การเล่นอินเตอร์เน็ตมากเกินไป เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้นะ
ในยุคสมัยที่โรคซึมเศร้ากำลังเป็นโรคฮิตของคนเมือง ทั้ง ๆ ที่สมัยนี้เราสามารถท่องไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วเพียงใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์ หรือใช้เมาส์คลิกเข้าไปในเว็บไซต์ต่าง ๆ และเราสามารถผูกมิตรและมีเพื่อนมากมายทั้งที่เคยรู้จักในชีวิตจริง และไม่เคยพบเจอกันมาก่อนอยู่ในโลกออนไลน์
แต่ท่ามกลางกระแสที่เปลี่ยนรวดเร็วเหล่านี้ กลับพบว่ามีคนที่รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว อ้างว้างอยู่เป็นจำนวนมากจนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จนเกิดความสงสัยว่า การที่เรามีเพื่อนมากมายเป็นภูเขา ยังเป็นโรคซึมเศร้าได้ยังไงนะ? เพื่อเป็นการไขข้อข้องใจข้างต้น ในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกันค่ะ
จากรายงานของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.15 ของคนไทยทั้งประเทศ โดยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเพียง ร้อยละ 61.21 หรือประมาณ 918,150 ราย นั่นหมายความว่ายังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกกว่า ร้อยละ 38.79 หรือประมาณ 581,850 คนที่ไม่มารับการรักษา และจากการที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางส่วนที่ไม่มารับการรักษานี่เองที่ทำให้เกิดสถิติที่ว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีคนไทยฆ่าตัวตายประมาณเกือบ 40,000 ราย และในจำนวนนั้นสามารถฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 340 รายต่อเดือน ซึ่งเป็นเพศชายสามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จมากกว่าเพศหญิง
จากสถิตินี้ คุณหมอวรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นชื่อดังได้กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย เป็นผลมาจากการใช้อินเตอร์เน็ต การจมอยู่ในโลกออนไลน์ มากเกินไป ยิ่งใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์นานเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยด้านจิตวิทยาของ The University of Leeds มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอังกฤษ ที่ได้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างหนักและโรคซึมเศร้า โดยได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 1,319 คน ที่มีช่วงอายุระหว่าง 16 - 51 ปี พบว่าโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์อย่างมากกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นเวลานาน
เช่นเดียวกับงานวิจัยด้านจิตวิทยาของ Missouri University of Science and Technology ที่ได้ทำการศึกษานักเรียนจำนวน 216 คน ในโรงเรียน จากผลการศึกษา พบว่า นักเรียนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าจะใช้เวลาอย่างมากในการท่องเว็บไปเรื่อย ๆ แบบสุ่ม มีเวลาการใช้งานอินเตอร์เน็ตไม่สม่ำเสมอ มักจะใช้โปรแกรมประเภท file-sharing และส่งอีเมลล์มากกว่าคนปกติ ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่ารูปแบบการท่องอินเตอร์เน็ตแบบสุ่ม แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องสมาธิ และเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า
นอกจากนี้แล้ว Lawrence Lam นักจิตวิทยาและนักวิจัยชาวจีน ได้ทำการวิจัยในวัยรุ่น ชาวจีน อายุ 13 – 18 ปี จำนวน 1,041 คน ซึ่งไม่เคยมีประวัติการเป็นโรคซึมเศร้า โดยเก็บข้อมูลจากชั่วโมงการใช้อินเตอร์เน็ต ผลการศึกษาพบว่า วัยรุ่นที่ใช้อินเตอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 5 – 10 ชั่วโมงต่อวัน เริ่มจะปรากฏอาการเป็นโรคซึมเศร้า และพบว่าวัยรุ่นที่ติดการเล่นอินเตอร์เน็ต (ใช้มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน) มีอาการ ของโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปถึง 1 เท่าครึ่ง
จากรายงานผลของกรมสุขภาพจิต และงานวิจัยข้างต้น คุณผู้อ่านจะเห็นลักษณะร่วม ของงานศึกษา ก็คือ มักไปทำการศึกษาในกลุ่มวัยรุ่น และถึงแม้ว่าผลการศึกษาจะไม่ได้ชี้ชัดว่า อินเตอร์เน็ต คือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า แต่ผลการศึกษาล้วนแสดงให้เห็นว่าการใช้อินเตอร์เน็ตมีความสัมพันธ์ อย่างมากกับโรคซึมเศร้า พูดง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งเล่นมากยิ่งเสี่ยงมาก และกลุ่มที่ควรให้ความสนใจหรือเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ก็คือ กลุ่มวันรุ่นช่วงมัธยมถึงวัยเรียนมหาวิทยาลัยค่ะ
แต่สิ่งที่น่าเสียดายของผลการศึกษาข้างต้น ก็คือ ยังขาดการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะ และหากเป็นไปได้น่าจะมีการศึกษาเปรียบเทียบผลการใช้อินเตอร์เน็ตระหว่างกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาและกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา รวมถึงศึกษาไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้อินเตอร์เน็ตกับการฆ่าตัวตาย ก็จะยิ่งทำให้เรา ๆ ได้มองเห็นผลอีกด้านของการใช้อินเตอร์เน็ตมากเกินไป และพึงระวังในการใช้งานมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ
พอมาถึงตรงนี้แล้ว หากคุณผู้อ่านท่านใดที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นงานอดิเรกเริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ...เราเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่านะ? ก็สามารถเช็คตัวเองได้ที่บทความทางจิตวิทยา “เช็ค 25 อาการเสี่ยงโรคซึมเศร้า” โดยคุณพิชาวีร์ เมฆขยาย หรือเกิดคำถามว่า ถ้าไม่เล่นอินเตอร์เน็ต แล้วควรทำอะไรเพื่อฆ่าเวลาดีละ? บทความจิตวิทยา “5 วิธีรับมือกับสภาวะซึมเศร้าภัยเงียบของคนโสด” โดยคุณจิตรทิวา ทองหนัก และ “4 วิธีคลายความเหงาสำหรับชาวสังคมก้มหน้า” โดยคุณ Ungkana Kerttongmee ก็มีคำตอบให้คุณผู้อ่านค่ะ แต่หากคุณผู้อ่านสนใจบทความจิตวิทยาที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าของผู้เขียนเองก็สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ “เราเป็นซึมเศร้าหรือเราแค่เครียดกันนะ”
นอกจากนี้แล้ว หากคุณผู้อ่านมีปัญหาไม่รู้จะปรึกษาใคร ทาง iStrong มีนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญคอยรับฟังและให้คำปรึกษาแก่คุณผู้อ่านเสมอนะคะ บทความหน้าจะเป็นอะไรนั้น พบกันใหม่ ใน iStrong ค่ะ
____________________________________________________
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
____________________________________________________
อ้างอิง :
1. กรมสุขภาพจิต. 25 สิงหาคม 2561. “จิตป่วย” ภัยคุกคามสังคมไทย? จุดชนวนทำผิด... ไม่ต้องรับผิด?. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2562 จาก https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28157
2. กรมสุขภาพจิต. 2561. ร้อยละของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการสุขภาพจิต.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2562 จาก http://healthkpi.moph.go.th/kpi/kpi-list/view/?id=1067
3. ไทยรัฐ. 21 กุมภาพันธ์ 2562. เผยสถิติฆ่าตัวตาย ตกเดือนละ 340 ราย จากปัญหาซึมเศร้า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2562 จาก https://www.thairath.co.th/news/local/1501108
4. dailygizmo. 20 พฤษภาคม 2012. วิเคราะห์โรคซึมเศร้าจากการท่องเน็ต. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2562 จาก https://www.dailygizmo.tv
5. posttoday. 3 สิงหาคม 2553. วิจัยชี้วัยรุ่นติดเน็ทเสี่ยงซึมเศร้าสูง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2562 จาก https://www.posttoday.com/world/42470
Comments