top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาเผย 4 สัญญาณเตือน! เสี่ยงฆ่าตัวตาย ในโลกโซเชียล


เรามักจะเห็นบ่อย ๆ เวลามีข่าวคนทำร้ายตนเองว่ามีการโพสต์ในโลกออนไลน์ในเชิงส่งสัญญาณบางอย่าง เช่น ลาก่อน คำสั่งเสีย ขอโทษคนที่รัก เป็นต้น ซึ่งการโพสต์เช่นนี้สำหรับคนที่ไม่รู้จักก็อาจกดไลก์ กดห่วงใย แล้วเลื่อนผ่าน และสำหรับคนใกล้ชิดบางคนอาจเห็นเป็นเรื่องขำ ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ผู้โพสต์ อาจกำลังขอความช่วยเหลือบางอย่างอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เราสูญเสียคนใกล้ชิด และสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงทำร้ายตนเองได้ทันเวลา บทความจิตวิทยานี้จึงขอแนะนำ “4 จุดสังเกตในโลกออนไลน์ของผู้เสี่ยงทำร้ายตัวเอง และวิธีช่วยเหลือ” กันค่ะ


1. โพสต์ข้อความที่ให้ความรู้สึกเศร้า


การโพสต์ในโลกออนไลน์ ว่า “เสียใจที่สุด” “ฉันผิดเอง” “ฉันไม่มีอะไรดี” การโพสต์เช่นนี้ อาจไม่ใช่เพื่อการระบายความรู้สึกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงในการทำร้ายตนเองอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้น หากพบเจอเพื่อนหรือคนรู้จักของเราโพสต์ในลักษณะเช่นนี้ ขอให้ลองสละเวลาไปพูดคุยกับคนนั้นดูเสียหน่อยนะคะ เวลาของเราที่ใช้พูดคุยกับเขาแค่ไม่กี่นาที อาจช่วยรักษาชีวิตของเขาทั้งชีวิตไว้ได้


2. โพสต์ข้อความสั่งเสีย


การโพสต์ข้อความสั่งเสียในลักษณะ “ลาก่อน” “ขอฝากแมวของฉันไว้ด้วยนะ” “ขอบคุณที่อดทนกันมา” การโพสต์ในลักษณะเช่นนี้พบมากในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งแสดงออกถึงความคิดที่จะทำร้ายตนเอง นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า หากพบเห็นผู้ได้โพสต์ในลักษณะเช่นนี้ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดนะคะ


3. โพสต์บ่นเกี่ยวกับความตาย


เช่น “อยากตาย” “เบื่อโลก” “ไม่อยากอยู่แล้ว” หรือโพสต์รูปอวัยวะบางส่วนเปื้อนเลือดที่น่าจะมาจากการทำร้ายตนเอง การโพสต์บ่นเกี่ยวกับความตายเช่นนี้อย่าคิดว่าเขาโพสต์เรียกกระแส หรือเรียกยอดไลค์ เพราะจริง ๆ เขาส่งสัญญาณเพื่อขอกำลังใจ และหาที่ปรึกษาชีวิตอยู่ เพียงแค่คุณมีเวลารับฟังสิ่งที่ทำให้เขาทุกข์ใจ ก็สามารถช่วยให้ความทุกข์ของเขาเบาบางลงได้มากเลยค่ะ


4. โพสต์ถึงความสิ้นหวังในชีวิต


การโพสต์ในเชิงเห็นคุณค่าตนเองน้อยกว่าที่เป็น เช่น “อย่างฉันก็คงทำได้เท่านี้” “ไม่มีอะไรดีเลย” “ฉันต้องทนทุกข์ไปอีกนานเท่าไร” การโพสต์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึก Low Self Esteem ของผู้โพสต์ และหากปล่อยไว้เช่นนั้นอาจทำให้เขากลายเป็นโรคเครียดเรื้องรัง และโรคซึมเศร้าได้ค่ะ



เมื่อคุณพบเจอโพสต์ที่เข้าข่าย 4 ลักษณะข้างต้น ควรให้ความช่วยเหลือผู้โพสต์โดยด่วนด้วย 5 วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำต่อไปนี้ค่ะ


1. ให้กำลังใจ


สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อพบโพสต์ที่ส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง ก็คือ การทักทายไปให้กำลังใจ และพูดคุย รับฟังปัญหา ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถช่วยให้เขาออกมาจากความทุกข์ในทันทีแต่การให้กำลังใจผ่านการพูดคุยก็ช่วยทำให้ผู้โพสต์มีความเข้มแข็งขึ้นมา และลดอัตราการทำร้ายตนเองลงได้ค่ะ


2. ติดต่อให้คำปรึกษา หรือแนะนำที่ปรึกษาให้แกเขา


หากคุณเข้าใจในปัญหาที่เขาเผชิญ หรือเคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกัน ก็สามารถแนะนำให้คำปรึกษาแกผู้โพสต์ได้เลยค่ะ แต่ถ้าต้องการช่วยแต่ไม่มั่นใจในทักษะการให้คำปรึกษาก็สามารถแนะนำบุคคล สถานที่ หรือช่องทางในการให้เขาขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ค่ะ ทั้งนี้ ไอสตรองของเราก็มีทั้งคอร์สฝึกทักษะการให้คำปรึกษา และบริการการให้คำปรึกษานะคะ


ดูรายละเอียดเพิ่มเติมคอร์สนักให้คำปรึกษา https://www.istrong.co/certificate-basic


3. ชักชวนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน


ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงทำร้ายตนเองสามารถทำร้ายตนเองได้สำเร็จ ก็คือ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ดังนั้น วิธีช่วยเหลือเขา ก็คือ การชวนออกมาทำกิจกรรมอื่นนอกบ้าน เช่น ทานข้าว ช๊อปปิ้ง เที่ยวต่างจังหวัด เพราะการทำให้เขาออกมาเจอโลกภายนอกบ้างจะทำให้เขารู้สึกสดชื่นมากขึ้น และลดความเสี่ยงในการทำร้ายตนเองได้มากด้วยค่ะ


4. บอกญาติ/คนสนิทให้ดูแลอย่างใกล้ชิด


ในกรณีที่เรารู้จักครอบครัวของผู้โพสต์ หรือรู้จักคนสนิทของผู้โพสต์ ก็ควรแจ้งให้ครอบครัว หรือคนสนิทดูแลผู้โพสต์อย่างใกล้ชิดนะคะ เพื่อป้องกันการทำร้ายตนเอง พาเขาไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา และหากตรวจพบว่าผู้โพสต์มีโรคทางจิตเวช ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ


5. แจ้งโรงพยาบาล นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพื่อให้ความช่วยเหลือ


สำหรับกรณีที่คุณรู้สึกได้ว่าผู้โพสต์มีความเสี่ยงทำร้ายตนเองสูง ควรแจ้งโรงพยาบาล นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการทำร้ายตนเอง หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ทำร้ายตนเองไปแล้วได้ทันค่ะ



หากคุณพบเห็นข้อความจากคนที่รู้จัก หรือไม่รู้จักก็ตามในเชิงที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง ตาม 4 ลักษณะที่ได้กล่าวไปแล้ว ขอให้ลองนำ 5 วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำ เพื่อให้ความช่วยเหลือเขาดูนะคะ การใช้เวลาทักทายใครบางคนแค่ไม่กี่นาที อาจเปลี่ยนชีวิตของเขาให้ดีขึ้นได้ค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. 2561. พ่อสอนให้...ให้ การให้คือ การปฐมพยาบาลทางใจ คุณก็ช่วยคนอื่นได้. นนทบุรี : กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 39 และ 41.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.

และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี

เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี

ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page