top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เทคนิคจิตวิทยาในการเปลี่ยนแปลงความโกรธให้กลายเป็นพลังบวก



ว่ากันด้วยเรื่องของ “ความโกรธ” หรือความหัวร้อน ในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นอารมณ์พื้นฐานของสัญชาตญาณมนุษย์คู่กับความรักเลยทีเดียว ซึ่งหลายครั้งหลายหนเจ้าความโกรธนี่ละค่ะที่ทำให้เราทั้งหลายงานเข้ากันมาแล้ว แต่ในบทความจิตวิทยานี้ขอชวนมาดูมุมดี ๆ ของความโกรธกันบ้างว่า เจ้าความโกรธสามารถเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นพลังบวกได้อย่างไร


Ryan Martin ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่เน้นศึกษาความโกรธโดยเฉพาะ ได้ให้ข้อมูลว่า เรามักจะรู้สึกโกรธเมื่อเราพบเจอสถานการณ์ หรือสิ่งที่เราไม่พอใจ เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับเรา และหลายครั้งความโกรธจะมาพร้อมกับความรู้สึกอื่น ๆ เช่น เสียใจ เศร้า กลัว ซึ่งอารมณ์ร่วมเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เราแสดงความโกรธออกมาแตกต่างกัน เช่น ถ้าคุณโกรธด้วย รู้สึกเสียใจด้วย มันก็อาจเปลี่ยนเป็นความกล้าบ้าบิ่นที่อาจไปท้าตีท้าต่อย ไปบวกกับคนที่ไม่ควรบวก หรือถ้าคุณโกรธด้วย กลัวด้วย คุณจะสติแตกเหมือนแมวที่จนตรอกเลยค่ะ ก็คือจะขู่ จะทำร้ายคนอื่นแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง หรือถ้าคุณโกรธด้วยและเศร้าด้วย คุณก็อาจขังตัวเองอยู่ในห้อง หรือทำร้ายตนเองได้ ดังนั้นวิธีการจัดการกับความโกรธที่ Martin แนะนำ ก็คือ การควบคุมอารมณ์ค่ะ โดยเทคนิคจิตวิทยาในการควบคุมความโกรธที่ Martin แนะนำ ได้แก่


1. รู้ทันว่าตนเองกำลังโกรธ

เมื่อคุณรู้สึกว่าหัวเริ่มร้อน ก่อนจะลงมือทำอะไรต่อไป ขอให้มีสติ และรู้ทันตัวเองก่อนว่า “ตอนนี้เรากำลังโกรธแล้วนะ” เมื่อคุณรู้ตัว รู้ทันอารมณ์ตนเองแล้วว่าคุณกำลังโกรธ ขอให้ถามตัวเองว่า “โกรธเรื่องอะไร?” เมื่อได้คำตอบแล้ว ให้ประเมินว่าคุ้มค่าต่อการโกรธ หรือคุ้มค่าต่อการแสดงความโกรธหรือไม่ เช่น ถ้าคุณโกรธลูกอายุ 2 ขวบ ที่ทำบ้านรก ขอให้คุณประเมินดูว่าคุ้มหรือไม่ที่จะดุด่า ตี หรือทำโทษลูก เพราะลูกเพิ่งจะ 2 ขวบ หากเราทำร้ายจิตใจลูกอาจสร้างบาดแผลไปจนโต แต่ถ้าเราเปลี่ยนจากการแสดงความโกรธมาเป็นการฝึกวินัยแทน เราจะได้ลูกที่มีความรับผิดชอบมาแทนลูกที่มีบาดแผลในใจค่ะ


2. เข้าใจสาเหตุของความโกรธ

บ่อยครั้งที่เมื่อเราโกรธ เรามักจะเตลิดหัวร้อนเผลอทำอะไรแย่ ๆ ลงไป โดยไม่ทันได้เข้าใจว่าสาเหตุที่แท้จริงของความโกรธคืออะไร เพราะบางทีอาจจะมาจากเรื่องเล็ก ๆ เช่น รีดผ้าไม่เรียบ เสื้อตัวที่จะใส่ยังไม่ได้ซัก แมวไม่เล่นด้วย หรือจะเรื่องใหญ่ ๆ เช่น งานผิดพลาด เจ้านายด่า แต่เราก็เหมารวมความโกรธนั้นไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ซวย” เช่น เดินออกมาจากเหยียบโคลนเลอะรองเท้า เราก็จะหงุดหงิด เริ่มหัวร้อน และคิดว่าวันนี้ไม่ดีเลย พอระหว่างวันเกิดเรื่องอะไรที่ไม่ดี มันก็จะไปสนับสนุนความคิดของเราอีกว่า วันนี้ “ซวย” จริง ๆ ทั้ง ๆ ที่เราโกรธโคลนที่มาเปื้อนเรา และสาเหตุจริง ๆ ก็มาจากการที่เราเดินไปเหยียบโคลน ซึ่งถ้าเราใจเย็นและมีสติ เราก็สามารถแก้ปัญหาด้วยการไปหาผ้ามาเช็ดรองเท้า รึเปลี่ยนคู่ใหม่ก็จบแล้วละค่ะ


3. ระบายออกมาในเชิงสร้างสรรค์

การระบายความโกรธนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมากของคนเรา เพราะเมื่อเราโกรธเรามักจะปลดปล่อยพลังงานโดยอัตโนมัติไปในทางลบดังที่เราเห็นตามข่าวสารที่เรารับรู้กัน แต่ก็มีหลาย ๆ คนที่มีสติ สมาธิ และปัญญามากพอที่จะระบายความโกรธออกมาในเชิงสร้างสรรค์ค่ะ เช่น นักเขียนหลายคนระบายความโกรธออกมาเป็นงานเขียนของเขา นักวาดภาพหลายคนก็ระบายความโกรธบนผืนผ้าใบจนกลายเป็นผลงานชิ้นเอก หรือที่เราอินสุด ๆ ต้องวงการเพลง ที่นักแต่งเพลงชื่อดังหลายคนระบายความโกรธลงในเพลงจนเกิดเป็นเพลงฮิตระดับโลก เช่น เพลง Without Me ปี 2018 ของ Halsey เพลง Million Reason ปี 2016 ของ Lady Gaga หรือหลายเพลง ๆ ของ Taylor Swift ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากความโกรธจากการเลิกรากับคนรักเก่า นั่นแสดงให้ว่าถ้าเราระบายความโกรธไปในทางสร้างสรรค์ มันก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมาได้

นอกจากนี้ ดร.แดน หรือ ศาสตราจารย์ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการอาวุโสมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และประธานสถาบันการสร้างชาติ (Nation - Building Institute : NBI) ได้แนะนำเทคนิคจิตวิทยาในการเปลี่ยนแปลงความโกรธให้กลายเป็นพลังบวกไว้ 2 เทคนิค ดังนี้ค่ะ


4. มุ่งจัดการที่สาเหตุของปัญหา ไม่ใช่จัดการที่ตัวบุคคล

หมายความว่า เมื่อเราโกรธ อย่าเอาความโกรธไปลงที่บุคคล ขอให้ตั้งสติแล้ววิเคราะห์ว่าปัญหาจริง ๆ ของสิ่งที่ทำให้เราโกรธเกิดมาจากอะไร เช่นกรณีของ Lamborghini กับ Ferrari ค่ะ เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยก่อนที่ Lamborghini จะทำซุปเปอร์คาร์ออกมาขายนั้นเขาเป็นแบรนด์รถไถอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ก็ขายดีขนาดเจ้าของคือ Ferruccio Lamborghini สามารถซื้อรถซุปเปอร์คาร์ยี่ห้อดังสุด ๆ อย่าง Ferrari มาขับได้ แต่รถที่เขาซื้อมาดันมีปัญหาค่ะ เขาก็เลยไปเคลมที่อู่ พอรถมีปัญหาบ่อยครั้งเข้าก็เลยไปคุยกับเจ้าของ Ferrari คือ Enzo Ferrari และได้คำตอบที่แสนจะเจ็บปวดใจมาว่า “ชาวไร่อย่างคุณไม่รู้จักวิธีขับรถระดับนี้มากกว่า ดังนั้นอย่ามาพูดในแง่ร้ายกับรถของผม” แน่นอนค่ะว่าเป็นใคร ใครก็โกรธ แต่แทนที่จะระบายความโกรธโดยการเดินไปฟาดกันซึ่งเป็นการจัดการที่ตัวบุคคลใช่ไหมคะ Ferruccio Lamborghini กลับไปจัดการความโกรธที่ปัญหาไปเลยค่ะ ถ้าเขาโกรธเพราะรถซุปเปอร์คาร์ที่ซื้อมามีปัญหา ก็ทำซุปเปอร์คาร์เจ๋ง ๆ มาให้เห็นไปเลยว่าของดีเป็นยังไง โลกเราจึงได้มีสุกยอดซุปเปอร์คาร์ยี่ห้อ Lamborghini ที่ยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อนอย่างทุกวันนี้ค่ะ


5. ใช้ความโกรธในการพัฒนาตนเอง

อย่างที่ได้บอกไปในหัวข้อการระบายความโกรธออกมาในเชิงสร้างสรรค์ ว่าถ้าเรามีสติและใจเย็นมากพอ เราจะใช้ความโกรธในการสร้างสิ่งมีคุณค่าได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของดร.แดน ค่ะว่า เราสามารถใช้ความโกรธในการพัฒนาตนเองได้ หรือสร้างพลังบวกให้แก่ตัวเราเองได้ เช่นกรณีของการเกิดยี่ห้ออุปกรณ์กีฬาชื่อดังอย่าง Adidas และ Puma ซึ่งในยุคก่อตั้งนั้นทั้งสองเป็นบริษัทเดียวกันมาก่อนที่มีเจ้าของเป็นสองพี่น้องตระกูล Dassler คือ Rudolf "Rudi" Dassler และ Adolf "Adi" Dassler ที่ได้ทะเลาะกันรุนแรงมาก จนต่างคนต่างออกไปตั้งบริษัทแข่งกัน โดย Rudolf "Rudi" Dassler ก่อตั้งบริษัท Puma ส่วน Adolf "Adi" Dassler ก่อตั้ง Adidas และใช้ความโกรธในการพัฒนาสินค้า บริหารบริษัทจนเติบโตทั้งคู่


อันที่จริงแล้ว หากเรารู้ตัวว่าเราโกรธแล้วสามารถขจัดความโกรธนั้นออกไปจากใจน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีและยั่งยืนที่สุด แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายจิตใจเราก็มักจะถูกทดสอบความอดทนด้วยการทำให้โกรธในเรื่องเดิม ๆ แต่รุนแรงและเข้มข้นขึ้น เช่น การเหยียด การดูถูก การทำร้ายร่างกาย การทำให้อับอาย จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่โกรธ ดิฉันหวังว่าเทคนิคจิตวิทยาข้างต้นจะพอช่วยบรรเทาเบาบางความโกรธที่เกิดขึ้นลงไปได้บ้างนะคะ เพื่อความสงบสุขของชีวิตค่ะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 


 สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8 


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : 1. Ryan Martin. (June 2019). Why we get mad — and why it's healthy. [Online]. From https://www.ted.com/talks/ryan_martin_why_we_get_mad_and_why_it_s_healthy

2. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2008). เปลี่ยน? อารมณ์โกรธ? เป็นพลังสร้างสรรค์เชิงบวก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2565 จาก http://www.kriengsak.com/node/1313


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page