#มีแม่เมื่อพร้อม นักจิตวิทยาแนะ 6 ความพร้อมที่ต้องมีเมื่อเป็นแม่
#มีแม่เมื่อพร้อม กลายเป็นแฮชแท็กร้อนเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ติด#ถึง 459,000 # ภายในไม่กี่ชั่วโมง ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อ “ความเป็นแม่” ว่า คนที่เป็นแม่นั้นควรมีความพร้อมอย่างไรบ้าง ซึ่งในฐานะที่ดิฉันก็เป็นแม่คนหนึ่ง ก้ต้องขอยอมรับตามตรงว่า ตอนที่รู้ตัวว่าจะเป็นแม่คนนั้น ดิฉันไม่ได้มีความพร้อมเลยค่ะ แต่ในเมื่อลูกมาแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะเป็นแม่ของคน ๆ หนึ่งให้ดีที่สุด และความเป็นแม่ก็เป็นเรื่องแปลกค่ะ บางคนอยากเป็นแม่มาก พร้อมจะดูแลชีวิต ๆ หนึ่งมาก แต่เด็กน้อยก็ไม่ยอมมาอยู่ด้วย แต่กับคนที่ไม่ได้พร้อม ไม่ได้ตั้งใจ เด็กชอบมาอยู่ด้วยจังเลย เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าเราจะพร้อม หรือไม่พร้อมที่จะเป็นแม่ก็ตาม แต่เมื่อลูกพร้อมที่จะเกิดออกมาแล้ว เราก็ควรมีความพร้อม เพื่อไม่ให้ลูกมาพูดทีหลังได้ว่า “จงมีแม่เมื่อพร้อม” ค่ะ ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้ ดิฉันก็ขอนำเสนอข้อแนะนำของนักจิตวิทยา ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นแม่มาฝากกันค่ะ
1. มีความพร้อมด้านการรับรู้
ความพร้อมแรกสุดที่นักจิตวิทยาแนะนำสำหรับคนที่ต้องเป็นแม่ ก็คือ มีการรับรู้ว่า ตัวเองจะกลายเป็นแม่คน ต้องดูแล รับผิดชอบชีวิตคน ๆ หนึ่งที่เรากำลังจะให้กำเนิดเขาออกมา เพราะเมื่อเรามีความพร้อมทางด้านการรับรู้แล้ว เราจะดูแลตัวเองในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ ดูแลเจ้าตัวน้อยตั้งแต่ในท้องจนคลอดออกมาและเติบโตมาเป็นเจ้าตัวใหญ่ ไปจนถึงการเอาใจใส่ ใส่ใจ ดูแลลูกในด้านอื่น ๆ ให้แข็งแรง ปลอดภัย และมีความสุข รวมถึงการดูแลตัวเองให้เป็นแม่ที่มีความสุขไปควบคู่กันด้วยค่ะ
2. มีความพร้อมด้านความรู้
ความรู้ในที่นี้ หมายถึง ความรู้ด้านการเลี้ยงลูก ความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็ก ความรู้เรื่องโภชนาการเบื้องต้นสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย ความรู้ด้านการปฐมพยาบาล รวมไปถึงความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดูแลลูกในแต่ละช่วงวัย เช่น ความรู้เรื่องสถานศึกษา แผนการเรียนของลูก สิ่งที่ลูกสนใจ หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับลูก หรือสถานที่ที่จะส่งเสริมพัฒนาการ สร้างเสริมประสบการณ์ให้กับลูกของเราได้
3. มีความพร้อมด้านการจัดการอารมณ์
สำหรับความพร้อมด้านการจัดการอารมณ์ ถือเป็นความพร้อมที่ท้าทายสำหรับคนเป็นแม่มาก เพราะจะถูกตั้ง #มีแม่เมื่อพร้อม หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความฉลาดทางอารมณ์ การจัดการสมดุลด้านอารมณ์ การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม โดยความยากก็ขึ้นอยู่กับความซน ความต่อต้านของลูกเรานี่ละค่ะ ที่บางช่วงอายุ อย่างเช่นวัยทอง 2 ขวบ หรือช่วง 3 – 5 ขวบที่กำลังเป็น Ego centric หรือจักรวาลต้องหมุนรอบตัวฉันอยู่ละก็...ท้าทายความอดทนกันดีทีเดียว
4. มีความพร้อมด้านเวลา
เมื่อมีลูก สิ่งที่เราจะมีให้ตัวเองน้อยลงไปมาก ก็คือ เวลาส่วนตัวค่ะ เพราะเราต้องยอมเสียสละให้กับลูกของเรา ถึงแม้ว่าการรักษาสมดุลระหว่างเวลาดูแลลูกกับเวลาพักผ่อนของคุณแม่เป็นเรื่องจำเป็นแต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากค่ะ ยิ่งลูกอายุน้อย ดูแลตัวเองไม่ได้ เขาก็ยิ่งต้องการเรามาก และถึงแม้ว่าลูกจะเติบโตขึ้นทุกวัน หรือเทียบกับเราเองในวันนี้ที่มีครอบครัวของตัวเอง ออกมาใช้ชีวิตห่างจากแม่แต่บางช่วงเวลาเราก็คิดถึงแม้ อยากแบ่งปันเรื่องราวหกับแม่ทั้งเรื่องสุขและทุกข์ เพราะในที่สุดแล้วแม่ก็คือโลกทั้งใบของลูกค่ะ
5. มีความพร้อมด้านการเงิน
มาถึงความพร้อมด้านการเงิน ความพร้อมที่จำเป็นต้องมี ต่อให้ไม่มีลูกเราก็จำเป็นต้องมีเพราะใด ๆ ในโลกล้วนต้องใช้เงินค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามีหนึ่งชีวิตที่จะให้กำเนิดขึ้นมา เราก็ต้องใช้เงินตั้งแต่การฝากครรภ์ การดูแลครรภ์ ค่าคลอด ค่าผ้าอ้อม ค่าเสื้อผ้า ของใช้ ของเล่น อาหาร ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกัน ค่าอยู่ ค่าเที่ยว ค่าเทอม และอีกสารพัดค่าที่งอกมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ต้องหาเงินมาจ่าย เพราะฉะนั้นคนเป็นพ่อ เป็นแม่ที่มีต้นทุนทางการเงินสูง หรือมีความพร้อม ก็จะสบายใจในส่วนนี้ แต่สำหรับดิฉันที่คาดว่าจะเป็นเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ก็จะมีไฟในการทำงานเป็นพิเศษค่ะ รับงานเสริม 2 – 3 จ๊อบ กันไป บริหารเงินกันไปสนุกสนาน
6. มีความพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างลูกในทุกสถานการณ์
และความพร้อมสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดที่คนเป็นแม่ต้องมี ก็คือ ความพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างลูกในทุกสถานการณ์ค่ะ เพราะการเลี้ยงลูกนั้นไม่เหมือนการปลูกต้นไม้ที่เราสามารถคาดเดาผลลัพธ์ของมันได้ว่า ปลูกมะนาวก็ย่อมได้ลูกมะนาว ปลูกต้นพริกก็ย่อมได้พริก แต่กับลูกของเรา เราเลี้ยงเขา ดูแลเขาแต่เราไม่สามารถคาดเดาได้ 100% ว่าเขาจะเติบโตมาเป็นอย่างไร เพราะวันหนึ่งเมื่อเขาเลือกทางเดินชีวิตเอง เขาก็อาจเลือกเพศสภาพที่แตกต่างไปจากเดิม เลือกสายการเรียนที่ไม่เป็นที่นิยม เลือกอาชีพที่เราไม่รู้จักแต่ไม่น่าลูกจะเลือกทางเดินชีวิตอย่างไรก็ตาม เราต้องพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอค่ะ เพราะถ้าเรา ที่เป็นพ่อ เป็นแม่ ไม่อยู่กับเขา ไม่สนับสนุนเขา ไม่เคียงข้างเขา ก็ไม่มีใครทำอีกแล้วค่ะ
วลีที่ว่า “จงมีแม่เมื่อพร้อม” ถึงแม้นัยยะของมันจะเป็นการประชดประชันต่อพฤติกรรมของแม่ที่ไม่ได้เป็นไปตาม “มาตรฐานแม่” ที่สังคมคาดหวัง และยอมรับ แต่มันก็ทำให้คนที่เป็นแม่ตระหนักได้ว่า เราควรทำตัวอย่างไร หรือมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรในการเป็นแม่ เพื่อไม่ให้ลูกที่เลือกแม่ไม่ได้รู้สึกแย่ หรือผิดหวังในตัวแม่อย่างเราค่ะ ซึ่งหวังว่าข้อแนะนำข้างต้น จะช่วยลด #มีแม่เมื่อพร้อม ลงได้ในสังคมของเรานะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
[1] เช็คพฤติกรรม คุณทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า (https://www.istrong.co/single-post/bullying-behavior)
[2] 12 สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังเป็นพ่อแม่ที่เป็นพิษ (https://www.istrong.co/single-post/toxic-parent)
อ้างอิง : the Asianparent Thailand, (13 ตุลาคม 2561), 7 วิธีเตรียมตัวเป็นพ่อแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?, [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2565 จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/momandkid/1394949
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comments