top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รับมือกับ Toxic Masculinity แนวคิดที่ไม่อนุญาตให้ผู้ชายเจ็บได้ร้องไห้เป็น



เมื่อพูดถึงคุณสมบัติของผู้ชาย คนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ก็มักจะนึกถึงความเข้มแข็งบึกบึน มีความอดทนสูง เสียสละ เป็นผู้นำ มากไปกว่านั้นคือบางสังคมได้สร้างมาตรฐานให้ผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ และบอกว่าผู้ชายไม่ควรแสดงออกทางอารมณ์หรือระบายปัญหาออกมาให้ใครสักคนฟังเพราะมันคือความอ่อนแอ แนวคิดเช่นนี้สะท้อนถึงความเป็น “Toxic Masculinity” ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นพิษต่อผู้ชายและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนในสังคมได้ เนื่องจากองค์ประกอบของสุขภาพจิตโดยหลักใหญ่ ๆ แล้วมันประกอบไปด้วยปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่ง Toxic Masculinity เป็นหนึ่งในปัจจัยทางสังคมที่สามารถส่งผลต่อคนทุกเพศทุกวัยที่อยู่ภายใต้แนวคิดนี้

แนวคิดแบบ Toxic Masculinity คืออะไร?

Toxic หมายถึง ความเป็นพิษ ส่วน Masculinity หมายถึง ความเป็นชาย Toxic Masculinity จึงแปลตรงตัวได้ว่า ความเป็นชายที่เป็นพิษ โดย Journal of School of Psychology ได้นิยามความหมายของ Toxic Masculinity ว่าเป็นรูปแบบความคิดของกลุ่มคนในสังคมที่มีความถดถอยเกี่ยวกับความเป็นชายที่นำไปสู่การกดขี่ข่มเหง การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง การรังเกียจรสนิยมทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน รวมไปถึงพฤติกรรมรุนแรงป่าเถื่อนที่ผู้ชายกระทำออกมา


ความเป็น Toxic Masculinity มักสะท้อนออกมาผ่านทางแนวคิด 3 แนวคิดหลัก ๆ ได้แก่

  • ผู้ชายคือความแข็งแกร่ง ผู้ชายจึงถูกคาดหวังให้มีความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ชายที่ตัวโตกล้ามใหญ่มักจะได้รับการยกย่อง ส่วนผู้ชายที่ตัวเล็กผอมบางมักจะถูกกลั่นแกล้งล้อเลียนจากคนอื่น ๆ


  • ผู้ชายคือขั้วตรงข้ามกับความเป็นหญิง ผู้หญิงมักจะถูกเหมารวมว่าเป็นเพศแห่งความอ่อนแอ ขี้แง บอบบาง ดังนั้น ผู้ชายที่มีลักษณะอ่อนไหวจึงมักถูกล้อเลียนไปจนถึงเหยียดหยาม และผู้ชายมักถูกคาดหวังให้ไม่แสดงออกทางอารมณ์ออกมา บางสังคมไม่อนุญาตให้เด็กผู้ชายร้องไห้ เมื่อเด็กผู้ชายหกล้มก็จะไม่มีใครปลอบโยนแต่จะบอกให้ลุกขึ้นมา หากร้องไห้ก็จะถูกดุด่าหัวเราะเยาะ และบางสังคมก็แบ่งความเป็นหญิงเป็นชายออกอย่างชัดเจน เช่น ผู้หญิงใช้สีชมพู ผู้ชายใช้สีฟ้า ผู้หญิงเล่นตุ๊กตา ผู้ชายเล่นหุ่นยนต์รถถัง เป็นต้น


  • อำนาจเท่ากับความเป็นชาย ผู้ชายจะถูกคาดหวังให้มีอำนาจบารมีใหญ่โต บางสังคมมีวาทกรรมยกย่องอำนาจของผู้ชายอย่างชัดเจน เช่น “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” โดยเฉพาะสังคมแบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) จะมีแนวปฏิบัติทางสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง และจะต้องสะสมอำนาจบารมีเพื่อที่จะได้การยอมรับนับถือจากคนอื่นในสังคม


ผลกระทบจาก Toxic Masculinity

แม้แต่สังคมที่ขึ้นชื่อว่า “ชายเป็นใหญ่” ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะได้ประโยชน์จากมันเสมอไป เพราะผู้ชายเองก็มักจะถูกกดทับด้วยความคาดหวังทางสังคมเป็นอย่างมาก และ Toxic Masculinity ก็ส่งผลกระทบหลายด้านด้วยกัน เช่น


  • ผู้ชายเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

    เพราะผู้ชายจะถูกคาดหวังให้เข้มแข็งสามารถจัดการทุกปัญหาได้ด้วยตัวเอง การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นจะถูกมองว่าเป็นผู้ชายที่ไม่เอาไหน อ่อนแอ ทำให้ผู้ชายจำนวนมากตัดสินใจที่จะไม่รับความช่วยเหลือจากใครรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะชุมชนที่ให้คุณค่าเรื่องความเป็นชายและมี Toxic Masculinity เกิดขึ้น ผู้ชายจะเลือกวิธีหนีปัญหา เช่น หันไปดื่มสุรามากขึ้น สูบบุหรี่จัดขึ้น ใช้สารเสพติด แทนที่จะเข้าพบจิตแพทย์


    เนื่องจากสังคมแบบชายเป็นใหญ่จะมองว่าการดื่มเหล้าสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่โก้เก๋ ขณะที่การปรึกษาใครสักคนเป็นสิ่งที่น่าอับอาย โดยข้อมูลจากวารสารจิตแพทย์แห่งประเทศไทยพบว่าเพศชายมักฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิงในอัตราส่วน 3:1 หมายถึง ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจาก Toxic Masculinity


  • ปัญหาการเหยียดเพศ

    เพราะสังคมให้นิยามความเป็นชายว่าจะต้องมีลักษณะเผชิญหน้า ห้าวหาญ ฮึกเหิม บึกบึนสมเป็นชายชาตรี ซึ่งอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมเหยียดเพศสภาพของผู้อื่น โดยจากการศึกษาของ National School Climate Survey (2015) พบว่า 85% ของนักเรียนที่เป็น LGBTQ+ เคยถูกคุกคามทางวาจา และยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนที่ไม่แสดงออกทางเพศแบบชัดเจนก็มักจะถูกล้อเลียนกลั่นแกล้งและถูกตีตราว่าเป็น LGBTQ+ ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนชายที่มีนิสัยอ่อนโยนเรียบร้อยหรือยอมคนก็จะถูกล้อว่า “เป็นตุ๊ด”


  • ปัญหาการใช้ความรุนแรง

    ในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่มีความ Toxic Masculinity นั้น ไม่อนุญาตให้ผู้ชายแสดงออกทางอารมณ์ออกมา เพราะมีมุมมองความเชื่อว่ามันเป็นลักษณะของผู้หญิง หรือจะพูดได้ว่าในสังคมลักษณะเช่นนี้ไม่อนุญาตให้ผู้ชายเจ็บได้ร้องไห้เป็น ทำให้ผู้ชายไม่สามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างตรงไปตรงมา มีการเก็บกดทางอารมณ์ มีความเครียดสะสม และเมื่อความตึงเครียดพุ่งสูงไปจนถึงในระดับที่มากเกินกว่าจะทนรับไหวก็จะเกิดการระเบิดทางอารมณ์


    ซึ่งเมื่อการปะทุทางอารมณ์มารวมกับพละกำลังทางชีววิทยาของเพศชายแล้ว มันก็สามารถนำไปสู่การใช้ความรุนแรงขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งมีความเชื่อว่าพ่อหรือสามีจะต้องเป็นผู้หารายได้ ต้องประกอบอาชีพที่มีเกียรติ ต้องสร้างสถานะทางสังคมให้ครอบครัวได้รับการยกย่องชื่นชมจากคนอื่น ต้องปกป้องศักดิ์ศรีของคนในครอบครัว รวมถึงต้องไม่ขอความช่วยเหลือจากใครเพราะมันคือความอ่อนแอ ผู้ชายในครอบครัวนี้ก็อาจจะหันไปลดความเครียดให้ตนเองด้วยการดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติด


    ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ถูกไล่ออกจากงานอันมีเกียรติ มีปัญหาด้านการเงิน มีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง เมื่อปัญหาถาโถมมาทุกด้านแต่ไม่อาจขอความช่วยเหลือจากใครได้ และไม่กล้าที่จะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ความเครียดที่เกิดขึ้นมาอย่างรุนแรงก็อาจชักนำให้เขากระทำความรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่นได้


สำหรับการรับมือกับ Toxic Masculinity นั้นก็คือให้คุณเริ่มจากการตระหนักถึงการมีอยู่ของแนวคิดนี้ และหมั่นสังเกตว่าตนเองกำลังตกอยู่ในกรอบความคิดความเชื่อเช่นนี้ด้วยหรือไม่ และสิ่งสำคัญคือขอให้ลองเปิดใจยอมรับความเป็นจริงว่าไม่มีมนุษย์คนไหนที่สมบูรณ์แบบ ผู้ชายก็เป็นมนุษย์ที่เจ็บได้ร้องไห้เป็นเหมือนกัน หากมีปัญหาที่แก้ไขได้ยากโดยเฉพาะปัญหาทางอารมณ์ที่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันก็สามารถพบจิตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขได้ ซึ่งมันโอเคมากที่จะทำแบบนั้น


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] What Is Toxic Masculinity. Retrieved from https://www.verywellmind.com/what-is-toxic-masculinity-5075107

[2] What to know about toxic masculinity. Retrieved from https://www.verywellmind.com/what-is-toxic-masculinity-5075107

[3] Journal of the Psychiatrist Association of Thailand. https://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/v4316f.html


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Kommentare


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page