Trauma ทำไมบาดแผลทางใจในวัยเด็กมีผลเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
คุณเคยมีความสงสัยหรือไม่ว่าทำไมถึงรู้สึกว่าตัวเองรู้สึกว่างเปล่าอยู่ตลอดเวลาเลย หรือโหยหาบางสิ่งบางอย่างโดยที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร หรือไม่สามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนยาวนานกับแฟนได้ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่ชวนให้คุณได้กลับไปลองทบทวนตัวเองดูว่า คุณเป็นคนหนึ่งที่มีบาดแผลทางใจ (Trauma) ในวัยเด็กหรือเปล่า
บาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood trauma) เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นในวัยเด็ก และบุคคลยังคงรู้สึกถึงมันได้อยู่ คล้าย ๆ กับมันเป็นเหตุการณ์ที่ฝังใจ ซึ่งบางครั้งก็สามารถจดจำเหตุการณ์ได้ แต่บางครั้งก็นึกไม่ออกหรือไม่รู้เลยว่ามันเคยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับตัวเอง
แต่มันยังรู้สึกได้อยู่บ่อย ๆ โดยบาดแผลทางใจในวัยเด็กนั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ใหญ่ ๆ หรือรุนแรงอย่างการถูกข่มขืน การถูกขังในห้องน้ำ แต่มันสามารถเกิดจากเหตุการณ์ใดก็ได้ที่สร้างความรู้สึกไม่ดีเป็นอย่างมาก เช่น
ถูกตีหรือถูกลงโทษแบบใช้ความรุนแรง ได้รับความรุนแรงทางด้านร่างกาย
ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ประสบภัยพิบัติ เช่น สึนามิ น้ำป่าไหลหลาก
สูญเสียผู้เป็นที่รัก เช่น พ่อแม่ คนในครอบครัวที่สนิทกัน
ถูกทอดทิ้ง
เป็นเด็กกำพร้า ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานสงเคราะห์
ทุก ๆ เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว สิ้นหวัง จัดการอะไรไม่ได้ เสียขวัญ
เหตุที่บาดแผลทางใจมักมีผลต่อชีวิตของบุคคลเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็เพราะว่า ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เราจะเรียนรู้รูปแบบและวิธีการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูหลัก เช่น พ่อ แม่ ปู่ย่าตายาย โดยบาดแผลทางใจในวัยเด็กสามารถส่งผลกับบุคคลได้หลายอย่าง เช่น
รูปแบบความผูกพันทางอารมณ์ (Attachment Styles) ซึ่งมีด้วยกัน 4 รูปแบบคือ
- แบบมั่นคง (Secure) เด็กที่เติบโตมากับผู้เลี้ยงดูหลักที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ให้การตอบสนองเวลาที่หิว ร้องไห้ ไม่สบายเนื้อตัว ได้อย่างเหมาะสม จะเติบโตขึ้นพร้อมกับความรู้สึกมั่นคง มั่นใจ เชื่อใจคนอื่นได้ และเชื่อว่าตนเองได้รับความรักจากคนอื่นอย่างไม่ลังเลสงสัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กมักจะไม่เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีรูปแบบความผูกพันทางอารมณ์แบบมั่นคง
- แบบกังวลหรือหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกกังวล (Anxious or anxious-preoccupied) เด็กที่โตมากับผู้เลี้ยงดูหลักที่คาดเดาได้ยาก เอาแน่เอานอนไม่ได้ มักจะเติบโตมากับความรู้สึกกลัวการถูกทอดทิ้ง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีแนวโน้มที่กลายเป็นคนที่กังวลว่าตัวเองจะถูกทอดทิ้ง หรือเมื่อมีแฟนก็จะหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกกังวลว่าแฟนจะรักหรือเปล่า จะทิ้งไปไหม จึงต้องคอยถามหรือให้แฟนพิสูจน์ยืนยันความรักอยู่บ่อย ๆ และหากแฟนไม่ได้ให้การยืนยันนั้นก็จะรู้สึกแฟนใส่ใจไม่มากพอ
- แบบปฏิเสธหลีกเลี่ยง (Dismissive-avoidant) คนที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะห่างเหิน เย็นชา ไม่ชอบที่จะสนิทแนบชิดกับคนอื่น ซึ่งแม้คนอื่นจะรู้สึกว่าการกระทำแบบนี้ยังไม่แนบชิดเท่าไหร่เลย แต่สำหรับพวกเขาแล้ว จะรู้สึกว่ามันแนบชิดเกินไปแล้ว นอกจากนั้น พวกเขายังไม่ชอบพึ่งพาใคร ไม่เชื่อว่าความสุขทุกข์ของตัวเองขึ้นอยู่กับคนอื่น โดยการที่พวกเขาเป็นแบบนี้มีแนวโน้มว่าพวกเขามักจะเติบโตมากับประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กที่เจ็บปวดผิดหวังในความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูหลัก ทำให้สูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจและเรียนรู้ว่าเวลาคบกับใครจะต้องมีระยะห่างเสมอ
- แบบหวาดกลัวหลีกเลี่ยง (Fearful-avoidant) เด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่นปลอดภัย สามารถที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกังวลว่าตนเองจะถูกทอดทิ้ง แต่จะแตกต่างจากแบบกังวลตรงที่เมื่อเกิดความรู้สึกกลัวจะถูกทอดทิ้งขึ้นมา ก็จะใช้การหลีกหนีหรือไม่ยอมแสดงออกให้เห็นว่าตนเองรู้สึกยังไง รวมถึงไม่ยอมเชื่อว่าจะมีใครมารักตนเองอย่างแท้จริง
ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ
คนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กมักจะรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่นยาก มีความระแวงสงสัย เช่น ระแวงว่าคนอื่นจะมาคบตนเพื่อผลประโยชน์และไม่ได้รักจริง
สไตล์การสื่อสาร
คนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กมักจะมีสไตล์การสื่อสารที่มีแนวโน้มจะทำให้มีปัญหากับคนอื่น ได้แก่
- แบบยอมตาม (passive) พยายามแสดงออกแบบคล้อยตามคนอื่น ไม่สื่อสารความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกไป เลือกที่จะเก็บกดความรู้สึกตัวเองเอาไว้ไม่ยอมบอกตรง ๆ และมักจะชอบพูดว่า “ขอโทษ” บ่อย ๆ แม้ในเรื่องที่ตัวเองไม่ผิดก็ตาม
- แบบก้าวร้าวอ้อม ๆ (passive-aggressive) มีความก้าวร้าวในรูปแบบอ้อม ๆ เช่น ชอบใช้คำพูดสุภาพแต่เชือดเฉือนหรือเหน็บแนมคนฟัง
- แบบก้าวร้าว (aggressive) ตรงข้ามกับการก้าวร้าวแบบอ้อม ๆ เช่น โกรธแล้วถีบประตู ทำร้ายร่างกายคนอื่น พูดจาหยาบคายตะคอกตะโกน
การทำให้ตัวเองกลับไปเผชิญกับบาดแผลทางใจซ้ำอีกครั้ง (Trauma reenactment)
ในบางกรณี คนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กก็มักจะพาตัวเองให้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกแบบเดียวกับตอนที่เป็นเด็กซ้ำ ๆ อีกครั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการทางใจที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น ในวัยเด็กเติบโตมากับพ่อที่ติดเหล้าและชอบพูดจาทำร้ายจิตใจลูกและภรรยา ซึ่งตนเองก็ไม่ชอบที่จะรู้สึกแย่แบบนั้น แต่ก็เลือกแต่งงานกับผู้ชายที่ติดเหล้าแต่ชอบพูดจาทำร้ายจิตใจ จึงเป็นการกลับไปสู่วงจรของบาดแผลทางใจอีกครั้งหนึ่ง
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence (EQ))
เด็กที่ต้องพบเจอกับประสบการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจ อาจจะมีความยากในการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ ทำให้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์มีน้อยหรือบกพร่องไป เช่น การตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไร ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ความสามารถในการเลือกวิธีแสดงออกเมื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึก
ปัญหาสุขภาพจิต (Mental health conditions)
มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างบาดแผลทางใจและปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โดย ErikaKuzminskaite และคณะ ได้ทำการค้นคว้างานวิจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวกับบาดแผลทางใจในวัยเด็ก ตั้งแต่ปี 2009 – 2020 จำนวน 37 รายการ
พบว่า บาดแผลทางใจในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับการเกิดสภาวะความผิดปกติทางด้านจิตใจ, ศักยภาพภายในที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานทางจิตใจ และกระบวนการทำงานของร่างกาย (เนื่องจากร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัวเกือบตลอดเวลา ทำให้ Cortisol หลั่งมากขึ้น)
ซึ่งคนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กจะมีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนที่ไม่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก นอกจากนั้น บาดแผลทางใจในวัยเด็กมีผลทำให้บุคคลเกิดการปรับตัวที่ผิดปกติ เช่น มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด หรือมี lifestyle ที่ไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบาดแผลทางใจในวัยเด็กจะมีผลเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ที่เคยเจอประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กจะต้องกลายเป็นบุคคลที่มีปัญหาเสมอไป เพราะมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่ามีเด็กที่เติบโตมากับประสบการณ์เลวร้าย เช่น พ่อแม่มีอาการทางจิต ประสบภัยสึนามิ แต่ก็ไม่มีปัญหาด้านสภาพจิตใจในระยะยาว
นอกจากนั้น แม้ว่าบาดแผลทางใจในวัยเด็กจะเป็นเหมือน “แผลเป็น” ที่อยู่กับบุคคลไปยาวนาน หรือบางครั้งถ้ามีอะไรไปสะกิดมันก็ยังรู้สึกเจ็บอยู่ แต่ก็สามารถบรรเทาได้ด้วยการไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญในด้านการทำจิตบำบัด เช่น CBT
รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่เป็นผลจากบาดแผลทางใจในวัยเด็ก เช่น อาการตื่นตระหนก วิตกกังวล ฯลฯ ก็สามารถใช้ยาหรือจิตบำบัดช่วยให้อาการทุเลาลงได้ และในหลายรายก็พบว่าสามารถรักษาให้หายจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพและมีความสุขได้
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] How Childhood Trauma May Affect Adult Relationships. Retrieved from. https://psychcentral.com/blog/how-childhood-trauma-affects-adult-relationships#trauma-resolution
[2] About Child Trauma. Retrieved from. https://www.nctsn.org/what-is-child-trauma/about-child-trauma
[3] จิตบำบัด: ทฤษฎีและเทคนิค เขียนโดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ทินกร วงศ์ปการันย์
[4] Childhood Trauma in Adult Depressive and Anxiety Disorders: An Integrated Review on Psychological and Biological Mechanisms in the NESDA Cohort. Retrieved from. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0165032721000719
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] แม่จ๋า อย่าตีหนู ! 7 เทคนิคจิตวิทยาลดความเครียดในการเลี้ยงลูก. https://www.istrong.co/single-post/psychological-techniques-to-reduce-stress-in-parenting
[2] อกหักซ้ำ ๆ อาจตอกย้ำว่าคุณรักตัวเองยังไม่พอ https://www.facebook.com/istrong.co/photos/a.1712371779045491/3207008499581804/
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ istrong
Comments