top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เพราะการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่นมันไม่ง่าย ความใส่ใจจากพ่อแม่จึงสำคัญ



แต่ไหนแต่ไรผู้เขียนมักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่าช่วง ม.2 มักเป็นช่วงเวลาที่ปราบเซียนไม่แพ้วัยทอง 2 ขวบเลย ผู้เขียนเองก็มีลูกที่กำลังอยู่ในวัยนี้เช่นกัน จากประสบการณ์ตรงทำให้ผู้เขียนเห็นว่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่นนั้นไม่ง่ายสำหรับเด็กเลยจริง ๆ เด็กในวัยนี้จึงต้องการความใส่ใจและการดูแลที่ถูกต้องจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะหากให้ปล่อยพวกเขาเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านอย่างโดดเดี่ยวลำพังก็อาจจะนำไปสู่ความพังที่สุดท้ายก็ไม่พ้นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องคอยตามแก้ไขปัญหาให้กับลูก 


ในบทความนี้ผู้เขียนได้หยิบยกคำแนะนำในการเลี้ยงลูกวัย 11 – 14 ปีจากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กของฝั่งอเมริกา ซึ่งแม้ว่าบริบททางสังคมวัฒนธรรมจะแตกต่างจากคนไทยอยู่มาก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกสำหรับคนไทยได้เช่นกัน โดยคำแนะนำดังกล่าว มีดังนี้

1. ดูแลความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น ทุกคนจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่งรถ สวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขี่จักรยานหรือเล่นสเก็ต และในบริบทสังคมยุคใหม่ที่แม้แต่ไทยเองก็มีปัญหาคือเรื่องอาวุธปืน หากบ้านของคุณมีปืนก็ควรระมัดระวังไม่ให้ลูกสามารถหยิบปืนออกมาได้ด้วยตัวเอง


2. สนับสนุนทางอารมณ์ความรู้สึก  ได้แก่

  • มีเวลาอยู่กับลูก ซึ่งในที่นี้หมายถึงเวลาคุณภาพ เช่น ทำกิจกรรมด้วยกัน ชวนพูดคุยเรื่องต่าง ๆ

  • หมั่นสังเกตลูก หากพบว่าลูกดูซึมลง หงุดหงิดง่าย มีคำพูดที่แสดงถึงความรู้สึกสิ้นหวัง หรือขี้โมโหมาก ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

  • กล่าวชื่นชมเมื่อลูกทำอะไรได้ดีหรือทำพฤติกรรมที่ดีแทนที่จะชมแต่ภายนอกของลูก


3. ฝึกให้ลูกคิดและตัดสินใจอย่างเหมาะสม ได้แก่

  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก สิ่งใดที่ไม่อยากให้ลูกทำ พ่อแม่ก็ไม่ควรทำ และสิ่งใดที่อยากให้ลูกทำหรือเป็น พ่อแม่ต้องทำและเป็นให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง

  • รู้จักเพื่อน ๆ ของลูก เพื่อให้รู้ว่าลูกกำลังสนิทสนมคลุกคลีอยู่กับผู้คนลักษณะไหนเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นไปได้ก็ทำความรู้จักกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเพื่อน ๆ ของลูกไว้บ้าง

  • เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ลูกสามารถพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ การมีแฟน หรือเรื่องที่ลูกให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านั้นกับพ่อแม่ได้

  • มีข้อตกลงร่วมกันโดยอาจจะทำเป็นกฎของบ้าน ซึ่งกฎที่สร้างจะต้องชัดเจนและเข้าใจได้

  • ถามความคิดเห็นของลูกที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด 


4. ดูแลใส่ใจลูกในด้านต่าง ๆ ได้แก่

  • พาลูกไปพบทันตแพทย์ และสนับสนุนให้ลูกดูแลสุขภาพฟันของตัวเอง

  • เป็นแบบอย่างและสนับสนุนให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ 

  • สนับสนุนให้ลูกมีเวลาออกกำลังกายหรือขยับเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง

  • ใส่ใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของลูก ช่วยลูกจัดสมดุลการใช้เวลากับหน้าจอและเวลาในการทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่างเหมาะสม

  • ใส่ใจพฤติกรรมการเรียนของลูก ฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อการบ้านของตัวเอง


5. สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับครอบครัว ได้แก่

  • ให้โอกาสลูกได้เลือกหรือตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ปฏิบัติกับลูกเหมือนลูกยังเป็นเด็กเล็ก

  • สนับสนุนให้ลูกคิดวิธีแก้ปัญหาของตัวเองโดยมีพ่อแม่ช่วยสนับสนุนหรือเสนอทางเลือก

  • สนับสนุนให้ลูกเลือกงานอดิเรกหรือกิจกรรมยามว่างของตัวเองที่นอกเหนือไปจากการเรียน

  • พาลูกไปร่วมกิจกรรมจิตอาสาหรือสนับสนุนให้ลูกได้เป็นฝ่ายช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง

  • ให้ความช่วยเหลือลูกเมื่อลูกเผชิญกับปัญหาหรือความขัดแย้งในใจ

  • ช่วยให้ลูกรู้วิธีจัดการกับความโกรธหรือกลัวของลูกด้วยวิธีที่ไม่ก้าวร้าวรุนแรง


จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นจำเป็นต้องอาศัยความใส่ใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องทราบก็คือ “สิทธิของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ” โดยประเทศไทยลงนามภาคยานุวัติรับรองเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 ได้แก่

  1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด หมายถึง มีชื่อ ได้รับการจดทะเบียนการเกิด มีสัญชาติ ได้รับการเลี้ยงดูปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมทั้งจากครอบครัวและชุมชน 

  2. สิทธิในการพัฒนา หมายถึง ได้เติบโตเรียนรู้ตามวัย ได้รับการศึกษา และการส่งเสริมให้มีทักษะต่าง ๆ

  3. สิทธิในการมีส่วนร่วม หมายถึง เด็กมีสิทธิในการแสดงออกและมีส่วนร่วมในทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงชีวิตและอนาคตของพวกเขา

  4. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง หมายถึง ได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจทุกรูปแบบ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ การใช้สารเสพติด และการค้ามนุษย์ มีสิทธิที่จะอยู่อย่างปลอดภัย


จากข่าวสลดใจทั่วโลกพบว่าส่วนหนึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเด็กกระทำความผิดทางกฎหมาย หรือข่าวที่เด็กถูกกระทำทารุณกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ผู้เขียนหวังว่าในอนาคตข่าวสลดใจดังกล่าวจะลดลงบ้าง ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกให้ถูกวิธีและรักลูกให้ถูกทาง เพื่อให้เด็กทุกคนได้เติบโตไปเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม หากรู้สึกว่าบทบาทหน้าที่การเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหนักหนาเกินกว่าจะรับไหวหรือบุตรหลานเริ่มมีพฤติกรรมที่คุณเองก็รับมือกับพวกเขาไม่ได้ อย่าลังเลใจที่จะปรึกษาจิตแพทย์นะคะ

และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

อ้างอิง:

[1] American Academy of Pediatrics. Bright Futures. http://brightfutures.aap.org  

[2] Infographic รู้ไหมเด็กทุกคนมีสิทธินะ !! Retrieved from https://www.thaichildrights.org/articles/infographic-what-are-children-rights/


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page