ้าหากทะเลาะกันแล้วมีฝ่ายหนึ่งเดินหนีจะตอบสนองกันยังไง และทำตามข้อตกลงให้ได้ไม่ว่าขณะนั้นทั้งสองฝ่ายจะกำลังรู้สึกแย่แค่ไหน
3. สังเกตให้ได้ว่าการเดินหนีมันอาจจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายรู้สึกถูกทอดทิ้ง การเดินหนีไประหว่างที่ทะเลาะกันมันอาจจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกลัวว่าพออีกฝ่ายออกไปแล้วอาจจะไม่กลับมาอีกเลย หรืออีกฝ่ายไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกันอีกต่อไปแล้ว มันจึงเป็นการดีกว่าถ้าจะพูดก่อนที่จะออกไป เช่น “ขอออกไปข้างนอกสักชั่วโมง ถ้าอารมณ์เย็นลงแล้วจะกลับมา”
4. แยกย้ายกันด้วยความสงบ เช่น ไม่กระแทกประตูเสียงดัง ตะโกนคำหยาบคายออกมาดัง ๆ
5. ทำให้อีกฝ่ายมั่นใจว่าคนที่ออกไปจะปลอดภัย เช่น เอากระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์ กุญแจ หรือถ้าเป็นฤดูหนาวก็เอาเสื้อกันหนาวติดตัวไปด้วย รวมถึงบอกอีกฝ่ายให้รู้ถ้าหากต้องการเวลาในการอยู่กับตัวเองนาน โดยเฉพาะถ้ามีแพลนจะไปค้างที่อื่นก็บอกรายละเอียดให้อีกฝ่ายรู้ด้วยว่าจะไปค้างที่ไหน
6. ถ้ามีประเด็นการนอกใจหรือเรื่องที่ทำให้อีกฝ่ายระแวงจะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าต่อให้จะทะเลาะกันหรือต่างฝ่ายต่างรู้สึกแย่แค่ไหนก็จะไม่มีการนอกใจกันเกิดขึ้นไม่ว่าจะไปในทางมองหาคนใหม่หรือจะกลับไปหาคนเก่าก็ตาม และสำหรับคนที่มีความสัมพันธ์แบบ open relationship ก็จะยิ่งต้องใส่ใจกันมากเป็นพิเศษเพราะคนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยอาจจะหาเรื่องทำให้ทะเลาะกัน
7. ระหว่างที่อีกฝ่ายออกไปสงบสติอารมณ์ควรหลีกเลี่ยงการส่งข้อความหรือโทรตาม ถ้าต่างฝ่ายต่างให้ความมั่นใจกันเอาไว้แล้วว่าทุกอย่างมันจะโอเค การส่งข้อความไปหาก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้มากที่สุด ส่วนการโทรตามมันอาจจะเป็นการขัดจังหวะในการหยุดพักทบทวนความคิดระหว่างที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ผู้เขียนรวบรวมมาอีกที ซึ่งในความเป็นจริงมันอาจจะมีรายละเอียดและปัจจัยที่ทำให้สามารถทำได้และทำไม่ได้อย่างคำแนะนำดังกล่าว แต่หากการทำไม่ได้มันไปถึงขั้นที่เกิดการลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย หรือมีการทำร้ายตนเองเกิดขึ้น ก็อาจจะสะท้อนว่าคู่ของคุณมีบางสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาและได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ไม่ควรละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้เพราะมันอาจจะส่งผลเสียมากกว่าที่คุณคิด
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] My Husband Always Walks Away When We Argue (When Your Husband Walks Away From an Argument). Retrieved from https://medium.com/@zaraverax/my-husband-always-walks-away-when-we-argue-when-your-husband-walks-away-from-an-argument-c528f375dbbe
[2] Storming Out of Fights: Here’s Why You Need to Stop. Retrieved from https://estestherapy.com/storming-out-of-fights-heres-why-you-need-to-stop/
[3] Couples Therapy: 7 Strategies For Couples That Need To Walk Away From A Fight. Retrieved from https://tribecatherapy.com/5084/couples-therapy-walk-away-fight/
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments