สิ่งจำเป็นที่ผู้ใหญ่ควรรู้เพื่อป้องกันไม่ให้วัยรุ่นฆ่าตัวตาย
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามข่าวสารในสื่อต่าง ๆ ข่าวหนึ่งที่มักจะเห็นอยู่เรื่อย ๆ ก็คือข่าวการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการถูกเพื่อนกลั่นแกล้งจนทนไม่ไหว ความทุกข์จากบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือแม้แต่สาเหตุที่ไม่แน่ชัดทำให้ผู้คนสันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา แต่ไม่ว่ามันจะมาจากสาเหตุอะไร ก็ล้วนแต่นำมาซึ่งความเจ็บปวดของคนใกล้ชิดของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายและความสลดใจของผู้คนในสังคม โดยในทางสถิติพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่นมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจและขาดทักษะในการรับมือกับความเครียด เช่น การถูกปฏิเสธ การเลิกกับแฟน ความรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว มีปัญหากับคนในครอบครัวหรือครอบครัวทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งเด็กและวัยรุ่นบางคนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครจนทำให้เกิดความเชื่อขึ้นมาว่าการตายคือทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น
ลักษณะของวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
1. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน เคยพูดเปรย ๆ ว่าอยากตายหรือบอกว่าจะฆ่าตัวตาย
2. บ่นว่าเบื่อหน่าย ท้อใจ เศร้า มีท่าทางโศกเศร้า หงอยเหงา มีพฤตกรรมแยกตัวเองออกจากสังคม
3. มีพฤติกรรมรุนแรงหรือใช้สารเสพติด
4. มีอาการของโรคทางจิตเวช
ควรทำอย่างไรเมื่อวัยรุ่นในครอบครัวพยายามฆ่าตัวตายหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย?
1. หากวัยรุ่นตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉินให้รีบเรียกรถพยาบาลโดยด่วน
2. หากวัยรุ่นยังมีสติ อย่าเพิ่งด่วนตำหนิ ให้พยายามรับฟังว่าเขารู้สึกอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง
3. ควรพาวัยรุ่นเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับความช่วยเหลือในด้านอารมณ์และสภาพจิตใจ
ผู้ใหญ่สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้วัยรุ่นฆ่าตัวตาย?
หากคุณมีลูกหลานอยู่ในช่วงวัยรุ่น คุณสามารถค่อย ๆ ทำตามไปทีละ step ดังนี้
1. หมั่นสังเกตท่าทางพฤติกรรมของลูกหลาน อย่ารอให้เขาเป็นฝ่ายเข้ามาหา แต่หากสังเกตพบว่าลูกหลานเริ่มมีท่าทางเศร้า วิตกกังวล หดหู่ หรือกำลังประสบกับปัญหาที่เขาหาทางออกเองไม่ได้ ให้เข้าไปชวนคุยว่าเกิดอะไรขึ้น และลองถามว่าเขาต้องการให้คุณช่วยเหลืออะไรหรือไม่
2. ใส่ใจคำพูดและสิ่งที่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนการมีความคิดฆ่าตัวตาย โดยอาจจะมาในรูปแบบของการพูดลอย ๆ ว่าอยากตาย หรือพูดประโยคที่แสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวัง เช่น “ไม่มีทางแล้ว” “มันจบแล้ว” หากผู้ใหญ่ในบ้านเริ่มสังเกตเห็นสัญญาณเตือนดังกล่าวควรเปิดโอกาสให้เขาได้พูดออกมาและรับฟังให้มาก ๆ โดยไม่ตัดสินว่าการแสดงออกของเขาเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจของวัยรุ่นทั่ว ๆ ไป
3. พยายามสนับสนุนให้วัยรุ่นได้อยู่กับกลุ่มเพื่อนหรือออกมาเจอสังคมบ้าง ไม่ปล่อยให้เขาแยกตัวอยู่ตลอดเวลา
4. คอยสังเกตและดูแลพฤติกรรมการใช้ Social Media ของวัยรุ่น เช่น ดูลักษณะของข้อความที่เขาโพสต์ เปิดอ่านคอมเม้นท์ว่ามีคอมเม้นท์เชิงลบที่อาจทำให้เขารู้สึกแย่หรือไม่ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ว่ามีการถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ รวมถึงคอยสนับสนุนให้เขากล้าไปรับบริการแนะแนวให้คำปรึกษาในโรงเรียน กล้าขอความช่วยเหลือจากครูหากมีปัญหาเกิดขึ้นที่โรงเรียน เพราะการที่วัยรุ่นมีสัมพันธภาพกับครูหรือเพื่อนในโรงเรียนจะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดความคิดฆ่าตัวตายเวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
5. คอยดูแลให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมสุขภาพ เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ขยับเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายบ้างตามความเหมาะสม
6. กรณีที่วัยรุ่นรับการรักษาจากจิตแพทย์อยู่ ควรส่งเสริมให้เขาไปพบจิตแพทย์ตามนัด รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามที่จิตแพทย์แนะนำ รวมไปถึงการชวนให้วัยรุ่นได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยเสริมความรู้สึกดีกับตัวเอง เช่น การทำงานจิตอาสา กิจกรรมกลุ่มบำบัด (Group Counseling or Group Therapy)
7. คอยสังเกตในเรื่องการรับประทานยาจิตเวชว่ามีผลข้างเคียงหรือไม่ เนื่องจากวัยรุ่นบางคนจะมีความคิดฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นหลังจากได้รับยาต้านเศร้าบางตัวโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการเริ่มรับประทานยา อย่างไรก็ตาม ยาต้านเศร้าจะออกฤทธิ์ต่ออารมณ์ให้เป็นไปในทางบวกซึ่งจะลดโอกาสเสี่ยงของการฆ่าตัวตัวตายได้ หากรับประทานยาตามที่จิตแพทย์แนะนำไปแล้วในระยะหนึ่ง ทั้งนี้ หากวัยรุ่นมีความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้นจนดูน่าเป็นห่วงก็สามารถติดต่อกับสถานพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ได้
8. พยายามเก็บสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในการทำร้ายตนเองไว้ห่างจากวัยรุ่น เช่น อาวุธ ของมีคม ยา รวมไปถึงพยายามดูแลในเรื่องของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่น เพราะหากดื่มจนขาดสติอาจนำไปสู่การควบคุมตนเองไม่ได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากคุณสังเกตให้ดีก็จะพบว่า แม้การฆ่าตัวตายในวัยรุ่นจะมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน แต่หากครอบครัวหรือผู้ใหญ่ให้ความใส่ใจ ดูแลอย่างใกล้ชิด และเปิดพื้นที่ทางอารมณ์ให้วัยรุ่นได้ระบายโดยมีผู้ใหญ่คอยรับฟังพร้อมเสนอการให้ความช่วยเหลือหากเขาต้องการ ก็จะสามารถช่วยกันป้องกันไม่ให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายได้
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] จิตเวชศาสตร์รามาธิบดี
[2] Teen suicide: What parents need to know. Retrieved from. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/tween-and-teen-health/in-depth/teen-suicide/art-20044308
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] นักจิตวิทยาเผย 4 สัญญาณเตือน! เสี่ยงฆ่าตัวตาย ในโลกโซเชียล. https://www.istrong.co/single-post/warning-signs-suicide-risk-in-the-social
[2] รู้ทันสัญญาณฆ่าตัวตายก่อนจะสายเกินไป. https://www.istrong.co/single-post/know-about-suicide
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ istrong
Comments