top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

“การยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไข” เทคนิคที่น่าใช้ในการให้คำปรึกษาปัญหาความรัก



หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบให้คำปรึกษา แต่ก็แอบรู้สึกบ่อย ๆ ว่าเวลาให้คำปรึกษาปัญหาความรักทีไรก็มักจะล้มเหลวรู้สึกเฟลทุกทีเพราะไม่เป็นไปอย่างที่คิด บทความนี้อาจจะช่วยให้คุณไม่ต้องรู้สึกแบบนั้นอีกต่อไป เพราะผู้เขียนมีตัวช่วยมาแนะนำซึ่งก็คือ การยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Positive Regard)


การยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไขคืออะไร?

การยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Positive Regard) เป็นคำที่มาจากทฤษฎีของ Carl Rogers ผู้คิดค้นทฤษฎีการบำบัดแบบผู้รับการปรึกษาเป็นศูนย์กลาง (Client-centered Therapy) โดยลักษณะที่แสดงถึงการยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไข ได้แก่

  • สนใจ ใส่ใจ และตั้งใจฟังเรื่องราวของคนที่มาเล่าเรื่องราวให้ฟัง

  • ไม่ตัดสินหรือประเมินถูก-ผิด ดี-เลว ไม่ตีความเรื่องราวของคนที่มาเล่าเรื่องราวให้ฟังโดยใช้ประสบการณ์ของตัวเองเป็นมาตรฐาน

  • เปิดโอกาสให้คนที่มาเล่าเรื่องราวให้ฟังได้พูด ได้ระบายความรู้สึก และได้เปิดเผยตนเองออกมาอย่างเต็มที่

  • เคารพในศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์และศักยภาพของคนที่มาเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างจริงใจ


ประโยชน์ของการยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไข

เชื่อว่าคนทุกคนเวลาที่มีปัญหาหรือความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามย่อมต้องการคนที่เข้าใจ เพราะการได้รับความเข้าใจจากใครสักคนจะช่วยทำให้ความรู้สึกทุกข์ข้างในใจมันเจือจางบางเบาลง การยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไขจะเอื้อให้คนที่เป็นฝ่ายรับฟังเกิดความเข้าอกเข้าใจ (empathy) เรื่องราวที่ได้ยินมากขึ้น


เพราะการฟังผ่านท่าทีที่ยอมรับอีกฝ่ายอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้นจะช่วยให้เสียงตำหนิประเมินตัดสินในหัวลดลง ทำให้คนที่เป็นฝ่ายรับฟังกลายเป็นพื้นที่ว่าง ๆ ให้คนที่มาเล่าเรื่องราวให้ฟังนั้นได้มีพื้นที่ระบายความรู้สึกนึกคิดของตนเองออกมา นอกจากนั้น การยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไขยังมีประโยชน์ที่น่าสนใจอีกหลายประการ เช่น


  • ช่วยให้เขาได้ค้นพบตนเอง (Self-actualization)

คนที่มีความทุกข์ทางใจมักจะมีเสียงอื้ออึงอยู่ในหัวจนรู้สึกว่าข้างในของตนเองไม่สงบ ซึ่งส่วนหนึ่งของเสียงอื้ออึงนั้นก็คือเสียงที่ตำหนิตัดสินตัวเอง ดังนั้น การที่ผู้ให้การปรึกษาด่วนสรุปและรีบร้อนให้คำแนะนำต่าง ๆ ไปในเวลาที่ผู้รับการปรึกษายังไม่พร้อมก็เหมือนเป็นการไปเพิ่มเสียงอื้ออึงให้ยิ่งดังมากขึ้นไปอีก ต่างกับการรับฟังด้วยท่าทีที่ให้การยอมรับไม่ตัดสินที่จะเป็นเหมือนเครื่องมือ


ในการคลี่เสียงที่สับสนอยู่ข้างในออกมาให้เห็นว่าภายใต้ความสับสนตัดสินใจไม่ได้นั้นมันมีอะไรอยู่บ้าง มีตรงไหนบ้างที่พอจะเข้าไปจัดการกับมันได้ และชวนให้เขาได้สำรวจภายในของตนเอง เช่น ความต้องการ ตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่อยากจะเป็น ความคาดหวัง ฯลฯ ซึ่งการทำเช่นนี้จะเอื้อให้เขาค้นพบตนเองในที่สุด


  • ช่วยให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น

หลายคนขาดความมั่นใจเพราะเคยถูกตำหนิวิจารณ์มาก่อน จึงทำให้ไม่ว่าจะทำอะไรก็กังวลว่าคนอื่นจะคิดยังไง คนอื่นจะหัวเราะเยาะไหม เวลามาปรึกษาปัญหาก็มักจะไม่ค่อยกล้าเปิดเผยเรื่องราวออกมาโดยจะเล่าแบบโยนหินถามทางเพื่อดูท่าทีของคนฟังก่อน เพราะไม่มั่นใจว่าถ้าเล่าไปแล้วจะถูกตำหนิซ้ำเติมไหม คนฟังจะไว้ใจได้หรือเปล่า


การแสดงท่าทีที่ให้การยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไขจะช่วยให้คนที่มาปรึกษารู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นและกล้าเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองมากขึ้น เมื่อได้พูดคุยกันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาก็จะช่วยให้มองเห็นปัญหาได้อย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น ทำให้ช่วยกันหาทางออกจากปัญหาได้อย่างหลากหลายมากขึ้น


  • ช่วยสนับสนุนให้เขาเกิดแรงจูงใจ

มีงานวิจัยเรื่อง Bringing Carl Rogers Back In: Exploring the Power of Positive Regard at Work ในปี ค.ศ. 2018 ซึ่งตีพิมพ์ใน British Journal of Management ที่พบว่า พนักงานที่ได้รับการยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไขจากเพื่อนร่วมงาน จะมีแรงจูงใจในการทำงานที่เพิ่มขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความพึงพอใจกับงานของตนเองมากขึ้น หากจะประยุกต์มาใช้ในการให้คำปรึกษาเรื่องความรัก


การที่ผู้ให้การปรึกษาให้การยอมรับทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไขแก่ผู้รับการปรึกษาก็อาจจะช่วยให้เขาเกิดแรงจูงใจในการลงมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยแสดงให้เขารับรู้ว่า ไม่ว่าเขาจะเลือกตัดสินใจอย่างไรก็ไม่ผิดทั้งนั้น และไม่ว่าจะเกิดอะไรหลังจากที่ได้ทำการตัดสินใจไปแล้วก็ขอให้ชื่นชมตัวเองที่อย่างน้อยก็ได้ทดลองทำบางอย่างไป การได้รู้ว่าตนเองไม่ได้อยู่ลำพัง


แต่จะมีคนที่อยู่เคียงข้างในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาจะช่วยให้เขารู้สึกมีกำลังใจ และเกิดแรงจูงใจที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ตนเองไปสู่จุดที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในทางตรงกันข้าม การตำหนิวิจารณ์หรือซ้ำเติมเมื่อเขาเลือกตัดสินใจบางอย่างที่ไม่ตรงกับคำแนะนำแล้วเกิดผลลัพธ์ที่ผิดพลาดก็จะทำให้เขามีเสียงในหัวแบบตำหนิวิจารณ์ตนเองไปด้วย ทำให้จมอยู่กับอารมณ์ลบ ๆ และขาดพลังที่จะจูงใจตัวเองในการแก้ไขปัญหา


การให้คำปรึกษานั้นมีความเป็นศาสตร์และศิลป์ในเวลาเดียวกัน บางเทคนิคนั้นดูเหมือนง่ายแต่เวลานำไปใช้จริงก็อาจจะยาก อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีได้ ขอเพียงมีใจรัก ตั้งใจเรียนรู้พื้นฐานและฝึกฝนบ่อย ๆ จนมีทักษะความชำนาญมากขึ้น ซึ่งคนที่เรียนรู้และฝึกฝนตนเองจนมีคุณลักษณะของผู้ให้คำปรึกษาที่ดีนั้นมักจะไม่รู้สึกว่าตัวเองได้กินอาหารหมา รวมถึงจะมีทักษะในการบริหารจัดการกับเครียดของตนเองหลังนั่งฟังปัญหาของผู้คนอีกด้วยค่ะ


หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[1] Unconditional Positive Regard in Psychology. Retrieved from https://www.verywellmind.com/what-is-unconditional-positive-regard-2796005

[2] การพัฒนาแบบวัดสัมพันธภาพเชิงรักษาสำหรับผู้ให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา. Retrieved from https://so08.tci-thaijo.org/index.php/ghuru/article/download/263/195/702

[3] The Surprising Benefits of Unconditional Positive Regard. Retrieved from https://www.nirandfar.com/upr-unexpected-benefits-beyond-therapy/


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page