top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ชวนเช็คสัญญาณของชีวิตคู่ที่มักนำไปสู่จุดจบแบบรักร้าว


ผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีใครบนโลกนี้ที่เริ่มต้นชีวิตคู่โดยมีเป้าหมายที่อยากจะให้มันจบลงแบบรักร้าว แต่ถึงแม้ว่าทุกคนต่างต้องการให้ความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตเป็นไปอย่างยั่งยืนยาวนานมันก็ไม่มีทางที่จะการันตีได้เลยว่าความรักจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลยตลอดการมีชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึงจุดจบแบบรักร้าว หากคุณพบสัญญาณของชีวิตคู่ที่อาจจะเป็นสาเหตุของการเลิกราและแก้ไขมันได้ทันเวลาก็อาจจะช่วยให้ความสัมพันธ์ไปต่อไปได้ โดยสัญญาณของชีวิตคู่ที่มักนำไปสู่จุดจบแบบรักร้าว ดังนี้


1. มีวิธีการสื่อสารที่เป็นปัญหา โดยการสื่อสารที่มักนำไปสู่ปัญหาชีวิตคู่ ได้แก่

  • การวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากความไม่พอใจซึ่งมักจะมีการตำหนิปนอยู่ด้วยเสมอ เช่น “คุณก็เป็นอย่างนี้ตลอดเลย” “คุณไม่เคยที่ทำแบบนั้นให้ฉันเลย” 

  • การปกป้องหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเองแทนที่จะพูดว่า “ขอโทษ” แล้วยอมรับว่าตัวเองทำผิด

  • การพูดหรือแสดงท่าทางดูถูกในรูปแบบ

  • การใช้คำพูดแบบจิกกัดเสียดสีประชดประชัน

  • โจมตีด้วยตรรกะวิบัติของตนเอง (ad hominem) เพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกด้อยค่า

  • เรียกอีกฝ่ายหรือตั้งฉายาให้ด้วยคำที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอายหรือเสียศักดิ์ศรี

  • ใช้ภาษากายที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เช่น มองบน แสดงท่าทางแบบเยาะเย้ย 

  • การทำเหมือนว่าอีกฝ่ายไม่มีตัวตน เช่น ไม่ตอบสนองเวลาที่อีกฝ่ายคุยด้วย เดินหนีไปดื้อ ๆ ระหว่างกำลังคุยกัน เฉยเมยเย็นชา แกล้งทำเป็นยุ่งอยู่ตลอดเวลา


2. ขาดความใกล้ชิดผูกพันกัน: สัญญาณบ่งชี้ที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือการไม่มีเพศสัมพันธ์กันเลย อย่างไรก็ตาม การใกล้ชิดผูกพันกันไม่ได้หมายถึงเพศสัมพันธ์เสมอไป แต่ยังรวมไปถึงการมีอารมณ์ร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าทั้งสองคนยังเชื่อมโยงกันอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วความใกล้ชิดผูกพันกันก็อาจจะลดลงได้บ้างเพราะความเครียดจากการทำงานหรือการเลี้ยงลูก ความเจ็บป่วย อายุที่เพิ่มขึ้น แต่หากคู่ของคุณไม่ได้มีปัจจัยเหล่านั้นเกิดขึ้นแต่กลับรู้สึกว่าความใกล้ชิดผูกพันกันมันหายไปโดยไม่มีสาเหตุก็ถือว่าเป็น red flag ที่ต้องระวัง


3. ขาดความเห็นอกเห็นใจกัน/ความเคารพ/ความไว้ใจ: คู่รักไม่มีการขอโทษหรือสำนึกผิด ไม่พยายามที่จะเข้าใจอีกฝ่าย หรือไม่สนใจว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร


4. มีปัญหาที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เช่น

  • ปัญหาการเงิน เช่น มีการสร้างหนี้สินโดยไม่ปรึกษากันก่อน ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายจนกระทบกับสถานะการเงินของครอบครัว

  • ปัญหาความสัมพันธ์ เช่น นอกใจ คบซ้อน

  • ปัญหาความแตกต่างไม่เข้ากันที่ยังแก้ไขไม่ได้

  • ปัญหาจากการไม่มีเวลาคุณภาพด้วยกัน

  • ปัญหาที่มีเรื่องทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย


5. มีการเติบโตไปคนละเส้นทาง: ต่างฝ่ายต่างพบเป้าหมายของชีวิตที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันอีกต่อไป เช่น เคยตั้งใจด้วยกันว่าจะมีลูกหลังแต่งงานแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดเปลี่ยนใจภายหลัง หรือความตั้งใจเกี่ยวกับสถานที่จะไปตั้งรกรากชีวิตเปลี่ยนไปเป็นไม่ตรงกัน


ปัญหาชีวิตคู่แบบไหนที่คุ้มต่อการต่อสู้เพื่อรักษาเอาไว้?

  • คุณยังรักกันอยู่

  • คุณยังคงมีอะไรที่เหมือนกัน เช่น เป้าหมายชีวิต สิ่งที่ให้คุณค่า ปรัชญาในการใช้ชีวิต ฯลฯ

  • คุณพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน

  • ปัญหาชีวิตคู่ของคุณเป็นผลกระทบที่เกิดจากความเครียด เช่น เครียดเรื่องเงิน เครียดเรื่องสุขภาพ ฯลฯ


แน่นอนว่าการมีปัญหาชีวิตคู่เกิดขึ้นมันย่อมสร้างความเครียดและความเจ็บปวดให้กับทั้งสองฝ่ายไม่ว่าคุณจะตัดสินใจประคองชีวิตคู่ให้ไปต่อหรือเลิกราก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะสามารถเข้ามาช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นจากปัญหาชีวิตคู่ของคุณลงได้ก็คือการขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากคนอื่น


ซึ่งหากคุณลองสำรวจทรัพยากรรอบตัว เช่น คนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ แล้วพบว่าคุณอาจจะได้รับความช่วยเหลือที่ยังไม่ค่อยตอบโจทย์ การเลือกใช้บริการจากนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญในการบำบัดคู่สมรสก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คุณสามารถใช้เป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาชีวิตคู่ของคุณ


และในทางควบคู่กันไปผู้เขียนก็อยากเชิญชวนให้คุณลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เป็นไปในทางที่ส่งเสริมสุขภาวะของคุณมากขึ้น เช่น ฝึกทำ self-care รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะในกรณีที่คุณคิดว่าปัญหาชีวิตคู่ของคุณน่าจะเป็นผลมาจากที่ต่างฝ่ายต่างมีความเครียดจึงทำให้ทะเลาะกันบ่อย การฝึกฝนให้ตนเองมีความสามารถในการรับมือกับความเครียดได้มากขึ้นก็จะเป็นการลดสาเหตุของปัญหาไปได้ในอีกทางหนึ่ง

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] 4 Signs That A Marriage Is Sure To End In Divorce—By A Psychologist. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/traversmark/2024/08/12/4-signs-that-a-marriage-is-sure-to-end-in-divorce-by-a-psychologist/

[2] 15 Signs Your Marriage Will End In Divorce. Retrieved from https://xmartinelaw.com/signs-your-marriage-will-end-in-divorce/

[3] Signs a Marriage Cannot Be Saved. Retrieved from https://www.verywellmind.com/is-your-marriage-worth-saving-2302141

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page