top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ความเหงาคืออะไรและทำไมเราต้องรู้สึกเหงา? นักจิตวิทยามีคำตอบ


ความเหงา (loneliness) ถือเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับทุกคนได้ กล่าวคือ ไม่มีมนุษย์คนไหนบนโลกใบนี้ที่ไม่เคยรู้สึกเหงา โดยร้อยละ 80 ของคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และร้อยละ 40 ของคนที่เป็นผู้ใหญ่ไปจนถึงอายุ 65 ปี เคยมีความรู้สึกเหงา ดังนั้น ความเหงาจึงเป็นประสบการณ์ทั่ว ๆ ไปที่ใคร ๆ ก็เป็นกัน เหตุที่มนุษย์มีความรู้สึกเหงา ก็เป็นไปได้จากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยทางสังคม เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม (social species) การมีสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมั่นคงปลอดภัย เมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความอยู่รอดและได้มีโอกาสเติบโตงอกงามมนุษย์จึงไม่เหงา


ความเหงา เป็นอารมณ์หนึ่งที่สร้างความทุกข์รบกวนใจคนเรา โดยเป็นความรู้สึกว่าตัวเองนั้นแยกออกจากสังคม (Social isolation) หรือความต้องการทางสังคมไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งความต้องการทางสังคมโดยทั่วไปของคนเรา ได้แก่ ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือกลุ่มคนสักกลุ่มหนึ่ง ความต้องการที่จะได้รับความรักและผูกพัน ความต้องการเป็นที่ยอมรับ ความต้องการที่จะได้รับคำชื่นชมจากผู้อื่น เป็นต้น


แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่าความเหงาจะไม่เกิดหากมีผู้คนมากมายรายล้อม เพราะความเหงาไม่ใช่แค่การที่ไม่ต้องอยู่คนเดียว (Loneliness is not simply being alone.) ลองนึกถึงประสบการณ์ของตัวเองดูก็ได้ค่ะ เคยไหมคะ..ที่คุณรู้สึกเหงาทั้งที่อยู่ในงานเลี้ยงหรืออยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่กันเป็นจำนวนมาก แต่ในบางครั้ง..คุณกลับรู้สึกอุ่นใจแม้มีเพื่อนเพียงคนเดียวนั่งอยู่ข้าง ๆ คุณ หรือบางคนกลับรู้สึกดีที่ได้อยู่ตามลำพังแต่มีแอปพลิเคชันทางสังคมอยู่เป็นเพื่อน อย่างสมัยนี้ก็มี clubhouse ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันทางสังคมตัวใหม่ที่ให้คุณสามารถเข้าไปร่วมฟังหรือร่วมสนทนาได้ โดยที่คุณไม่ต้องเดินออกจากบ้านเพื่อไปเข้าร่วมกลุ่มคนตัวเป็น ๆ นั่นอาจหมายความได้ว่า ความเหงาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้คนแวดล้อม แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างหาก


ถ้าจะถามว่าความเหงานั้นมาจากไหน Ami Rokach นักจิตวิทยาคลินิก และเป็นอาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาแห่ง York University ประเทศแคนาดา ได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่าปัจจัยทำนายการเกิดขึ้นของความรู้สึกเหงา ได้แก่ การมีปัญหาด้านสัมพันธภาพ ประสบการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด (traumatic experiences) และตัวแปรด้านการปรับตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งความเหงามักจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่รับรู้ถึงความใกล้ชิดผูกพันกับบุคคลอื่น หรือไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับคนอื่นอย่างไร โดยในงานวิจัยของ Rokach ยังกล่าวอีกว่า “คนที่แต่งงานแล้วมักจะมีความรู้สึกเหงาน้อยกว่าคนที่ไม่แต่งงาน แต่นั่นไม่รวมถึงการมีชีวิตคู่ที่ไม่ราบรื่น โดยพบว่าคู่แต่งงานบางคู่มีความรู้สึกเหงา เพราะขาดความรู้สึกใกล้ชิดผูกพัน”


ซึ่งเมื่อความเหงาเกิดขึ้น คนเราต้องมีการปรับตัวเพื่อจัดการกับความรู้สึกเหงา แต่หากคนเราไม่สามารถปรับตัวหรืออยู่กับความรู้สึกเหงาได้แล้ว ก็มักจะทำให้เป็นคนที่เปราะบางต่อความเครียด เครียดง่าย รู้สึกไม่ค่อยไว้วางใจคนอื่น มีพฤติกรรมแยกตัว มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น หรือมีอาการเจ็บป่วยไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และแม้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะทำให้ตัวเองไม่เหงาด้วยการหาอะไรทำ อย่างเช่น ดูรายการโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต แต่มันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงให้ตัวเองไม่รู้สึกเหงาได้อย่างสมบูรณ์


อย่างไรก็ตาม คนเราสามารถหาทางออกเพิ่มเติมเพื่อปรับตัวต่อความเหงาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจตัวเองอย่างการดูซีรีส์หรือเล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ลืมเหงา ทางออกเหล่านั้น ได้แก่


1. ไม่ตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอก (Keep in contact with outside world)

บางครั้ง เราอาจมีความรู้สึกว่าโลกไม่ต้อนรับเรา แต่ในบางมุมที่เราอาจมองข้ามไปก็คือ เราเองหรือไม่ที่ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากความรักมาหลายครั้ง ก็เลยเลือกที่จะตั้งกำแพงขึ้นมา ทั้งที่ลึก ๆ ก็รู้สึกเหงา แต่ก็ไม่ยอมเปิดใจแม้เพียงจะศึกษาดูใจแบบเพื่อนกันไปก่อน


2. ฝึกการปรับความคิดและพฤติกรรม (The cognitive-behavioral approach)

การปรับความคิดและพฤติกรรม เป็นชื่อของแนวคิดการบำบัดแบบหนึ่งที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT เนื่องจากในบางครั้งกลไกการปรับตัวของเรา อาจจะพาให้เราใช้ความคิดอะไรที่ไม่ตรงกับความจริงมาเป็นเวลานานจนเคยชินกับการมีความคิดบิดเบี้ยวนั้น ซึ่งบางทีเราเองก็เหงาจากความคิดของเราได้เหมือนกันนะคะ อย่างเช่น เราคิดว่าไม่มีใครรักเรา เราดีไม่พอที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน เมื่อเราคิดในทางแย่ ๆ อารมณ์เราก็แย่ตาม แถมยังส่งผลให้เราทำพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัวสู้กับปัญหาอีกด้วย


3. การสนับสนุนจากบุคคลในครอบครัว (Family support)

มนุษย์ทุกคนต้องการความรักจากบุคคลสำคัญของชีวิต (significant person) อย่างพ่อแม่ และบางครั้งความเหงามันก็พัฒนามาจากการที่เรา “disconnected” กับพ่อแม่ของเราเอง โลกนี้มันจึงดูเคว้งคว้างอ้างว้างเหลือเกิน แต่หากบ้านไม่ใช่ safe zone จริง ๆ ก็อาจจะข้ามข้อนี้ไป แล้วเลือกไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาแทนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายค่ะ


4. ทำให้ตัวเองมีประสบการณ์ในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Exposure to empathy)

บางครั้งคนที่เหงามักจะบอกว่าตัวเองรู้สึกว่าขาดคนเข้าใจ อันที่จริงแล้วหากเราหมกมุ่นกับความรู้สึกต้องการให้คนอื่นเข้าใจ มันก็อาจจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง การพาตัวเองออกจากการหมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับตัวเองแล้วไปใส่ใจคนอื่นบ้าง บางทีมันก็ช่วยได้นะคะ


5. ปรึกษาเพื่อน (Peer counseling) เข้าร่วมกลุ่มการปรึกษา (Attending support groups) ใช้บริการของผู้ให้บริการด้านสุขภาวะ (Access to health care providers)

การปรึกษาคนอื่น นอกจากจะช่วยให้เราได้รับการสนับสนุนแนวทางในการแก้ปัญหาแล้ว พอเราได้พูดระบายกับใครสักคนที่รับฟังเราจริง ๆ มันก็จะช่วยให้เรากลับมาอยู่ในสภาวะ “connected” กับบุคคลอื่นอีกครั้ง และเมื่อเราได้เชื่อมโยงกับคนอื่นอย่างน้อยหนึ่งคน ความรู้สึกเหงามันก็จะเบาบางลงไปได้ค่ะ


8. ใช้วิธีการทางศาสนาหรือความเชื่อศรัทธาของเราเข้าช่วย (Religion and Spirituality)

ศาสนาและความเชื่อ เป็นที่รู้จักกันในฐานะ “สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ” คนสมัยก่อนที่มีความเชื่อหรือศรัทธาส่วนตัวจึงมักไม่ค่อยรู้สึกเหงา ยกตัวอย่างจากหนังเรื่อง The Two Popes ก็ได้ค่ะ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ มีวิถีชีวิตที่เสวยตามลำพัง ส่วนใหญ่พระองค์ก็ทรงงานตามลำพัง แต่พระองค์ตรัสว่าไม่เคยรู้สึกเหงาเพราะที่ผ่านมาพระองค์มีพระเจ้าคอยอยู่เคียงข้าง เป็นต้น



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ

ระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำ

อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG

 

อ้างอิง

Doman, LCH & Roux, A. (2010). The causes of loneliness and the factors that contribute toward it – A literature review. Tydskrif vir Geesteswetenskappe. 50. 216-228.


Hawkley, L. C., & Cacioppo, J. T. (2010). Loneliness matters: a theoretical and empirical review of consequences and mechanisms. Annals of behavioral medicine : a publication of the Society of Behavioral Medicine, 40(2), 218–227. https://doi.org/10.1007/s12160-010-9210-8

 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page