top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จิตวิทยาว่าด้วยเรื่องการไม่ตัดสินใจ


การไม่ตัดสินใจ

เมื่อปัญหา...ว่าด้วยการไม่ตัดสินใจ : “The Causes of Indecision”


“วันนี้ ... กินอะไรดีอะ”

คำถามยอดฮิตที่ทุกคนต้องเคยเจอแน่ๆ ในทุกครั้งของมื้ออาหาร และหลายๆครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ท่ามกลางร้านอาหารต่างๆมากมาย คำถามเบสิคที่เกิดขึ้นบ่อยๆในชีวิตประจำวัน แต่ใครจะรู้ว่าจริง ๆ มันอาจจะเป็นต้นเหตุมาจากการที่เราเป็นคนที่ไม่รู้จักตัดสินใจก็เป็นได้ มันมีทฤษฎีเรื่องการไม่ตัดสินใจ (A Psychological Theory of Indecisiveness) ของนักจิตวิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ ได้กล่าวไว้ว่า เรื่องของการไม่ตัดสินใจนั้น จริงๆมาจากการที่เรามีปัญหาทางด้านการตัดสินใจของเรานั้นเอง หรืออาจจะเป็นเพราะว่า เรามีทางเลือกที่มากเกินไป หรือ เราต้องการจะตามใจใครมากไปรึเปล่า เราเลยไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เอง คำตอบเราเลยออกมาเป็นคำว่า “ไม่รู้ ... แล้วเอาไงดีล่ะ” หรือแม้แต่ว่า การที่เราไม่ตัดสินใจ มันกลายเป็นการที่เรากลายเป็นคนเรื่องมาก เหมือนที่เราเคยได้ยินตามหนังไทยทั่วๆไปที่ว่า เวลาจีบสาว เค้ามักจะบอกว่า เวลานัดเดท ผู้หญิง มักเป็นคนกินง่าย อะไรก็ได้


แต่จะทานสปาเก็ตตี้ไหม .... ไม่เอา เดี๋ยวเส้นกระเด็น แลดูไม่งาม งั้นก๋วยเตี๋ยว .... ว๊าย จะดีเหรอ เดี๋ยวเสื้อเปื้อน หรือพิซซ่า ง่ายๆดี .... เอ๊ะ เราจะอ้าปากกว้างไปไหม ไม่เอาดีกว่า ดูไม่เป็นกุลสตรี


สุดท้าย ไม่รู้เหมือนกันว่าจะกินอะไร และตัวสาวเจ้าเอง ก็ไม่รู้สินะ ... ว่าจะอยากกินอะไรเหมือนกัน กลายเป็นว่า ... กลับไปถามชายหนุ่มว่า... ก็บอกแล้วไงว่า “อะไรก็ได้” ... นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการไม่ตัดสินใจเหมือนกัน


แต่ใครจะรู้ว่า ตามทฤษฎีจิตวิทยา เค้าเปิดเผยไว้ว่า... จากเบื้องลึกจากสะดือมหาสมุทร เค้ากล่าวไว้ว่า จริงๆแล้ว การที่ไม่ตัดสินใจเนี่ย อาจจะเป็นเพราะความกลัวอะไรบ้างอย่าง ที่อาจจะเกิดจากความผิดพลาด กลัวการโดนกล่าวโทษ กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หรือ เพราะตั้งแต่เกิดมา ยังไม่เคยคิดอะไรเองเลย มีแต่คนบอกให้ทำ เลยทำให้เกิดปัญหากับตัวเองว่า ... พอบอกให้ตัดสินใจ ... มันจะทำยังไงล่ะเนี่ย ไม่เคยถามตัวเองมาก่อนในชีวิต เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ที่อยู่ๆวันนึงให้มาบอกว่า ให้คิดเอง ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย ....


แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปเหมือนกัน .... เรามีวิธีแก้มานำเสนอ เพราะการแก้ปัญหาว่า “วันนี้กินอะไรดี” มันเป็นปัญหาระดับชาติ ที่เราต้องช่วยกัน

เราอยากให้คุณเริ่มที่เรื่องเล็กๆทุกๆวัน เช่น


เริ่มที่หาว่าสีอะไรทำให้คุณมีความสุข อากาศแบบไหนอยู่แล้วรู้สึกดี อยู่ได้ทั้งวัน เวลาอาบน้ำ ต้องอุณหภูมิเท่าไหนนะถึงจะชอบ .... เรียนรู้หาสิ่งที่ตัวเองชอบในชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ

จนวันนึงค่อยๆหาอะไรที่เป็นบุคลิกส่วนตัวของตัวเอง หนังสือที่ชอบ สไตล์หนังที่ใช่ ที่เที่ยวแบบไหนที่รัก ชอบนักเขียนแบบไหน ชอบดูภาพเขียน หรือ นิยายอะไร

สุดท้าย ขั้น Advance หลังจากได้ลิสต์สิ่งที่ชอบไปแล้ว ลองเขียนสิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่เกลียด สิ่งที่กลัวบ้าง เช่น เกลียดตัวเลข ไม่ชอบจิ้งจก ไม่ชอบตุ๊กแก ไม่ชอบชีส ไม่ชอบส้ม (อารมณ์ไม่ชอบของแปลกๆเหมือนดารา ลองค้นหาดู เผื่อจะรู้สึกว่าตัวเองเป็น Celeb บ้างสักนิด) เพราะยิ่งเรารู้จักตัวเอง มันก็จะยิ่งนำเราไปสู่การตัดสินใจที่ดีมากยิ่งขึ้น

และสิ่งที่ซับซ้อนมากไปกว่านั้น .... มากกว่าการตัดสินใจและไม่ตัดสินใจ นั้นคือ .... บางครั้ง “การไม่ตัดสินใจ ก็คือการตัดสินใจ” ตรงนี้เราเชื่อว่าหลายๆคนเคยทำแน่นอน แต่จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง .... เราอยากให้คุณให้เวลากับตัวเอง เพราะสำหรับตรงนี้ มีเพียงคุณคนเดียวเท่านั้นที่จะรู้ และ ชื่นชมมันได้ เพราะมันคือ “การตัดสินใจขั้น Advance” ค่อยๆหัดตัดสินใจทุกๆวัน ไม่ว่าจะเล็กน้อยสักเท่าไร แล้วคุณจะพบว่า วันนึง ... คุณจะสามารถตัดสินใจเรื่องราวใหญ่ๆได้อย่างมั่นคง

กลับมาตอบคำถามเรื่อง “วันนี้...กินอะไรดี” เรามีคำตอบง่ายๆ ให้ลองไปเล่นดู จากเดิมที่เคยถามว่า วันนี้กินอะไรดี ให้ลองเปลี่ยนเป็นการถามว่า

วันนี้กิน A, B หรือ C..... เช่น วันนี้กินข้าว, ก๋วยเตี๋ยว หรือ พิซซ่าดี สร้างกรอบคำถามให้แคบ ลดทางเลือกให้คำตอบ ... ทีนี้ เราก็จะได้สิ่งที่เราต้องการที่แคบลง และ ถูกใจมากขึ้น ลดทางเลือก ไม่ต้องตามใจใคร และอย่าเป็นคนอะไรก็ได้

ลองนำไปใช้ดูนะคะ “ว่าแต่วันนี้ .... กินอะไรดีนะ”

 

พันธ์ทิพย์ เลิศบรรณพงษ์ Managerial Psychology, Manchester University

 

เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา


iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


 

Reference:

Uncovering Hidden Causes of indecision: Simple solution to help you make decisions and employer your life, July 24, 2017, www.psychologytoday.com


Netherlands journal of psychology , March 2007, Volume 63, Issue 1, pp 1–11


Anderson, C.J. (2003). The psychology of doing nothing: Forms of decision avoidance result from reason and emotion. Psychological Bulletin, 129, 139-167

コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page