top of page

6 สัญญาณคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) และวิธีปรับความคิดให้พอดี

Updated: Jan 30

iSTRONG 6 สัญญาณคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) และวิธีปรับความคิดให้พอดี

การคิดบวก หรือ Positive Thinking ในทางจิตวิทยาถือเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตดี เพราะจะช่วยให้เรามีความเข้มแข็งทางจิตใจในการต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ แต่ถ้าเราคิดบวกมากจนเกินไปก็จะกลายเป็นความคิดบวกเป็นพิษ หรือ Toxic Positivity ขึ้นมาได้


โดยความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) คือ สภาวะที่เราคิดบวกจนเกินไปทำให้ชีวิตเสียศูนย์ โดย Laura Gallagher นักจิตวิทยาจากสถาบัน Gallaher Edge ได้ให้คำนิยามของความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) ไว้ว่า เป็นสภาวะที่เราพยายามกดอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดทางลบไว้ด้วยความคิดบวกแบบสุดโต่ง จนก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การถูกเอาเปรียบ ความรู้สึกเก็บกดที่นำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางจิตได้


แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) หรือไม่ ซึ่ง Gallagher ได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่าผู้ที่มีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) มี 6 สัญญาณบ่งชี้ ดังนี้


1. ขาดความกล้าแสดงความคิดเห็น (Lack of Assertiveness)

สำหรับผู้ที่มีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) เมื่อถูกทำร้าย หรือถูกบั่นทอนร่างกายและจิตใจด้วยรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจากคนที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ก็จะพยายามมองโลกในแง่ดี พยายามมองหาข้อดีของการถูกกระทำนั้น


จนไม่กล้าเอ่ยปากขอรับความช่วยเหลือจากใคร ไม่กล้าพูดความรู้สึกจริง ๆ ของตนเองออกมา จึงทำให้ถูกทำร้ายซ้ำ ๆ แบบวนลูป และมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำรุนแรงมากขึ้นเพราะไม่กล้าสู้ และสุดท้ายเราก็จะบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ


2. การปรับสถานการณ์ที่ผิดปกติให้เป็นปกติ (Normalize abnormal situations)

สถานการณ์ที่ผิดปกติ หรือสถานการณ์แปลกประหลาดในที่นี้ หมายถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งแบบซึ่งหน้า และแบบเนียน ๆ เช่น โดนแซงคิว โดนโยนงาน โดนปาดหน้าเค้ก โดนแย่งผลงาน


แต่เราผู้ซึ่งมองโลกในแง่ดีขั้นสุดก็พยายามยอมรับความแปลกประหลาด ความไม่ถูกต้องเหล่านั้น แล้วมองว่าเป็นสิ่งปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่แก้ไขปัญหา หรือป้องกันปัญหาใด ๆ


3. การเพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัว (Ignorance)

เมื่อเกิดเหตุร้าย ๆ หรือเหตุรุนแรงขึ้นมาในสังคม คนที่มองโลกในแง่ดีจนเป็นพิษ ก็จะเลือกที่จะไม่รับรู้เหตุการณ์หรือสถานการณ์นั้น ๆ เพราะไม่อยากให้ตนเองเครียด กังวล แต่ความเพิกเฉย ความไม่สนใจใยดีต่อสถานการณ์รอบข้างนี่เองก็ส่งผลให้เราไม่ทันได้ตั้งรับต่อผละกระทบที่อาจจะตามมา


เช่น การพยายามใช้ชีวิตปกติในสถานการณ์ Covid – 19 แต่ดันลืมคิดไปว่าโรคระบาดไม่ได้ส่งผลเสียแค่สุขภาพเท่านั้น ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจและหน้าที่การงานด้วย หากเราไม่ทันตั้งรับ หรือไม่กังวลกับสถานการณ์เท่าที่ควร เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ติด Covid – 19 หรือตกงานเพราะพิษเศรษฐกิจที่แย่มาจาก Covid – 19 เราจะไม่มีภูมิต้านทาน และเกิดปัญหาชีวิตตามมา


4. บิดเบือนความจริง (Distortion)

เมื่อผู้ที่มีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) รับรู้เหตุการณ์ที่ไม่สบายใจ ก็จะบิดเบือนด้วยการปลอบใจตัวเองว่า ถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น แต่เราก็ยัง... เช่น เมื่อถูกรถชนเพราะความประมาทของผู้อื่น ก็ปลอบใจตนเองว่า “ถึงเราจะโดนรถชน แต่เราก็ยังรอดชีวิตอยู่”


หรือ ถูกให้ออกจากงานกะทันหัน ก็ปลอบใจตนเองว่า “ถึงเราจะถูกให้ออกจากงาน แต่เราก็ยังมีบ้านที่ต่างจังหวัดให้กลับ” ซึ่งคำปลอบใจตนเองเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์จริงดีขึ้นแต่อย่างใด


5. ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Lack of Empathy)

ในกรณีที่ผู้อื่น หรือคนรอบข้างของผู้ที่มองโลกในแง่ดีสุดโต่งต้องประสบปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะถูกคนรักทิ้ง เรียนไม่จบ บ้านไฟไหม้ แมวป่วย ผู้ที่มองโลกในแง่ดีแบบขั้นสุดของเราก็จะปลอบใจว่า “เรื่องแค่นี้เอง” จนปิดใจตนเองที่จะรับฟังความทุกข์ของคนอื่น


เพราะมีทัศนคติ หรือ Mindset ว่า ทุกปัญหามีทางออก ซึ่งใช่ค่ะว่าทุกปัญหามีทางออก แต่กว่าจะออกจากปัญหาได้เราต้องใช้เวลาและต้องอยู่กับมันไปสักพัก เพราะฉะนั้นคำว่า “เรื่องแค่นี้เอง” ของผู้มองโลกในแง่ดีแบบสุด ๆ จึงอาจทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกดำดิ่งลงเหวได้


6. โทษผู้อื่น และหาข้ออ้าง (Projection and Rationalization)

เมื่อเกิดปัญหา สิ่งแรกที่ผู้ที่มีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) จะคิดก็คือ สิ่งนี้เป็นความผิดของคนอื่น ไม่ใช่ความผิดของฉัน นั่นจึงทำให้เมื่อเกิดปัญหาผู้ที่มองโลกในแง่ดีเกินไปจึงมีแนวโน้มจะกล่าวโทษคนอื่น หรือหาข้ออ้างให้กับตนเองในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น


เช่น เมื่อโดนเจ้านายตำหนิเรื่องการทำงาน ก็จะปกป้องสภาพจิตใจโดยอัตโนมัติด้วยการกล่าวโทษคนอื่นว่า เพราะแผนก A ส่งงานช้า เราเลยทำงานต่อลำบาก หรืองานมันเร่งด่วนเกินไป ผลงานจึงออกมาไม่ดี เป็นต้น ซึ่งนั่นทำให้เราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และไม่เกิดการพัฒนาตนเองอีกด้วย


ดังนั้นเพื่อป้องกันและแก้ไขความคิดบวกขั้นสุดโต่ง นักจิตวิทยาจึงได้แนะนำวิธีการปรับความคิดให้พอดี 4 ข้อ ดังนี้

1. รับรู้อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และถ่ายทอดออกมาอย่างมีวุฒิภาวะ

เมื่อเราถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนได้รับความกระทบกระเทือนในระดับที่เกินจะรับไว้ นักจิตวิทยาแนะนำว่าให้พูดบอกความรู้สึกกับคนที่ทำร้ายเราให้เขาได้รับรู้บ้าง แต่การถ่ายทอดออกมานั้น ต้องมีเทคนิคเล็กน้อย


คือ ต้องถ่ายทอดออกมาแบบมีวุฒิภาวะ หมายความว่า ให้บอกความรู้สึกว่าเราไม่โอเคนะ แต่ต้องพูดด้วยเหตุผลว่าเราไม่โอเคเพราะอะไร และพยายามไม่กล่าวโทษเขา แต่ให้สื่อสารด้วย I message คือ ฉันคิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะดีกว่า หรือฉันจะรู้สึกดีขึ้นมากถ้าคุณทำแบบนี้


2. กล้าที่จะโต้แย้งในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

หากเรารู้สึกถูกลิดรอนสิทธิ หรือรู้สึกได้รับความไม่เป็นธรรม เราควรโต้แย้งเพื่อปกป้องสิทธิของเรา แต่การโต้แย้งนั้นต้องทำด้วยความระมัดระวัง คือ ไม่ให้ร้ายใคร โต้แย้งด้วยความสุภาพ หรือยื่นหลักฐานต่อผู้มีอำนาจเพื่อขอความช่วยเหลือ เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้ชีวิตและทรัพย์สินของตัวเราเองด้วย


3. เข้าอกเข้าใจตนเอง ไปพร้อม ๆ กับการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

การเข้าอกเข้าใจตนเอง จะทำให้เรารักษาสุขภาพจิตตนเองได้ดี เพราะเราจะไม่ยอมรับในสิ่งที่รบกวนจิตใจ และไม่ยอมให้เราถูกกระทำจนเจ็บตัวเจ็บใจ และการเข้าอกเข้าใจตนเองนี้จะพัฒนาไปสู่การเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น เพราะเราจะมีความคิดว่า “อยากได้อะไรต้องให้เขาก่อน” และ “ถ้าไม่ชอบอะไรอย่าทำแบบนั้นกับคนอื่น”


4. มองโลกตามความเป็นจริง

การมองโลกที่ดีที่สุด คือ การมองโลกตามความเป็นจริง โดยพิจารณาสถานการณ์ตามความเป็นจริง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม อีกทั้งการมองโลกตามความเป็นจริงยังช่วยให้เรายอมรับตนเองได้มากขึ้นทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งช่วยให้เราพัฒนาตนเองให้ดีกว่าเดิมได้อีกด้วย


การมองโลกในแง่ดีเป็นสิ่งที่ดีต่อใจ แต่ถ้ามองโลกในแง่ดีมากเกินไปก็จะเป็นพิษ เพราะทำให้เราไม่อยู่กับความเป็นจริง อีกทั้งยังทำให้เรามองไม่เห็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ส่งผลให้เราแก้ปัญหาในชีวิตไม่ถูกจุด และก็เกิดวังวนปัญหาแบบวนลูปต่อเนื่องไม่รู้จบ ดังนั้นเราจึงควรปรับความคิดให้พอดี เพื่อไม่ให้ชีวิตเกิดปัญหาในอนาคต

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

[1] ตุ๊ดส์ review. (2565, 24 กุมภาพันธ์). Toxic Positivity คิดบวกจนเป็นพิษต่อชีวิต เป็นยังไง?. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2566 จาก

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page