top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เปิดเหตุผลทางจิตวิทยา ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จสูงถึงฆ่าตัวตาย?


หลายคนที่ไม่เคยมีความคิดฆ่าตัวตายมาก่อน อาจจะมีความสงสัยว่าทำไมบางคนถึงคิดฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสูง เช่น คนที่มีฐานะการเงินร่ำรวย ชีวิตไม่ได้ลำบากอะไร เป็นคนดัง เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในสังคม ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีข้อสงสัยแบบนั้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะมีมุมมองต่อความสุขว่ามันหมายถึงการมีเงิน การมีอาชีพการงานที่รายได้ดี การมีชื่อเสียงเกียรติยศ มีชีวิตที่สุขสบายไม่ต้องปากกัดตีนถีบ เป็นต้น และยิ่งหากคนที่ประสบความสำเร็จสูงคนนั้นมักจะแสดงออกเสมอว่าตัวเองมีความสุข เช่น รูปใน IG มีแต่รูปยิ้มแย้ม ไปเที่ยวที่ต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน หน้าที่การงานก็กำลังไปได้สวย แต่พวกเขากลับลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย ก็อาจจะยิ่งทำให้สังคมมีคำถามว่า “ความสุขคืออะไรกันแน่?” “ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จสูงถึงฆ่าตัวตาย?


ทำความเข้าใจความจริงเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  • ในทุกปีจะมีผู้คนทั่วโลกมากกว่า 700,000 คน ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

  • คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ มักเคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

  • การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ในปี ค.ศ. 2019 ของกลุ่มคนในช่วงอายุ 15 – 29 ปี

  • การกินพิษ การแขวนคอ และการยิงตัวตาย เป็นวิธีที่ถูกใช้ในการฆ่าตัวตายมากที่สุด

ความย้อนแย้งระหว่างระดับความสุขและอัตราการฆ่าตัวตาย

ความเชื่อที่ผ่านมามักทำให้ผู้คนเกิดความคิดว่าคนที่ฆ่าตัวตายคือคนที่ไม่มีความสุขเป็นอย่างมาก (extreme unhappiness) ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้เพราะคนส่วนใหญ่ที่ฆ่าตัวตายมักมีประวัติชีวิตที่สะท้อนว่าพวกเขาแทบไม่มีความสุขเลย แต่ที่น่าแปลกใจคือข้อมูลจาก The World Happiness Report ที่พบสถิติว่า ประเทศที่ได้ดัชนีความสุขเป็นอันดับสูงสุดของโลกอย่างฟินแลนด์และเดนมาร์กกลับมีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในระดับสูง และประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีความสุขมากที่สุดในโลกกลับมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นสองเท่าของประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีความสุขต่ำที่สุด

ทั้งนี้ มันอาจเป็นไปได้ว่าประชากรในประเทศยากจนนั้น แม้จะมีความสุขน้อยแต่ก็มีความหวังว่าชีวิตตนเองจะดีขึ้นหรือรวยขึ้นในสักวันหนึ่ง จึงไม่ค่อยลงมือฆ่าตัวตาย นอกจากนั้น ประชากรที่ยากจนมักมีความคิดว่าปัญหาชีวิตมันจะได้รับการแก้ไขหากวันหนึ่งตนเองร่ำรวยขึ้นหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่คนที่เกิดมาในประเทศที่ร่ำรวยหรือเป็นคนที่มีฐานะการเงินดีมีโอกาสทางสังคมที่สูงกว่า อาจจะมีประสบการณ์ต่อให้มีเงินและประสบความสำเร็จสูงแค่ไหน มันก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาชีวิตหรือความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นมามันดีขึ้นเลย จนนำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวังและซึมเศร้าในที่สุด เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วทำให้ผู้เขียนนึกถึงประโยคของ Jim Carrey ที่กล่าวว่า ““I think everybody should get rich and famous and do everything they ever dreamed of so they can see that it's not the answer.” ผมคิดว่าทุกคนควรมีฐานะร่ำรวย มีชื่อเสียง และทำทุกสิ่งที่เคยฝันไว้ได้สำเร็จ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะพบว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่คำตอบ

ดังนั้น ความรู้สึกไม่มีความสุขมันจึงอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ และการฆ่าตัวตายก็อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ไม่ว่าจะจนหรือรวย ดังหรือไม่ดัง แต่เป็นใครก็ตามที่มีความรู้สึก 3 อย่างนี้

1. สิ้นหวัง (Hopelessness) คือ มองไปข้างหน้าแล้วมันมืดมนไปหมด ไม่รู้จะอยู่ต่อไปยังไงหรือจะอยู่ไปทำไม

2. ไม่มีใครหรืออะไรมาช่วยให้ดีขึ้นได้ (helplessness) คือ รู้สึกว่าตัวเองจะต้องวกวนอยู่กับปัญหาหรือความรู้สึกแย่ ๆ ตลอดไปไม่จบไม่สิ้น อย่างที่ไม่มีใครหรืออะไรจะมาช่วยให้พ้นจากลูปนี้ไปได้ ฉันทำอะไรไม่ได้แล้วนอกจากต้องอยู่ไปวัน ๆ อย่างนี้

3. ไร้ค่า (Worthlessness) คือ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย อยู่ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับใคร ถ้าฉันไม่อยู่แล้วหรือหายไปมันอาจจะดีกับคนอื่น ๆ มากกว่าก็ได้


ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จสูงถึงฆ่าตัวตาย?

จากบทความ ‘The Fallacy of Happiness: A Psychological Investigation of Suicide among Successful People’ ได้ระบุเหตุผลที่ทำให้คนที่ประสบความสำเร็จสูงฆ่าตัวตาย ดังนี้

  • รู้สึกว่าตัวเองถูกกดดันคาดหวังให้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ เช่น เป็นดาราต้องสวย-เรียบร้อย-ฉลาด

  • รู้สึกแปลกแยก ชีวิตมีแต่ความสัมพันธ์แบบผิวเผินกับคนอื่น นำไปสู่ความรู้สึกเหงาและหดหู่

  • ไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกล้มเหลวได้

  • รู้สึกว่างเปล่าไม่มั่นคง

  • ถูกล้อมกรอบจากค่านิยมทางสังคมวัฒนธรรม รู้สึกว่าตัวเองไปกับค่านิยมแบบนั้นไม่ได้ และไม่รู้ว่าตัวเองจะเชื่อใจใครได้บ้าง

  • งานน้อยลงหรือชีวิตตกต่ำลงในช่วงโควิด-19 ระบาด

  • มีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์

  • ไม่สามารถจัดความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ เช่น อยากไปเที่ยวพักกายพักใจ แต่ก็มีคนมาขอถ่ายรูปตลอด แทบไม่มีเวลาที่เป็นส่วนตัว

  • ความเครียดจากกระแส Social Media เช่น โดนข้อความคอมเม้นท์เกลียดชังจากชาวเน็ตจำนวนมาก


ป้องกันก่อนที่จะสูญเสีย

การฆ่าตัวตายไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตหนึ่งต้องเสียไป แต่ยังส่งผลกระทบอีกมากมาย โดยเฉพาะหากผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือประสบความสำเร็จสูง เพราะอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายเลียนแบบ (Copycat Suicide) ได้ โดยการฆ่าตัวตายเลียนแบบผู้มีชื่อเสียงชาวเกาหลีพบในทุกกลุ่มประชากร ส่วนการฆ่าตัวตายเลียนแบบผู้มีชื่อเสียงชาวไทยพบในกลุ่มประชากรเพศชายและกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น ทุกคนควรหันมาช่วยกันป้องกันการฆ่าตัวตายโดยไม่ต้องตั้งเงื่อนไขว่ากลุ่มเป้าหมายของคนที่เราจะโฟกัสเป็นใคร แต่ควรหันมาใส่ใจดูแลผู้คนทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือคนที่ประสบความสำเร็จสูงก็ตาม ด้วยการพยายามละเว้นข้อความคอมเม้นท์ที่แสดงถึงความเกลียดชัง การตัดสินตีตรา หรือกดดันให้ต้องเป็นไปตามที่สังคมกำหนดเท่านั้น หันมาเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องของความแตกต่างไม่ว่าจะความสนใจ รูปร่างหน้าตา สีผิว เชื้อชาติ เพศ มุมมองทางศาสนาการเมืองของคนอื่น นอกจากนั้น สังคมยังสามารถช่วยกันได้ด้วยการทำให้ ‘การปรึกษาจิตแพทย์/นักจิตวิทยา’ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครก็สามารถทำได้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์/นักจิตวิทยาเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งคนที่ไปปรึกษาจิตแพทย์/นักจิตวิทยาไม่ใช่คนบ้าหรือคนที่อ่อนแอแต่อย่างใด


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] The Fallacy of Happiness: A Psychological Investigation of Suicide among Successful People. Retrieved from. https://www.intechopen.com/chapters/77918

[3] การฆ่าตัวตายเลียนแบบในประเทศไทย. Retrieved from. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/CMJE/article/view/248399/169344



บทความแนะนำ

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG Mental Health

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page