top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เรียนรู้การช่วยผู้อื่นอย่างเข้าใจ เพื่อความสบายใจที่มากขึ้น



แน่นอนว่าการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี ดังคำกล่าวที่ว่า “การเป็นผู้ให้ย่อมสุขใจกว่าเป็นผู้รับ” แต่ในความเป็นจริงก็พบว่ามีหลายครั้งที่การช่วยเหลือผู้อื่นหรือการเป็นผู้ให้นั้นได้สร้างความไม่สบายใจให้กับทั้งผู้ให้และผู้รับ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นอาจจะมาจากผู้ช่วยเหลือมีเจตนาที่ดีแต่ขาดทักษะการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม หรือในบางครั้งก็รับบทบาทเป็นผู้ให้มากเกินไปจนเกิดอาการที่เรียกว่า “Compassion fatigue” 


Compassion fatigue หมายถึง สภาวะอ่อนล้าที่เกิดขึ้นจากการซึมซับรับเอาความรู้สึกเจ็บปวดหม่นหมองของคนอื่นเข้ามาในตัวเองมากจนเกินไปซึ่งทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น

  • รู้สึกท่วมท้นจนรับฟังปัญหาของคนอื่นไม่ไหวแล้ว

  • รู้สึกเหนื่อยหน่ายหมดพลัง ไม่มีแรงบันดาลแม้แต่จะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ

  • มีปัญหาการนอนหลับเพราะความคิดในหัวของตัวเอง

  • ตั้งสมาธิจดจ่อได้ยาก มีความคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่ตัวเองควบคุมไม่ได้

  • รู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลียไม่สดชื่น

  • เริ่มเฉยเมยไม่แยแสไม่มีอารมณ์ร่วม (Apathy)

  • หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีเหตุผล

  • รู้สึกว่าที่ผ่านมาตัวเองเอาคนอื่นมาแบกเยอะแล้ว ตอนนี้อยากตัดตัวเองออกมาจากปัญหาของคนอื่น


Compassion fatigue เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์ จากการศึกษาที่มีชื่อว่า “Compassion Fatigue and Mental Health in Health Care Professionals” โดย Afton M และคณะ พบว่า 93% ของผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่สนับสนุน ทำแบบทดสอบแล้วพบว่ามีความเครียด และ 76% มีภาวะหมดไฟ อย่างไรก็ตาม ทั้งความเครียด ภาวะหมดไฟ และสภาวะเหนื่อยล้าที่เกิดจากอาการ Compassion fatigue มันเกิดขึ้นได้แต่ก็บรรเทาให้ลดลงได้ 


  • จำสัญญาณเตือนของอาการให้ได้ ผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอาจจะลืมไปว่าตนเองก็สามารถมีความเปราะบาง (vulnerable) ได้เหมือนกัน หลายคนถูกฝึกฝนให้ empathy ผู้อื่นแต่ลืมฝึกฝนการ empathy ตนเอง ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเองก็ต้องหมั่นประเมินตัวเองด้วยเช่นกัน 


  • จัดให้การดูแลตัวเองเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน Amy M. Williams ผู้เชี่ยวชาญจาก Henry Ford Health System ได้กล่าวว่า “จงสวมหน้ากากออกซิเจนให้กับตัวเองก่อนที่ไปสวมให้กับคนอื่น” ซึ่ง Williams ได้แนะนำ 5 วิธีในการดูแลตัวเองแต่ละวัน ดังนี้ 1) นอนหลับให้เพียงพอ 2) กินอาหารที่มีประโยชน์ 3) หากิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว 4) ฝึกการผ่อนคลาย 5) มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม นอกจากนั้น การจัดตารางให้ตัวเองได้มีเวลาในตอนเช้าสัก 5 นาทีในการสำรวจร่างกายและจิตใจตัวเองว่ามีความตึงเครียดแค่ไหน แต่ไม่แนะนำให้ทำก่อนนอนเพราะมันอาจจะทำให้คุณเกิดความรู้สึกกังวลขึ้นมาและอาจจะนอนไม่หลับได้


  • ฝึกเมตตาตัวเอง (Self-compassion) Anna Baranowsky ผู้เชี่ยวชาญจาก Toronto’s Traumatology Institute กล่าวว่า นักจิตวิทยามักจะทำงานหนักโดยมุ่งที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้ตัวเองสมบูรณ์แบบและลงเอยด้วยความรู้สึกเหนื่อยล้า มันจึงสำคัญมากที่นักจิตวิทยาจะต้องมีการสะท้อนตนเองผ่านการใช้เวลาทบทวนตามลำพัง ให้เพื่อนร่วมวิชาชีพที่ไว้วางใจช่วยสะท้อน ใช้หลักศาสนาที่ตัวเองศรัทธา หรือทำจิตบำบัด โดยผู้เขียนขอเสริมตรงนี้ว่าการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตไปรับการทำจิตบำบัดนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ หากใครเคยดูซีรีส์เรื่อง Daily Dose of Sunshine ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่าในเสี้ยวส่วนหนึ่งของนักวิชาชีพก็มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นซึ่งหมายความว่าแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตก็ไม่สามารถหลีกหนีปัญหาทั่วไปที่เกิดกับมนุษย์ได้ และเมื่อมีปัญหาใหญ่ที่เกินกว่าทักษะที่ตัวเองมีก็สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้เช่นกัน เปรียบดังเช่นใคร ๆ ก็มีโอกาสป่วยเป็นโรคโควิด-19ได้ อาการทางจิตใจก็เป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน หากไม่เมตตาตัวเองก็อาจจะเรียกร้องให้ตัวเองต้องดูสมบูรณ์แบบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากทำเช่นนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้นมาได้ในที่สุด

  • กำหนดขอบเขตของตัวเอง (Set Boundaries) Dr. Brené Brown นักวิจัยชาวอเมริกันได้กล่าวว่า “empathy without boundaries is not empathy.” การเข้าใจเห็นใจผู้อื่นนั้นมี 2 อย่างคือ เห็นใจสงสารเพราะไปคิดแทนเขา กับ เห็นใจเพราะเข้าใจผ่านมุมมองของเขา ซึ่งแบบหลังจะมีความเหมาะสมมากกว่าโดยวิธีการที่จะช่วยให้เกิดความเห็นใจเพราะเข้าใจผ่านมุมมองของคนอื่นมีดังนี้

  • แทนที่จะแนะนำว่าเขาควรจะแก้ปัญหายังไง เปลี่ยนเป็นรับฟังเขาให้มาก

  • แทนที่จะสงสารเขา เปลี่ยนเป็นทำให้เขารู้ว่าเราเข้าใจว่าเขากำลังมีความรู้สึกอะไรบ้าง

  • แทนที่จะบอกว่าเขาควรรู้สึกอย่างไร เปลี่ยนเป็นยอมรับความรู้สึกไม่สบายใจที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ของเขา

  • แทนที่จะตำหนิว่าเขาทำไม่ถูก เปลี่ยนเป็นบอกเขาว่า “ที่ผ่านมาคงจะหนักน่าดูเลยนะ”

  • แทนที่จะเปรียบเทียบประสบการณ์ของคุณกับเขา เปลี่ยนเป็นถามเขาให้มากที่สุดว่ามีเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง

  • แทนที่จะโต้แย้งว่าสิ่งที่เขารู้สึกขึ้นมามันไม่จริง เปลี่ยนเป็น “ฉันเชื่อนะว่ามันจริง” 


นอกจากวิธีการข้างต้นแล้ว ผู้เขียนขอเพิ่มเติมในเรื่องของการกำหนดขอบเขตของตัวเอง (Set Boundaries) ว่าถึงแม้คุณจะทำหน้าที่เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แต่คุณก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ คุณสามารถเลือกที่จะดูแลความรู้สึก ความต้องการ รวมถึงสุขภาวะของตัวเองก่อนได้เช่นกัน เพราะการให้ที่ไม่มีขอบเขตก็อาจจะทำให้ทั้งคุณและเขาพังทั้งคู่ได้ เปรียบดั่งคนที่จะลงไปช่วยคนที่จมน้ำ


หากตัวเองอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมหรือขาดทักษะในการว่ายน้ำที่ดีพอ มันก็อาจจะทำให้ทั้งคุณและเขาจมน้ำไปด้วยกัน ดังนั้น หากคุณประเมินตัวเองแล้วว่าคุณไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมช่วยเหลือผู้อื่น คุณก็สามารถส่งต่อเคสได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะการส่งต่อเป็นหนึ่งในขั้นตอนของ “หลักปฐมพยาบาลทางใจ” ที่ประกอบไปด้วย สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อ


หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] Compassion Fatigue, Empathy Burnout for Health Care Workers: Which is it? Retrieved from https://mhanational.org/compassion-fatigue-empathy-burnout-health-care-workers-which-it

[2] What Is Empathy Fatigue? (And 12 Ways To Overcome It). Retrieved from https://www.scienceofpeople.com/empathy-fatigue/

[3] Are you experiencing compassion fatigue? Retrieved from https://www.apa.org/topics/covid-19/compassion-fatigue

[4] Compassion Fatigue and Mental Health in Health Care Professionals. Retrieved from https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/21650799221081237?icid=int.sj-abstract.similar-articles.3

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page