top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ทำไมคนเราถึงต้องนินทา! นักจิตวิทยาแนะนำ 5 วิธีรับมือการนินทา




“คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก” คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราทุกคนล้วนเป็นทั้งคนที่ถูกนินทาและเป็นคนที่ที่นินทาคนอื่น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนินทาจะเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างเป็นไปในทางลบ และในโลกนี้ก็คงจะไม่มีใครชอบที่จะถูกนินทา แต่ทำไมคนเราถึงต้องนินทา การนินทามันมีประโยชน์สาระอะไรต่อชีวิตมนุษย์อย่างนั้นหรือ?

หากพิจารณาจากลักษณะทางธรรมชาติของมนุษย์ การนินทาจัดว่าเป็นเครื่องมือการสื่อสารแบบหนึ่งที่ก็มีด้านที่เป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมจึงมักจะรู้สึกโหยหาความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ มนุษย์มีความรู้สึกเหงา ซึ่งการนินทาสามารถช่วยให้หายเหงาได้ รวมไปถึงมันยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้รู้สึกว่า “ฉันยัง connect กับคนอื่นอยู่” และในทางวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเราได้ยินการนินทาไม่ว่าจะถูกนินทาเองหรือนินทาบุคคลที่สาม สมองส่วน prefrontal cortex จะทำงานมากขึ้นและจะสามารถพัฒนาทักษะที่ซับซ้อนทางสังคมขึ้นมาได้ แต่ปัญหาคือการนินทาของมนุษย์ในบางครั้งมันก็มีลักษณะที่เกินไป จนมันกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะคนเรามักจะชอบแพร่ข่าวลือในทางลบมากกว่าจะพูดถึงเรื่องดี ๆ ของคนอื่น ซึ่งหากจะถามว่าคนแบบไหนที่ชอบนินทา คนแบบนั้นก็มักจะเป็นคนที่...

  • มีพฤติกรรมขี้ขลาด (Cowardly Behavior) เพราะคนจริงมักจะเลือกฟังข้อมูลจากต้นตอหรือคนที่เป็นเจ้าของเรื่องราวโดยตรง แต่คนที่ขี้ขลาดจะไม่กล้าเข้าไปถามตรง ๆ ก็เลยคิดว่า “ฉันฟังจากปากของคนอื่นก็ได้” หรือ “มันก็สนุกดีที่จะพูดต่อ ๆ กันไป”

  • รู้สึกไม่มั่นคง/ต้องการเสริมพลังให้ตัวเอง (Insecurity/Empowerment) คนขี้นินทาส่วนใหญ่ต้องการได้รับความสนใจ และมักจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญขึ้นมาเมื่อได้เป็นคนปล่อยข่าว ทำให้มีคนเข้ามาคุยด้วยมากขึ้น โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าการเป็นคนขี้นินทามันมีราคาที่ต้องจ่ายก็คือความน่าเชื่อถือลดลงและสุดท้ายก็จะไม่มีใครอยากอยู่ใกล้เพราะไม่อยากเป็นรายต่อไปที่จะถูกนินทา

  • มีพฤติกรรมชอบซาดิสม์ (Sadistic Personality) คนขี้นินทาอาจจะเป็นคนเดียวกับคนที่ชอบเห็นคนอื่นเจ็บปวด และรู้สึกดีเมื่อได้เห็นคนอื่นต้องเจอกับประสบการณ์เจ็บปวดทุกข์ใจ

  • มีความกังวลไม่มั่นใจ (Anxiety and Uncertainty) คนที่มีนิสัยขี้กังวลไม่มั่นใจสามารถกลายเป็นคนขี้นินทาได้ เพราะช่วงเวลาที่นินทาคนอื่นมันช่วยให้ลืมความกังวลของตัวเองไปได้ชั่วคราว

  • เป็นผู้หญิง (You’re Female) คุณผู้หญิงอาจจะรู้สึกไม่ค่อยดีที่ต้องมาเจอกับข้อความนี้ แต่จากข้อมูลของ Dr. Hallowell จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นพบว่า การนินทามักมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิงมากกว่า และก็มักจะพบว่าคนที่ชอบสร้างเรื่องขึ้นมานินทาส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนินทามันจะมีด้านดีอยู่บ้าง แต่ถ้าต้องอยู่กับเรื่องนินทาเยอะเกินไปก็อาจจะไม่ไหว คนเราจึงควรเรียนรู้วิธีการที่จะรับมือกับการนินทาเอาไว้บ้าง ได้แก่

1. ฝึกโฟกัสไปที่เรื่องดี ๆ

การอยู่ในวงนินทามาก ๆ บางครั้งก็ทำให้คนเราจิตตกได้ ดังนั้น พยายามฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่ไวกับเรื่องดี ๆ เช่น เมื่อมีคนมานินทาให้ฟัง ก็พยายามนึกถึงข้อเท็จจริงโดยเฉพาะในมุมดี ๆ ของคนที่ถูกนินทาเอาไว้ในใจ การนึกถึงเรื่องดี ๆ จะช่วยปรับมุมมองให้เป็นบวกมากขึ้น รวมถึงช่วยให้รูปแบบของการสื่อสารเป็นไปในทางบวกและมีสาระมากขึ้นด้วย

2. รับรู้ให้ได้ว่าการนินทามันส่งผลยังไงกับตัวเองบ้าง

การอยู่ในวงนินทามันย่อมจะมีผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง ลองถามตัวเองว่าเวลาที่ต้องเจอกับเรื่องนินทา ตัวเองมีความรู้สึกยังไง เป็นไปในทางตื่นเต้นที่ได้รู้เรื่องลับของคนอื่นหรือเป็นไปในทางที่รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ จะได้เข้าใจตัวเองว่ารู้สึกยังไงกันแน่เวลาที่อยู่ในการนินทา

3. ใช้วาทศิลป์เลี่ยงการนินทา

เมื่อรอบตัวเริ่มมีการนินทาเกิดขึ้นและคุณรับรู้ตัวเองได้ว่าอึดอัดไม่สบายใจ คุณอาจจะใช้การพูดเพื่อหลบฉากออกไปจากวงนินทา เช่น “ขอตัวก่อนนะ มีธุระที่ต้องทำ” การปลีกตัวออกไปจะช่วยให้คุณไม่ต้องได้ยินและไม่ต้องร่วมนินทาไปกับคนอื่น

4. บอกไปตรง ๆ

หากคุณไม่ชอบการนินทาจริง ๆ ก็อาจจะบอกไปตรง ๆ ได้เหมือนกันว่าคุณไม่อยากจะร่วมสนทนาในเรื่องนี้ เพราะคุณมีเรื่องอื่น ๆ ที่คุณสนใจมากกว่า และบอกคนอื่นไปว่าคุณจะเข้ามาร่วมสนทนาหากมันเป็นเรื่องที่คุณสนใจ

5. มองหาความต้องการของคนขี้นินทาและให้ความช่วยเหลือแก่เขา

“คนมีความสุขไม่สร้างปัญหา คนสร้างปัญหาไม่มีความสุข” บางทีคนที่ขี้นินทาหรือชอบวิจารณ์คนอื่นในทางลบ อาจจะมีความต้องการบางอย่างที่ไม่ได้รับการตอบสนอง คุณอาจจะใช้การเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามไถ่ความรู้สึกภายในของพวกเขาเพื่อดูว่าลึก ๆ แล้วพวกเขามีความต้องการอะไร และหากคุณพอที่จะช่วยได้ก็ช่วยไปเท่าที่คุณมีความสามารถ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

และเป็นนักเขียนของ istrong

 

อ้างอิง

[1] Rumor Has It: Why People Gossip and How You Can Cope. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/blog/human-kind/202103/rumor-has-it-why-people-gossip-and-how-you-can-cope

[2] The Science Behind Why People Gossip—And When It Can Be a Good Thing. Retrieved from. https://time.com/5680457/why-do-people-gossip/


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page