top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 บุคลิกภาพการสื่อสาร ที่บ่งบอกสุขภาพความสัมพันธ์ของคุณ


รูปแบบการสื่อสาร

หากคุณทำตัวตอนอยู่ที่ทำงาน กับตอนอยู่กับครอบครัวเป็นคนละคนกัน นั่นแปลว่าคุณกำลังปรับบุคลิกภาพตัวเองในการสื่อสารระหว่างบุคคล ซึ่งสะท้อนรูปแบบความสัมพันธ์กับแต่ละคนที่คุณสื่อสารด้วย ซึ่งนักจิตวิทยาจะวิเคราะห์ให้ฟังว่าการแสดงออกแต่ละแบบนั้นเป็นอย่างไร และมันสะท้อนถึงอะไรในตัวคุณ

คุณเองล่ะเคยมั้ย ที่คุณแสดงออกแบบดุดัน มาดเข้ม ว่ากันด้วยเหตุด้วยผล พูดจามีหลักการมากเมื่อตอนอยู่ที่ทำงาน แต่พอเลิกงานอยู่กับแฟนปุ๊บ คุณกลับแปลงร่างกลายเป็นเด็กน้อยงุงิ พูดเสียงสอง เพื่ออ้อนแฟนยกใหญ่ ชนิดที่คนที่ทำงานก็คงงงถ้าได้มาเจอคุณในโหมดนี้ แล้วทันทีที่รับสายลูกน้องที่โทรเข้ามา คุณก็เปลี่ยนโหมดกลายเป็นผู้ปกครองที่จู้จี้จุกจิกใส่ลูกน้องไปซะอย่างนั้น

ปฏิกิริยาพวกนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกค่ะ เพราะในมุมมองของนักจิตวิทยา สิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติที่คนทุกคนก็เป็นกันทั้งนั้น แต่หากคุณรู้ตัว เข้าใจที่มาของบุคลิกภาพแบบนั้น และได้เรียนรู้การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะช่วยให้การสื่อสารของคุณได้ผลมากขึ้น แถมยังได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนสำคัญในชีวิตของคุณอีกด้วย

ทำไมบางคนถึงเป็นเจ้าหลักการ พูดแต่เหตุผล บางคนทำตัวเหมือนเด็กไม่รู้จักโต เอาแต่เล่นสนุกไม่ยอมรับผิดชอบ แต่บางคนก็จู้จี้จุกจิกกับคนอื่นทำตัวราวกับเป็นผู้ปกครอง บุคลิกภาพเหล่านี้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ 5 ปีแรกของชีวิต ซึ่งวันนี้ Dr. Eric Berne จิตแพทย์ชาวแคนาดา ซึ่งเป็นผู้พัฒนาทฤษฎีการสื่อสารต่อยอดจากจิตวิเคราะห์ตามแนวทางของตัวพ่อวงการจิตวิทยา อย่าง Sigmund Freud จะมาวิเคราะห์ให้คุณได้เข้าใจ

Dr. Berne ได้กล่าวไว้ว่า “ในการสื่อสาร สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้รับสารและผู้ส่งสาร” ในที่สุดเขาได้คิดค้นทฤษฎีการวิเคราะห์การสื่อสารระหว่างบุคคล ที่ชื่อว่า Transactional Analysis (TA) โดยทฤษฎี TA นี้ เขาจะพูดถึงว่าคนเรามักมีการสื่อสารที่สัมพันธ์กับบุคลิกภาพ และมุมมองที่เรามีต่อตัวเอง รวมถึงมุมมองที่เรามีต่อคนอื่นด้วยค่ะ โดย Berne ได้อธิบายว่า คนเราคนหนึ่ง จะมีบุคลิก 3 ส่วน ก็คือ

ส่วนที่ 1 บุคลิกภาพส่วนที่มีลักษณะคล้ายคุณพ่อ คุณแม่ของเรา (Parent ego state)

บุคลิกในส่วนนี้จะเป็นบุคลิกที่เราเลียนแบบคุณพ่อ คุณแม่ หรือคนที่เลี้ยงดูเรามานั่นเองค่ะ ซึ่งจะสะท้อนออกมาทั้งในรูปแบบพฤติกรรม เช่น การเดิน การนั่ง การยืน รวมไปถึงแนวคิด และทัศนคติการใช้ชีวิตค่ะ ซึ่งนักจิตวิทยาของเราอธิบายเพิ่มเติมว่า ความเป็นพ่อแม่นี้ก็จะมีลักษณะย่อยอีก 2 แบบ ก็คือ พ่อแม่แบบดุ (Controlling parent) ซึ่งจะทำให้เราเลียนแบบบุคลิกช่างตำหนิ ชอบวิพากษ์วิจารณ์ จู้จี้ ขี้รำคาญ ชอบควบคุมมากค่ะ

ส่วนอีกแบบ ก็คือ พ่อแม่ที่ใจดี (Nurturing parent) จะทำให้เรามีบุคลิกแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ห่วงใย ใส่ใจ คอยดูแลผู้อื่นค่ะ

ส่วนที่ 2 บุคลิกภาพส่วนที่เป็นผู้ใหญ่ (Adult ego state)

เป็นบุคลิกภาพส่วนที่ใช้เหตุผลเป็นหลักค่ะ เป็นบุคลิกภาพด้านการตัดสินใจ ทัศนคติ และการใช้วิจารณญาณในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ นั่นเองค่ะ

ส่วนที่ 3 บุคลิกภาพส่วนที่เป็นเด็ก (Child ego state)

ในส่วนนี้นักจิตวิทยาของเรา ให้ความหมายว่า เป็นบุคลิกภาพส่วนที่ใช้อารมณ์เป็นหลักค่ะ ก็คือ รู้สึกอย่างไรแสดงออกอย่างนั้นตามธรรมชาติเลย เช่น เสียใจก็ร้องไห้ ดีใจก็กรี๊ดกร๊าด ดังเช่นที่เด็ก ๆ แสดงออกเลยค่ะ ซึ่งบุคลิกภาพในส่วนนี้ยังแยกย่อยออกไปอีก 3 แบบ ก็คือ

  • แบบที่ 1 : ลักษณะที่เป็นเด็กตามธรรมชาติ (Free child)

เป็นบุคลิกภาพที่แสดงออกทางอารมณ์ตามความรู้สึกแท้จริง

  • แบบที่ 2 : ลักษณะที่เป็นเด็กได้รับการขัดเกลา (Adapted child)

จะมีการใช้เหตุผลในการควบคุมการแสดงความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง มีความคิดถึงกาลเทศะมากขึ้นนั่นเองค่ะ

  • แบบที่ 3 : ลักษณะที่เป็นเด็กมีความคิด (Little Professor)

เป็นลักษณะบุคลิกภาพที่ใกล้เคียงบุคลิกภาพส่วนที่เป็นผู้ใหญ่ค่ะ มีการใช้ความคิด ใช้เหตุผลในการพิจารณาความรู้สึกมากขึ้น

โดยบุคลิกภาพทั้งสามส่วนได้นำไปสู่รูปแบบการสื่อสาร 3 รูปแบบ ได้แก่

1.การสื่อสารที่สอดคล้องกัน (Parallels Transactions) เป็นการสื่อสารในลักษณะเห็นพ้องตามกัน มีเนื้อหาสอดคล้องสัมพันธ์กัน ซึ่ง Berne จัดว่าเป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดค่ะ โดยบุคลิกภาพที่จะทำให้เกิดการสื่อสารรูปแบบนี้ขึ้นได้ ก็คือ บุคลิกภาพส่วนที่เป็นผู้ใหญ่ หรือ Adult ego state นั่นเองค่ะ

2.​การสื่อสารที่ขัดแย้งกัน (Crossed Transactions) เป็นการสื่อสารที่ทำให้คู่สนทนาทะเลาะและเกิดความรู้สึกต่อกันในทางลบมากที่สุดค่ะ เพราะมักมีเนื้อหาตรงข้ามกัน เช่นคนหนึ่งถามด้วยเหตุผล แต่อีกคนตอบกลับมาด้วยอารมณ์ ซึ่งบุคลิกภาพที่ทำให้เกิดการสื่อสารแบบนี้ ก็คือ บุคลิกภาพส่วนที่เป็น พ่อแม่แบบดุ และลักษณะที่เป็นเด็กตามธรรมชาติค่ะ

3. การสื่อสารที่ไม่จริงใจ (Ulterior Transactions) เป็นการสื่อสารที่ใช้คำพูดหรือการแสดงออกแบบหนึ่ง แต่เนื้อหาจริง ๆ เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งภาษาบ้าน ๆ ก็คือ พูดประชดประชัด พูดกระทบกระเทียบ หรือภาษาวัยรุ่น ก็คือ “แซะ” นั่นเองค่ะ ซึ่งชาวท่าแซะทั้งหลายก็มักจะมีบุคลิกแบบบุคลิกภาพส่วนที่เป็นพ่อแม่แบบดุ และลักษณะที่เป็นเด็กตามธรรมชาติค่ะ

คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความจิตวิทยา “สื่อสารกับคนรักอย่างไรไม่ชวนทะเลาะ” นะคะ

และการสื่อสารทั้ง 3 รูปแบบนี่เองที่ Berne กล่าวว่าได้นำไปสู่ทัศนคติต่อตัวเองและผู้อื่น หรือ Life Position 4 รูปแบบ ก็คือ

รูปแบบที่ 1 I’m Ok & You’re OK

เป็นทัศนคติที่ให้เกียรติตัวเองไปพร้อม ๆ กับการให้เกียรติผู้อื่นค่ะ ซึ่งผู้ที่มีทัศนคติแบบนี้มักจะมีบุคลิกภาพส่วนที่เป็นผู้ใหญ่เด่น และมักมีการสื่อสาร ที่สอดคล้องกัน (Parallels Transactions) ทำให้คนกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการสื่อสารสูงที่สุดค่ะ

รูปแบบที่ 2 I’m OK & You’re not OK

เป็นทัศนคติที่ยกย่องตัวเอง แต่ไปกดคุณค่าของคนอื่นลง คนกลุ่มนี้มักมองว่าโลกต้องหมุนรอบฉัน และมักไม่คิดถึงคนอื่น จึงมักทำให้เกิดการสื่อสารที่ขัดแย้งกัน (Crossed Transactions) และการสื่อสารที่ไม่จริงใจ (Ulterior Transactions) นั่นเองค่ะ ซึ่งคนที่มีทัศนคติเช่นนี้ โดยมากจะมีบุคลิกภาพส่วนที่เป็นพ่อแม่แบบดุ และลักษณะที่เป็นเด็กตามธรรมชาติเด่นค่ะ

รูปแบบที่ 3 I’m not Ok & You’re OK

คนที่มีทัศนคติเช่นนี้จะตรงข้ามกับคนกลุ่มข้างบนค่ะ ก็คือ จะลดคุณค่าตัวเองและยกย่องคนอื่นเกินความเป็นจริง มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และมองเห็นว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นเสมอ ซึ่งคนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้สูงทีเดียวค่ะ แต่รูปแบบการสื่อสารของคนกลุ่มนี้มักจะเป็นการสื่อสารที่สอดคล้องกัน (Parallels Transactions) นะคะ เพราะไม่กล้าขัดแย้งกับคนอื่นนั่นเองค่ะ นอกจากนี้คุณผู้อ่านสามารถอ่านบทความจิตวิทยา “3 วิธีรักษาโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” (https://www.istrong.co/single-post/IMPOSTER-SYNDROME) เพิ่มเติมได้นะคะ

รูปแบบที่ 4 I’m not Ok & You’re not OK

คนกลุ่มนี้หนักกว่าคนกลุ่มด้านบนอีกค่ะ เพราะในมุมมองของเขาโลกนี้ไม่มีอะไรดีสักอย่าง ใครทำอะไรก็ไม่ถูกใจ ไม่ชอบอะไรเลยแม้กระทั่งตัวเองซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคต่อต้านสังคม (Anti-Social) ค่ะ โดยคนกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่เป็นเด็กตามธรรมชาติเด่นมาก ๆ ค่ะ และมักใช้การสื่อสารที่ขัดแย้งกัน (Crossed Transactions) และการสื่อสารที่ไม่จริงใจ (Ulterior Transactions) ในการสนทนากับคนอื่นค่ะ

มาถึงตรงนี้แล้ว ผู้เขียนก็ขอสรุปเคล็ดลับการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารตามแนวทางของนักจิตวิทยา Berne อย่างง่าย ๆ นะคะ ก็คือ เน้นการใช้เหตุผลในการสื่อสารเป็นหลัก ให้เกียรติตัวเอง และให้เกียรติคู่สนทนา รวมถึงใช้การสื่อสารที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นหลัก เพียงเท่านี้ การสื่อสารของคุณผู้อ่านก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอนค่ะ



____________________________________________________


iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย



____________________________________________________


อ้างอิง :

1. ประสิทธิ์ ทองอุ่น และคณะ. 2542. พฤติกรรมของมนุษย์กับการพัฒนาตน. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด.

2. วัฒนา พัฒนพงศ์. 2536. มนุษยสัมพันธ์. กรุงเทพมหานคร : พับลิบิสเสนพริ้นส์.

3. อาภา จันทรสกุล. 2535. ทฤษฎีและวิธีการนให้คำปรึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page