top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

6 สัญญาณคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) และวิธีปรับความคิดให้พอดี



การคิดบวก หรือ Positive Thinking ในทางจิตวิทยาถือเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตดี เพราะจะช่วยให้เรามีความเข้มแข็งทางจิตใจในการต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ แต่ถ้าเราคิดบวกมากจนเกินไปก็จะกลายเป็นความคิดบวกเป็นพิษ หรือ Toxic Positivity ขึ้นมาได้ โดยความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) คือ สภาวะที่เราคิดบวกจนเกินไปทำให้ชีวิตเสียศูนย์ โดย Laura Gallagher นักจิตวิทยาจากสถาบัน Gallaher Edge ได้ให้คำนิยามของความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) ไว้ว่า เป็นสภาวะที่เราพยายามกดอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดทางลบไว้ด้วยความคิดบวกแบบสุดโต่ง จนก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การถูกเอาเปรียบ ความรู้สึกเก็บกดที่นำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางจิตได้


แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) หรือไม่ ซึ่ง Gallagher ได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่าผู้ที่มีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) มี 6 สัญญาณบ่งชี้ ดังนี้


1. ขาดความกล้าแสดงความคิดเห็น (Lack of Assertiveness)

สำหรับผู้ที่มีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) เมื่อถูกทำร้าย หรือถูกบั่นทอนร่างกายและจิตใจด้วยรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจากคนที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ก็จะพยายามมองโลกในแง่ดี พยายามมองหาข้อดีของการถูกกระทำนั้น จนไม่กล้าเอ่ยปากขอรับความช่วยเหลือจากใคร ไม่กล้าพูดความรู้สึกจริง ๆ ของตนเองออกมา จึงทำให้ถูกทำร้ายซ้ำ ๆ แบบวนลูป และมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำรุนแรงมากขึ้นเพราะไม่กล้าสู้ และสุดท้ายเราก็จะบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ


2. การปรับสถานการณ์ที่ผิดปกติให้เป็นปกติ (Normalize abnormal situations)

สถานการณ์ที่ผิดปกติ หรือสถานการณ์แปลกประหลาดในที่นี้ หมายถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งแบบซึ่งหน้า และแบบเนียน ๆ เช่น โดนแซงคิว โดนโยนงาน โดนปาดหน้าเค้ก โดนแย่งผลงาน แต่เราผู้ซึ่งมองโลกในแง่ดีขั้นสุดก็พยายามยอมรับความแปลกประหลาด ความไม่ถูกต้องเหล่านั้น แล้วมองว่าเป็นสิ่งปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่แก้ไขปัญหา หรือป้องกันปัญหาใด ๆ


3. การเพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัว (Ignorance)

เมื่อเกิดเหตุร้าย ๆ หรือเหตุรุนแรงขึ้นมาในสังคม คนที่มองโลกในแง่ดีจนเป็นพิษ ก็จะเลือกที่จะไม่รับรู้เหตุการณ์หรือสถานการณ์นั้น ๆ เพราะไม่อยากให้ตนเองเครียด กังวล แต่ความเพิกเฉย ความไม่สนใจใยดีต่อสถานการณ์รอบข้างนี่เองก็ส่งผลให้เราไม่ทันได้ตั้งรับต่อผละกระทบที่อาจจะตามมา เช่น การพยายามใช้ชีวิตปกติในสถานการณ์ Covid – 19 แต่ดันลืมคิดไปว่าโรคระบาดไม่ได้ส่งผลเสียแค่สุขภาพเท่านั้น ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจและหน้าที่การงานด้วย หากเราไม่ทันตั้งรับ หรือไม่กังวลกับสถานการณ์เท่าที่ควร เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ติด Covid – 19 หรือตกงานเพราะพิษเศรษฐกิจที่แย่มาจาก Covid – 19 เราจะไม่มีภูมิต้านทาน และเกิดปัญหาชีวิตตามมา


4. บิดเบือนความจริง (Distortion)

เมื่อผู้ที่มีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) รับรู้เหตุการณ์ที่ไม่สบายใจ ก็จะบิดเบือนด้วยการปลอบใจตัวเองว่า ถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น แต่เราก็ยัง... เช่น เมื่อถูกรถชนเพราะความประมาทของผู้อื่น ก็ปลอบใจตนเองว่า “ถึงเราจะโดนรถชน แต่เราก็ยังรอดชีวิตอยู่” หรือ ถูกให้ออกจากงานกะทันหัน ก็ปลอบใจตนเองว่า “ถึงเราจะถูกให้ออกจากงาน แต่เราก็ยังมีบ้านที่ต่างจังหวัดให้กลับ” ซึ่งคำปลอบใจตนเองเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์จริงดีขึ้นแต่อย่างใด


5. ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Lack of Empathy)

ในกรณีที่ผู้อื่น หรือคนรอบข้างของผู้ที่มองโลกในแง่ดีสุดโต่งต้องประสบปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะถูกคนรักทิ้ง เรียนไม่จบ บ้านไฟไหม้ แมวป่วย ผู้ที่มองโลกในแง่ดีแบบขั้นสุดของเราก็จะปลอบใจว่า “เรื่องแค่นี้เอง” จนปิดใจตนเองที่จะรับฟังความทุกข์ของคนอื่น เพราะมีทัศนคติ หรือ Mindset ว่า ทุกปัญหามีทางออก ซึ่งใช่ค่ะว่าทุกปัญหามีทางออก แต่กว่าจะออกจากปัญหาได้เราต้องใช้เวลาและต้องอยู่กับมันไปสักพัก เพราะฉะนั้นคำว่า “เรื่องแค่นี้เอง” ของผู้มองโลกในแง่ดีแบบสุด ๆ จึงอาจทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกดำดิ่งลงเหวได้


6. โทษผู้อื่น และหาข้ออ้าง (Projection and Rationalization)

เมื่อเกิดปัญหา สิ่งแรกที่ผู้ที่มีภาวะความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) จะคิดก็คือ สิ่งนี้เป็นความผิดของคนอื่น ไม่ใช่ความผิดของฉัน นั่นจึงทำให้เมื่อเกิดปัญหาผู้ที่มองโลกในแง่ดีเกินไปจึงมีแนวโน้มจะกล่าวโทษคนอื่น หรือหาข้ออ้างให้กับตนเองในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อโดนเจ้านายตำหนิเรื่องการทำงาน ก็จะปกป้องสภาพจิตใจโดยอัตโนมัติด้วยการกล่าวโทษคนอื่นว่า เพราะแผนก A ส่งงานช้า เราเลยทำงานต่อลำบาก หรืองานมันเร่งด่วนเกินไป ผลงานจึงออกมาไม่ดี เป็นต้น ซึ่งนั่นทำให้เราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และไม่เกิดการพัฒนาตนเองอีกด้วย


ดังนั้นเพื่อป้องกันและแก้ไขความคิดบวกขั้นสุดโต่ง นักจิตวิทยาจึงได้แนะนำวิธีการปรับความคิดให้พอดี 4 ข้อ ดังนี้


1. รับรู้อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และถ่ายทอดออกมาอย่างมีวุฒิภาวะ

เมื่อเราถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนได้รับความกระทบกระเทือนในระดับที่เกินจะรับไว้ นักจิตวิทยาแนะนำว่าให้พูดบอกความรู้สึกกับคนที่ทำร้ายเราให้เขาได้รับรู้บ้าง แต่การถ่ายทอดออกมานั้น ต้องมีเทคนิคเล็กน้อย คือ ต้องถ่ายทอดออกมาแบบมีวุฒิภาวะ หมายความว่า ให้บอกความรู้สึกว่าเราไม่โอเคนะ แต่ต้องพูดด้วยเหตุผลว่าเราไม่โอเคเพราะอะไร และพยายามไม่กล่าวโทษเขา แต่ให้สื่อสารด้วย I massage คือ ฉันคิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะดีกว่า หรือฉันจะรู้สึกดีขึ้นมากถ้าคุณทำแบบนี้


2. กล้าที่จะโต้แย้งในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

หากเรารู้สึกถูกลิดรอนสิทธิ หรือรู้สึกได้รับความไม่เป็นธรรม เราควรโต้แย้งเพื่อปกป้องสิทธิของเรา แต่การโต้แย้งนั้นต้องทำด้วยความระมัดระวัง คือ ไม่ให้ร้ายใคร โต้แย้งด้วยความสุภาพ หรือยื่นหลักฐานต่อผู้มีอำนาจเพื่อขอความช่วยเหลือ เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้ชีวิตและทรัพย์สินของตัวเราเองด้วย


3. เข้าอกเข้าใจตนเอง ไปพร้อม ๆ กับการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

การเข้าอกเข้าใจตนเอง จะทำให้เรารักษาสุขภาพจิตตนเองได้ดี เพราะเราจะไม่ยอมรับในสิ่งที่รบกวนจิตใจ และไม่ยอมให้เราถูกกระทำจนเจ็บตัวเจ็บใจ และการเข้าอกเข้าใจตนเองนี้จะพัฒนาไปสู่การเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น เพราะเราจะมีความคิดว่า “อยากได้อะไรต้องให้เขาก่อน” และ “ถ้าไม่ชอบอะไรอย่าทำแบบนั้นกับคนอื่น”


4. มองโลกตามความเป็นจริง

การมองโลกที่ดีที่สุด คือ การมองโลกตามความเป็นจริง โดยพิจารณาสถานการณ์ตามความเป็นจริง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม อีกทั้งการมองโลกตามความเป็นจริงยังช่วยให้เรายอมรับตนเองได้มากขึ้นทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งช่วยให้เราพัฒนาตนเองให้ดีกว่าเดิมได้อีกด้วย


การมองโลกในแง่ดีเป็นสิ่งที่ดีต่อใจ แต่ถ้ามองโลกในแง่ดีมากเกินไปก็จะเป็นพิษ เพราะทำให้เราไม่อยู่กับความเป็นจริง อีกทั้งยังทำให้เรามองไม่เห็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ส่งผลให้เราแก้ปัญหาในชีวิตไม่ถูกจุด และก็เกิดวังวนปัญหาแบบวนลูปต่อเนื่องไม่รู้จบ ดังนั้นเราจึงควรปรับความคิดให้พอดี เพื่อไม่ให้ชีวิตเกิดปัญหาในอนาคต


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

[1] ตุ๊ดส์ review. (2565, 24 กุมภาพันธ์). Toxic Positivity คิดบวกจนเป็นพิษต่อชีวิต เป็นยังไง?. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2566 จาก

https://www.facebook.com/tootsyreview/photos/a.333394177132770/1338499006622277/

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page