top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

"โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล" คืออะไร? และอาการแบบไหนที่เข้าข่าย


ในช่วงปลายฝน ต้นหนาว ที่ท้องฟ้าครึ้ม อากาศเย็นชวนเหงาเช่นนี้ ก็สามารถทำให้หลาย ๆ คนกลายเป็น "โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล" ได้เลยค่ะ โดยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Disorder หรือมีเล่นที่รู้จักกันดี ว่า SAD ซึ่งเป็นการเจตนาให้ไปพ้องกับคำว่า "เศร้า" ในภาษาอังกฤษนั่นเอง


สำหรับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้อธิบายไว้ว่า เป็นภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ส่วนมากก็คือจากฤดูร้อนมาฤดูฝน หรือจากฤดูฝนไปฤดูหนาว โดยผู้ป่วยภาวะนี้จะมีอาการของโรคซึมเศร้าในช่วงฤดูกาลเดิมของทุกปี เช่น ซึมเศร้าทุกฤดูฝน หรือซึมเศร้าทุกฤดูหนาว เป็นต้น และอาการมักจะดีขึ้นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งทำให้เกิดหลากหลายคำถามเกี่ยวกับ "โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล" ขึ้นมา ซึ่งวันนี้นักจิตวิทยามีคำตอบมาฝากทุกคนกันค่ะ


Q : "โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล" เกิดมาจากอะไร? เพราะเหตุใดจึงไม่เกิดขึ้นในฤดูร้อน?

A : ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้อธิบายถึงสาเหตุของ "โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล" ไว้ว่า เนื่องจากช่วงเวลากลางวัน หรือระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ในแต่ละวันอาจส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะตื่น จะนอน จะทำกิจกรรมต่าง แต่เมื่อฤดูกาลทำให้ระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์น้อยลงในฤดูฝน หรือช่วงเวลากลางวันสั้นลงในฤดูหนาว ก็สามารถทำให้สมองมีการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดผิดปกติไป จนทำให้เกิด "โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล" ดังนี้


1) การหลั่งสารเซโรโทนิน (Serotonin) ลดลง ทำให้สมองของเรามีประสิทธิภาพในการควบคุมอารมณ์ได้น้อยลงตามไปด้วย จึงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมาได้ค่ะ


2) การหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) สูงขึ้น ทำให้เรารู้สึกง่วงนอนมากกว่าปกติ ง่วงทั้งวัน บางคน ก็นอนทั้งวันจนเสียงานเสียการ และยังทำให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ช้าลง เซื่องซึม จนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้เช่นกันค่ะ


Q : อาการเป็นอย่างไร? รุนแรงเท่าโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder ; MDD) หรือไม่?

A : ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำข้อสังเกตเกี่ยวกับ "โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล" ไว้ 8 ข้อ ดังนี้ค่ะ


1) รู้สึกหมดหวังในชีวิต คิดว่าตนเองไร้ค่า หรือมีอารมณ์ซึมเศร้าต่อเนื่องเป็นเวลานานจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ


2) เบื่อทุกอย่างในชีวิต เบื่อแม้กระทั่งกิจกรรมที่เคยชอบ เช่น ซีรี่ย์เรื่องโปรด อาหารจานเด็ด เป็นต้น


3) เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ความกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก


4) ง่วงตลอดเวลา หรือมีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น


5) มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป เบื่ออาหาร รับประทานอาหารน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น


6) วอกแวกง่าย สมาธิสั้น ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน


7) ไม่อยากเข้าสังคม เก็บตัวอยู่ตามลำพัง ไม่อยากทำกิจกรรมทางสังคม แม้ว่าจะเป็นสังคมออนไลน์ก็ตาม


8) มีความคิดทำร้ายตนเอง คิดฆ่าตัวตาย


นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยายังได้ให้ข้อห่วงใยเกี่ยวกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลมากกว่าผู้อื่นให้ดูแลตนเองเป็นพิเศษ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  1. เพศหญิง เนื่องจากโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

  2. ผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งเป็นวัยที่พบโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลได้มากกว่าช่วงวัยอื่น

  3. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์

  4. ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

Q : ถ้าอาการหายเองได้เมื่อถึงฤดูร้อน ยังจำเป็นต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อทำการรักษาอยู่หรือไม่?


A : จำเป็นค่ะ เพราะว่าผู้ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล มีอาการหรือความรุนรงคล้ายกับโรคซึมเศร้าอย่างมาก และสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ในกรณีที่มีความคิดทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตาย อีกทั้งหากปล่อยให้หายเอง โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล อาจพัฒนาตนเองไปเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งรักษายากมากขึ้น เรื้อรังมากขึ้น และอันตรายมากขึ้นด้วยค่ะ โดยการรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล มีวิธีที่นิยมหลายวิธี ดังนี้ค่ะ


1. การักษาโดยการใช้ยา

ในการรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลโดยการใช้ยานั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น Fluoxetine หรือ Bupropion เพื่อรักษาอาการของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ


2. การรักษาโดยจิตบำบัด

ในการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดนั้น วิธีที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยานิยมมากที่สุด ก็คือ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) หรือ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ซึ่งเป็นการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับภาวะซึมเศร้าอย่างเหมาะสม โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจะเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตระหนักถึงความคิดและพฤติกรรมที่เป็นปัญหาด้วยตนเองได้ และร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาด้วยทางออกที่ดีที่สุดค่ะ


3. การรักษาโดยการฉายแสง

เนื่องจากสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล คือ ระยะเวลาของแสงอาทิตย์ที่สั้นลง ส่งผลให้สารเคมีในสมองหลั่งออกมาผิดปกติ ดังนั้น จึงมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงที่จำลองมาจากแสงอาทิตย์วันละประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน เพื่อปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีนี้ก็มีผลข้างเคียงอยู่พอสมควรเลยค่ะ ทั้งความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง หรือการหลั่งสารเคมีในสมองตัวอื่นผิดปกติแทน จึงควรศึกษาให้ดีก่อนทำการรักษาด้วยการฉายแสงนะคะ


4. การรักษาโดยการปรับพฤติกรรม

เป็นการรักษาโดยการนำเทคนิคทางจิตวิทยามาประยุกต์ใช่ในการการปรับพฤติกรรม (Behavior Modification) ของคนเราให้เข้าที่เข้าทางมากยิ่งขึ้น โดยสังเกตก่อนค่ะว่าพฤติกรรมใดที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เช่น นอนไม่เป็นเวลา รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา มีความคิด ที่หมกหมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราก็นำมาวิเคราะห์ และปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงนั้น เช่น ปรับชีวิตให้เดินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา รับประทานเป็นเวลา ทำกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น เป็นต้นค่ะ

ถึงแม้ว่าโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าโรคซึมเศร้าก็ตาม แต่อานุภาพการทำร้ายจิตใจและร่างกายก็ร้ายกาจเช่นกันค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วจึงขอเสนอความรู้ข้างต้นเผื่อเป็นประโยชน์ในการสังเกตตนเองและคนที่รักดูนะคะ พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

3. American Psychiatric Association .2013. Diagnostic and statistical manual of mental disorder : DSM-V. (5th ed.). Washington, DC : APA.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page