4 เทคนิคจิตวิทยา ในการฟื้นฟูจิตใจจากประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experience)
- Chanthama Changsalak
- Dec 20, 2024
- 2 min read

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราทุกคนล้วนมี Toxic Experience หรือในภาษาไทยเรียกว่า “ประสบการณ์ที่เป็นพิษ” ซึ่งในทางจิตวิทยา หมายถึง ประสบการณ์เชิงลบที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของเรา โดยประสบการณ์เหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ ความสัมพันธ์ หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียด ความเจ็บปวด หรือความทุกข์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาว กลายเป็น “แผลใจ” หรือ “Trauma” หากไม่ได้รับการเยียวยาหรือจัดการอย่างเหมาะสม
ในงานศึกษาทางจิตวิทยา พบว่า สาเหตุของประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experience) เกิดจากสาเหตุหลัก ๆ 4 ประการ ดังนี้
ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationships)
ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationships) ส่งผลต่อการเกิดประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) โดยตรง เนื่องจากการมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ จะบั่นทอนความภาคภูมิใจในตนเอง ทำร้ายทางอารมณ์ และสร้างภาระทางจิตใจ ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้ง สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง เกิดความกลัวการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ จนอาจเกิดการพัฒนารูปแบบความคิดหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความระแวง หรือการไม่เชื่อใจผู้อื่น
สภาพแวดล้อมที่เป็นลบ (Negative Environments)
สภาพแวดล้อมที่เป็นลบ (Negative Environments) เช่น เสียงดัง สกปรก หรือมีความไม่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะส่งผลให้เกิดความเครียดเรื้อรัง และขาดความปลอดภัยทางอารมณ์ ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) ที่นำไปสู่การรับรู้ตนเองในทางลบ การตัดสินใจไม่สมวัย และปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบทางลบทั้งด้านร่างกายและจิตใจในระยะยาวได้
การสูญเสียและการบอบช้ำทางจิตใจ (Loss and Psychological Trauma)
การสูญเสีย (Loss) และการบอบช้ำทางจิตใจ (Psychological Trauma) เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ทำให้บุคคลต้องเผชิญกับความรู้สึกเจ็บปวด สับสน สูญเสียสิ่งที่รัก รวมถึงสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมมองต่อโลกหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางลบอย่างรุนแรงได้
การประสบความล้มเหลวหรือผิดหวังซ้ำ ๆ (Repeated Failures or Disappointments)
การประสบความล้มเหลวหรือผิดหวังซ้ำ ๆ (Repeated Failures or Disappointments) สามารถส่งผลให้เกิดประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) ได้ เนื่องจากการผิดหวังซ้ำ ๆ จะส่งผลให้บุคคลเกิดภาวะคิดลบต่อตนเอง ต่ออนาคต และต่อโลก มีความคิดด้อยค่าตนเอง ซึ่งความคิดและความเชื่อทางลบเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อในตนเอง ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และมุมมองต่อชีวิตในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) จำบั่นทอนและทำร้ายจิตใจเรา แต่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยากลับศึกษาพบว่า หากมีการจัดการประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) อย่างเหมาะสม จะส่งผลให้เรามีการเติบโตทางจิตใจ มีความเข้มแข็งและมีมุมมองชีวิตที่ลึกซึ้งขึ้น มีการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา และเพิ่มความสามารถในการจัดการอารมณ์ มีความตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพิ่มขึ้น
โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้แนะนำ 4 เทคนิคจิตวิทยา ในการฟื้นฟูจิตใจจากประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experience) ดังนี้
การตระหนักรู้และยอมรับ (Awareness and Acceptance)
การตระหนักรู้ (Awareness) และการยอมรับ (Acceptance) เป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูจิตใจจากประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) เพราะทั้งสองกระบวนการสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้และจัดการกับอารมณ์ที่ยากลำบากของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการเผชิญหน้าและเข้าใจความรู้สึกภายในตนเอง มากกว่าการหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธอารมณ์เหล่านั้น
การพูดคุยและการขอความช่วยเหลือ
การพูดคุยและการขอความช่วยเหลือไม่ได้เป็นเพียงการระบายความทุกข์ใจ แต่ยังช่วยให้บุคคลพัฒนาความเข้มแข็งภายในและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการฟื้นฟูจิตใจจากประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) เนื่องจากการพูดคุยและการขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ไว้ใจได้ เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ ซึ่งนำไปสู่การยอมรับตนเอง การเปิดมุมมองใหม่ต่อชีวิต เกิดความเชื่อมโยงกับผู้คนที่เรารัก นำไปสู่ความเข้าใจตนเอง และการพาตัวเองมาสู่พื้นที่ปลอดภัยในที่สุด
การพัฒนากลไกการเผชิญปัญหา (Coping Mechanisms)
การพัฒนากลไกการเผชิญปัญหา (Coping Mechanisms) เป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญในการฟื้นฟูจิตใจจากประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experience) เพราะช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัว จัดการกับความเครียด และฟื้นฟูความสมดุลทางอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการพัฒนากลไกการเผชิญปัญหา เป็นการลดผลกระทบทางอารมณ์ สร้างความมั่นคงทางจิตใจ เปลี่ยนมุมมองต่อประสบการณ์ นำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหา ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดความทุกข์ในระยะสั้น แต่ยังสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ทำให้บุคคลสามารถเติบโตและเรียนรู้จากประสบการณ์ได้อย่างมีคุณภาพ
การตัดขาดหรือจำกัดปฏิสัมพันธ์กับสิ่งหรือบุคคลที่เป็นพิษ (Toxic Environment or People)
การตัดขาดหรือจำกัดปฏิสัมพันธ์กับสิ่งหรือบุคคลที่เป็นพิษ (Toxic Environment or People) เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการฟื้นฟูจิตใจจากประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experience) เนื่องจากช่วยลดความเครียดและเปิดโอกาสให้บุคคลมีพื้นที่ในการฟื้นตัวและเติบโตอย่างเหมาะสม ผ่านการการจำกัดปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือคนที่เป็นพิษ ซึ่งจะช่วยให้บุคคลสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ที่ปราศจากการวิจารณ์ การกดดัน หรือการทำร้ายจิตใจ นำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีสติและเหมาะสม สามารถช่วยสร้างชีวิตที่สมดุลและเป็นสุขในระยะยาว
ถึงแม้ว่าประสบการณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Experiences) จะเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ถ้าหากเรามีเทคนิคในการฟื้นฟูจิตใจที่เหมาะสม ดังเช่น 4 เทคนิคจิตวิทยาที่ได้แนะนำไปข้างต้น จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาทางจิตใจได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อการมีความสุขในระยะยาวอย่างยั่งยืน
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : Trauma ทำไมบาดแผลทางใจในวัยเด็กมีผลเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่(https://www.istrong.co/single-post/why-childhood-trauma-affects-adulthood?srsltid=AfmBOopgpoo85cqj7EkudVGcAkBBTlc_Ya1LActwztDIAbpYRuA1ycrg)
อ้างอิง : 1.Center on the Developing Child at Harvard University. (n.d.). What are ACEs? And how do they relate to toxic stress? Retrieved from https://developingchild.harvard.edu/
2.Mental Health America. (n.d.). Impact of toxic stress on mental health. Retrieved from https://www.mhanational.org/
3.Nelson, C. A., & colleagues. (2021). Adversity in childhood is linked to mental and physical health outcomes. Retrieved from https://www.bmj.com/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้