top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ทำไมบางคนถึงไม่เดินออกมาให้มันจบ ๆ



เคยได้ยินคำกล่าวว่า “การมีแฟนก็เหมือนซื้อหวย” บางคนโชคดี บางคนโชคร้าย บางความโชคร้ายมันก็ร้ายไปถึงขั้นเจอกับความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่คนนอกมักเกิดความสงสัยว่า “ทำไมไม่เดินออกมาให้มันจบ ๆ จะไปทนอยู่ทำไม” แต่เชื่อหรือไม่ว่า..ตั๋วเดินทางเพื่อออกจากความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรงนั้น บางครั้งต้องจ่ายด้วยชีวิต 

จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่าในปี ค.ศ.2023 มี 1 ใน 3 ของผู้หญิงเคยถูกคนรักใช้ความรุนแรงอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยข้อมูลที่น่าตกใจคือมีผู้คนจำนวน 30% ที่มองว่าการที่สามีทำร้ายภรรยาเป็นเรื่องปกติทั่วไปซึ่งมักพบในสังคมที่มีค่านิยมที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิง 


ทั้งนี้ ก่อนที่จะเล่าว่าทำไมบางคนถึงไม่ตัดสินใจจบความสัมพันธ์แม้จะรู้แล้วว่าคู่รักเป็นคนรุนแรง ผู้เขียนขอหยิบยกข้อมูลจาก National Domestic Violence Hotline ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมบางคนถึงใช้ความรุนแรงกับคนรัก ดังนี้

  • ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะรักษาอำนาจและการควบคุมเหนือคนรัก โดยคนที่กระทำความรุนแรงต่อคนรักจะมีความเชื่อว่าตัวเองมีสิทธิที่จะควบคุมคนรักได้ คนรักที่มีลักษณะแบบนี้จึงมักทำตัวเหมือนเป็นเจ้าชีวิตรวมทั้งใช้กลอุบายเพื่อให้ตัวเองสามารถควบคุมบงการคนรักได้ก็คือการทำให้คนรักรู้สึกด้อยค่าไม่คู่ควรที่จะได้รับการเคารพให้เกียรติ

  • การกระทำความรุนแรงต่อคนรักที่มาจากการเรียนรู้ทางพฤติกรรม เช่น เคยเห็นคนในครอบครัวกระทำความรุนแรงต่อคนรัก เรียนรู้แบบซึมซับจากการคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมรุนแรง รวมไปถึงการเติบโตในสังคมที่มีค่านิยมหรือโครงสร้างทางสังคมแบบผู้หญิงผู้ชายไม่เท่าเทียมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เคยเห็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงต่อคนรักแล้วจะทำตาม เพราะก็พบว่ามีหลายคนที่เลือกไม่ทำตามแต่เลือกที่จะฮีลตัวเองโดยไม่ใช้วิธีทำร้ายคนอื่นและหยุดวงจรความรุนแรงลง การเลียนแบบจึงอาจไม่ใช่สาเหตุเสมอไป ในขณะที่ก็พบว่าปัจจัยภายนอกอย่างการติดสุราและสารเสพติดนั้นมีผลต่อพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง


กลับมาสู่ประเด็นว่า ทำไมบางคนถึงไม่เดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่ใช้ความแรนแรง? คำตอบคือ เพราะมันไม่ได้ง่ายเสมอไป อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าความรุนแรงในความสัมพันธ์มาจากความต้องการที่จะมีอำนาจและการควบคุมเหนือคนรัก การขอจบความสัมพันธ์กับคนรักที่มีลักษณะแบบนี้จึงมักนำไปสู่อันตรายซึ่งบางครั้งก็เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยผู้กระทำมักจะเริ่มต้นจากการข่มขู่ก่อน และในจุดที่ความรุนแรงมักจะเพิ่มสูงขึ้นก็มักจะเป็นจุดที่อีกฝ่ายตัดสินใจแน่ชัดแล้วว่าต้องการเลิกราจบความสัมพันธ์ ซึ่งโดยสรุปแล้ว ปัจจัยที่ทำให้บางคนเลือกที่จะทนอยู่กับคนรักที่ใช้ความรุนแรงมีดังนี้

  • ความกลัวว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบหรือได้รับอันตรายหากบอกเลิก

  • มองว่าการใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ (normalized abuse) ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคนที่คุ้นเคยกับภาพการใช้ความรุนแรงกับคนรัก ในขณะที่ไม่เคยมีภาพของความสัมพันธ์แบบ “healthy” ให้เห็นเป็นตัวอย่างจึงคิดว่าใคร ๆ ก็ทำแบบนี้นทั้งนั้น

  • รู้สึกละอายใจเพราะถูกคนรักทำให้เชื่อว่า สมควรโดนแล้ว ผู้กระทำหลายคนจะใช้เทคนิคทำให้อีกฝ่ายยินยอมที่จะถูกทำร้ายด้วยการตำหนิกล่าวโทษให้อีกฝ่ายเชื่อว่าตนเองคือฝ่ายที่ทำความผิดและการที่ตนเองถูกทำร้ายก็คือการถูกลงโทษที่สมควรแล้ว 

  • ถูกข่มขู่ว่าถ้าเลิกกันจะต้องเจอกับเรื่องที่ไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น คนที่เป็น LGBTQ+ ที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะก็อาจถูกข่มขู่ว่าถ้าเลิกกันจะบอกให้ทุกคนรู้หมดเลย หรือบางคนก็ถูกข่มขู่โดยการทำร้ายร่างกายและบอกว่าถ้าเลิกกันจะโดนหนักยิ่งกว่านี้

  • ผู้ถูกกระทำมีภาวะ Low Self-esteem รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าและต่ำต้อยเกินกว่าที่จะได้รับสิ่งดี ๆ รวมไปถึงความช่วยเหลือ

  • ไม่มีแหล่งความช่วยเหลือจึงไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง ในขณะที่ทรัพยากรเดียวที่มีก็คือคนรักที่ชอบใช้ความรุนแรง ซึ่งสาเหตุนี้พบในกลุ่มผู้ที่มีความพิการด้วยเช่นกัน

  • มีสถานะเป็นผู้อพยพ ทำให้กลัวว่าถ้าเลิกกันไปก็จะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาซึ่งมีผลกระทบหลายอย่าง (ปัจจัยนี้พบได้บ่อยในผู้ที่สมรสกับชาวต่างชาติ ผู้เขียนพบว่ามีคนไทยในอเมริกาหลายคนที่พยายามอดทนอยู่กับการถูกทำร้ายจากคู่สมรสเพราะไม่ต้องการกลับประเทศไทย)

  • อดทนอยู่เพราะลูก คิดว่าถ้าตนเองหนีไปก็จะทำให้ลูกมีครอบครัวที่แตกแยกไม่สมบูรณ์

  • เพราะความรัก หลายคนมีความสัมพันธ์ที่เหมือนเป็นวงจรคือหลังจากถูกทำร้ายคนรักก็กลายเป็นคนที่ดีมาก มาขอโทษหรือแสดงความรักและขอโอกาส ชวนให้นึกถึงวันแรก ๆ ที่รักกันซึ่ง abuser มักจะเป็นคนเจ้าเสน่ห์หรือเอาใจเก่งโดยเฉพาะช่วงข้าวใหม่ปลามัน ทำให้เกิดความหวัง(ลม ๆ แล้ง ๆ)ว่าคนรักจะเปลี่ยนแปลงได้ในสักวัน 


ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงในความสัมพันธ์ แต่ก็อยากย้ำเตือนกับทุกคนว่าบนโลกนี้ไม่มีใครที่ด้อยค่าถึงขั้นสมควรกับการถูกทำร้าย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาความรักเพราะมักสงสัยในคุณค่าของตนเองว่าคู่ควรกับความรักดี ๆ หรือไม่ การพบนักจิตบำบัดอาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการเริ่มต้นที่จะมีความรักที่ดีหรืออย่างน้อย ๆ คุณก็รักตัวเองเป็นมากขึ้น 


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

Keyword: ความรุนแรง, ความสัมพันธ์


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

8 วิธี Move on จากความสัมพันธ์เป็นพิษ ‘อกหักดีกว่าทนกับความรักแย่ ๆ’ https://www.istrong.co/single-post/8ways-to-moveon-from-an-extraordinary-relationship


อ้างอิง:

[2] Why People Abuse, Abuse is never okay Learn why people abuse. Retrieved from https://www.thehotline.org/identify-abuse/why-do-people-abuse/

[3] Why People Stay, It's not as easy as simply walking away. Retrieved from https://www.thehotline.org/support-others/why-people-stay-in-an-abusive-relationship/


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page