top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เมอร์เด้อเหรอ ได้โปรดอย่าเผลอมองฉันแบบเหมารวม (stereotype)



เมอร์เด้อเหรอ ภาพยนตร์สีสันจี๊ดจ๊าด ตามสไตล์ถนัดของผู้กำกับ คุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่กำลังมาแรงแซงทุกโค้งใน Netflix ซึ่งภาพยนตร์ว่าด้วยเหตุฆาตกรรมยกครัว 7 ศพ โดยมีผู้ต้องสงสัยหลักคือเขยฝรั่งของบ้าน แม้พลอตจะโหดแต่ภาพยนตร์อยู่ในโหมดตลกร้าย ฮาแบบพอเหมาะพอดี โดยมีเพลงประกอบที่ส่งเสริมความฮาได้ดีมาก รวมไปถึงนักแสดงหลัก ๆ ที่ขับเคลื่อนความฮา โดยตัวละครหลัก (จริง ๆ คือ ตัวละครเกือบทั้งเรื่อง) ได้แก่ ทราย (ลูกสาวของบ้าน) เอิร์ล (เขยฝรั่ง) พ่อ แม่ ป้า ไก่ (พี่ชายของทราย) น้องจูน (ลูกของไก่ หลานของทราย) ตุ๊กตา (แม่ของจูน ภรรยาเก่าของไก่) ชาร์ลี (สามีฝรั่งของตุ๊กตา) เพชร (แฟนเก่าของทราย) และสารวัตรณวัฒน์ แห่งสถานีตำรวจภูธรดอนกระโทก เอาเป็นว่าภาพยนตร์เล่าในธีมของฝนตกขี้หมูไหลคนอะไรมาเจอกัน แล้วก็วายป่วง อิหยังวะสมชื่อภาพยนตร์


แต่ในความตลก ความบันเทิงของเมอร์เด้อเหรอ ที่ผู้กำกับนำเสนอให้เรา กลับสอดแทรกด้วยการวิพากษ์เรื่อง “การเหมารวม” หรือในศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า stereotype ซึ่งหมายถึง ความเชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่ง มีลักษณะท่าทาง นิสัยใจคอ พฤติกรรม หรือความคิด การตัดสินใจ ไปในทิศทางที่เราเคยเห็น เคยได้ยินเป็นประจำ เช่น คนภาคเหนือต้องใจเย็น พูดเนิบ ๆ ทำอะไรช้า ๆ คนภาคใต้ต้องพูดเร็ว ตัดสินใจเร็ว คนภาพตะวันออกเฉียงเหนือเป็นคนสนุกสนาน เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนเหนือบางคน โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง และเชียงรายจะพูดเร็วมาก หรือคนใต้บางคนก็มีบุคลิกนุ่มนวล และคนอีสานหลายคนก็มีความจริงจัง โดยเมอร์เด้อเหรอได้แสดงให้เห็นการเหมารวม หรือ stereotype ในฉากเด่น ๆ ดังนี้


1. มีสามีฝรั่ง แล้วสามีฝรั่งจะเลี้ยงดู

ในฉากเปิดตัวตุ๊กตา ที่มีลักษณะ (Character) ชัดเจนว่าเป็น “เมียฝรั่ง” ในทัศนะของคนไทยส่วนใหญ่ คือย้อมสีผม สักลาย แต่งตัวเซ็กซี่ และนิยมของแบรนด์เนม ตรงข้ามกับทราย นางเอกของเราที่แม้จะมีสามีเป็นฝรั่งเช่นเดียวกัน แต่แต่งตัวปกติธรรมดา และสมถะ โดยตุ๊กตาได้พูดกับทรายว่า "เรียนจบมาตั้งสูง ทำงานเป็นพนักงานโรงแรม แล้วก็หาผัวฝรั่งเพื่อให้ผัวเลี้ยง ไม่ต่างจากฉันหรอก” ซึ่งแสดงให้เห็นการเหมารวมว่า การมีสามีฝรั่ง เท่ากับว่าผู้หญิงไม่ต้องทำงานอะไร ให้สามีหาเลี้ยง


2. คนกลุ่มนี้ไม่ดี เพราะฉันเคยถูกหนึ่งในกลุ่มนี้ทำไม่ดีมาก่อน

เมอร์เด้อเหรอ ได้ย้ำกับเราถึงประเด็นการเหมารวมในทางลบ โดยในหลาย ๆ ฉากที่สารวัตรณวัฒน์ ซึ่งแสดงโดยคุณหม่ำ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ได้กล่าวกับเอิร์ล เขยฝรั่งสุดซวยด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า "ฝรั่งอย่างอยู่ วัน ๆ ไม่ทำอะไร คิดแต่เรื่องเซ็ก เหล้า ยาเสพติด" เพราะในอดีต ตอนสารวัตรเป็นตำรวจหนุ่ม ได้ต่อสู้กับฝรั่งฮิปปี้เมายา จนเป็นแผลเป็นที่ปาก (ซึ่งจริง ๆ แล้วคนดูก็ไม่มีทางรู้ว่าสารวัตรได้แผลเป็นมาอย่างไรกันแน่) เมื่อมีประสบการณ์ไม่ดีกับฝรั่งเพียงหนึ่งคน ก็เกิดความคิดเหมารวม (stereotype) ว่า ฝรั่งทุกคนเป็นคนไม่ดี


3. ภรรยา (คนไทย) ของฝรั่งต้องทำงานสีเทา และไถเงินเก่ง

ในตอนที่ชาร์ลี สามีชาวอเมริกันของตุ๊กตา อาสาช่วยเอิร์ลซ่อมบ้านเพื่อป้องกันพายุใหญ่ ทั้งสองหนุ่มก็ได้พูดคุยกันถึงภรรยาของตนเอง ซึ่งชาร์ลีได้พูดว่าเขาชอบเมืองไทย ชอบอาหารไทย ชอบอากาศเมืองไทย แต่กับคนไทยเขาไม่แน่ใจ เพราะภรรยาของเขาทำงานในบาร์มาก่อน ดุ อารมณ์ร้าย ใช้เงินเก่ง แม้จะดูแลเขาและลูกอย่างดีก็ตาม โดยมีบทสนทนาหนึ่งที่แสดงทัศนะเหมารวมของฝรั่งที่มีต่อภรรยาคนไทยได้อย่างชัดเจน ก็คือ ตอนที่ชาร์ลีถามว่า “คุณเจอกับภรรยาได้อย่างไร?” แล้วเอิร์ลตอบว่าทำงานที่เดียวกัน แล้วชาร์ลีถามต่อว่า “คุณเป็นคนคุมบาร์เหรอ” ก่อนที่เอิร์ลจะบอกว่าเขาและทรายทำงานเว็บไซต์จองโรงแรม ภรรยาเขาไม่ได้เป็นอย่างที่ชาร์ลีเข้าใจ


4. ภรรยาคนไทย ไม่ต่างอะไรกับคนใช้ของสามีฝรั่ง

ในฉากที่ทราย พยายามจะอธิบายว่าเธอไม่อยากใช้เงินของสามีสิ้นเปลือง และเธอเองก็มีหน้าที่การงานไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินของสามีอย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่ป้าของเธอ ซึ่งแสดงโดยคุณสุนารี ราชสีมา ได้พูดว่า สามีฝรั่งเห็นภรรยาคนไทยเป็นคนใช้ มาแต่งกับคนไทยเพราะคนไทยเอาใจเก่ง ดูแลเก่ง เขาก็หวังกับเราว่าเราจะดูแลเขาตอนแก่เฒ่า เพราะฉะนั้นก็สมควรแล้วที่เราจะขอค่าจ้างล่วงหน้า หรือใช้เงินของเขาได้อย่างเต็มที่


5. สามีรวย = ชีวิตที่มีความสุขสมบูรณ์แบบ

ด้วยความที่ทรายมีสามีเป็นฝรั่งเช่นเดียวกับตุ๊กตา อดีตภรรยาของไก่ พี่ชายของทราย แม่จึงมักเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของทรายและตุ๊กตาเสมอ เพราะตุ๊กตาใช้เงินสามีสร้างบ้านใหม่ ซื้อรถใหม่ ทำสวย และรวยแบรนด์เนม ในขณะที่ทรายยังคงใช้ชีวิตปกติธรรมดา มีความสุขในชีวิตคู่กับเอิร์ล แต่นั่นก็ไม่ใช่ความสุขที่แม่ต้องการ เพราะแม่มักจะกระแหนะกระแหนลูกเขยอยู่เสมอว่า “ฝรั่งขี้ทูด”


6. คนนอก = คนไม่ดี

คนนอกในเมอร์เด้อเหรอ ไม่ได้หมายถึงคนที่มาจากเมืองนอก หรือชาวต่างชาติ แต่หมายถึงคนที่ไม่ใช่พวกเรา พวกในที่นี้คือคนในบ้าน คนในชุมชน เพราะฉะนั้นเอิร์ล ซึ่งเป็นเขยฝรั่งของบ้านจึงเป็นคนนอก และเมื่อมีเหตุเภทภัยใด ๆ ก็ตามคนนอกจึงมักจะถูกตั้งข้อสงสัยก่อน และมักจะถูกตั้งแง่ และมองอย่างอคติจาก “คนใน” โดยส่วนใหญ่ ซึ่งคนในในเรื่องก็คือสารวัตร พ่อ และแม่


ด้วยอานุภาพแห่งการเหมารวม (stereotype) นี่เองที่ส่งผลให้เอิร์ลต้องพบกับความอิหยังวะ และเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต ซึ่งในชีวิตจริงเราเองก็ได้รับผลกระทบของการเหมารวม หรือ stereotype อยู่บ่อยครั้ง จากบทความจิตวิทยาของคุณหมอกฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการทดลองหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มีการแบ่งกลุ่มนักเรียนหญิง – ชายจำนวนเท่า ๆ กันออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้ทั้งสองกลุ่มทำข้อสอบแรก ในกลุ่มแรกนักจิตวิทยาให้ข้อมูลว่าผู้ชายมักจะได้คะแนนมากกว่าผู้หญิง ส่วนกลุ่มที่สองให้ข้อมูลว่า ชาย – หญิงได้คะแนนไม่ต่างกัน ผลปรากฏว่า เด็กผู้หญิงในกลุ่มแรกทำคะแนนได้น้อยมาก แต่ในกลุ่มที่สองทำคะแนนได้สูง หรือเท่ากับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม


จากผลการทดลองดังกล่าว สามารถแสดงให้เราเห็นว่าการเหมารวมนั้นได้ส่งผลบั่นทอนต่อความมั่นใจของคน ๆ หนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งลงได้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองมีความรู้ ความสามารถ ดังนั้นแล้วจึงหวังว่าการที่เราได้พูดถึงการเหมารวมผ่านภาพยนตร์เมอร์เด้อเหรอในบทความจิตวิทยานี้ จะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นคนที่อยู่ภายใต้รูปลักษณ์ หรือปูมหลังที่แตกต่างกันของเราค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์. (2560, 6 กรกฎาคม). การคุกคามโดยภาพเหมารวม. [Online]. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566 จาก https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/stereotype-threat

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page