top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เพราะครอบครัวนั้นสำคัญ 6 แนวคิดในการดูแลกันและกัน จาก “ธี่หยด”



ถึงแม้ว่า “ธี่หยด” จะเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ ที่สร้างมาจากเรื่องเล่าชื่อดังใน Pantip แต่เมื่อผู้เขียนได้ไปชมภาพยนตร์ ก็พบว่า ธี่หยดนั้นชูประเด็นเรื่องความเข้มแข็งของครอบครัวได้โดดเด่นมาก และเป็นภาพยนตร์ผีที่ผีดุจริง แต่ลุงยักษ์ ซึ่งแสดงโดยคุณณเดชน์ คูกิมิยะ นั้นดุดันไม่เกรงใจใครกว่าเยอะ โดยธี่หยดเล่าเรื่องของครอบครัวหนึ่งที่ดูอบอุ่นมาก แต่ถูกคุกคามโดยผีตนหนึ่ง ที่ระรานและจองล้างจองผลาญถึงขั้นเอาชีวิตคนในครอบครัวกันเลยทีเดียว


ในเรื่องธี่หยดนั้น ครอบครัวผู้โชคร้ายซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่อง มีสมาชิกจำนวน 8 คน ประกอบด้วยคุณพ่อผู้แสนเข้มงวด (แสดงโดยคุณปรเมศร์ น้อยอ่ำ) คุณแม่ผู้ใจดี (แสดงโดยคุณเฟรช อริศรา วงษ์ชาลี) ยักษ์ พี่ชายตัวตึง ขาลุย ขาโหดเพราะโรธผี (แสดงโดยคุณณเดชน์ คูกิมิยะ) ยศ พี่รองผู้รับผิดชอบงานหลักของครอบครัว (แสดงโดยคุณกาจบัณฑิต ใจดี) ยอด พี่คนกลางผู้ปากแจ๋ว (แสดงโดยคุณพีระกฤตย์ พชรบุณยเกียรติ) หยาด พี่สาวผู้แสนอบอุ่น (แสกงโดยคุณเดนิส เจลีลชา คัปปุน) แย้ม น้องสาวผู้ปกติแล้วเป็นเด็กเรียบร้อย รักทุกคนในครอบครัว และเป็นผู้ถูกเลือกจากผีร้าย (แสดงโดยคุณรัตนวดี วงศ์ทอง)


และยี่ น้องเล็กของบ้าน (แสดงโดยน้องณัฐชา นีน่า เจสซิกา พาโดวัน) ด้วยเหตุที่ครอบครัวนี้ไม่ได้มีการขัดแย้งในครอบครัวที่รุนแรง และคนในครอบครัวรักกันดีอย่างเหนียวแน่น เมื่อเจอผี ซึ่งเทียบได้กับปัญหาใหญ่ของครอบครัวที่ทุกคนในครอบครัวต้องเผชิญและฝ่าฟันไปด้วยกัน จึงทำให้ประเด็นการดูแลกันและกันในครอบครัวค่อนข้างชัดเจนมาก และยังสอดคล้องกับทฤษฎีจิตวิทยาครอบครัวเรื่องการทำหน้าที่ของครอบครัว (Family Function) อีกด้วย โดยสามารถสรุปสาระสำคัญออกมาเป็นแนวทางในการดูแลครอบครัวให้อบอุ่นและเข้มแข็ง 6 แนวทาง ดังนี้ค่ะ


1. การสื่อสารในครอบครัวต้องมีความชัดเจน


ในเรื่องธี่หยด เราจะเห็นการสื่อสารในครอบครัว 2 รูปแบบ คือ การสื่อสารระหว่างลูก ๆ กับพ่อ และการสื่อสารระหว่างลูก ๆ กันเอง ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนเข้มงวด เป็นพ่อที่ดุ และไม่ฟังใคร เวลาที่ลูก ๆ สื่อสารกับพ่อก็จะมีความระมัดระวังคำพูด และเลือกเรื่องที่จะสื่อสารพอสมควร ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาที่เกินกว่าจะอธิบายได้ ซึ่งในเรื่องนี้ก็คือ “การถูกผีเข้า” บรรดาลูก ๆ ทั้ง 6 คน จึงพร้อมใจกันไม่บอกพ่อ แม่ แต่มาปรึกษากันเอง ชนกับปัญหากันเอง กว่าที่พ่อจะรู้เรื่องก็เกิดเป็นเรื่องราวที่ทวีความสยองมากขึ้นดังที่เห็นในภาพยนตร์


2. หัวหน้าครอบครัว คือผู้ดูแลครอบครัว ไม่ใช่เผด็จการในครอบครัว


แน่นอนว่าบทบาทและหน้าที่ของ “พ่อ” ในครอบครัว ก็คือ เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำ และปกป้องครอบครัว แต่ก็มี “พ่อ” จำนวนไม่น้อยที่ใช้อำนาจของความเป็นพ่อในทางที่ผิด เช่น ควบคุมคนในครอบครัว บังคับให้คนในครอบครัวให้เดินตามทางที่ตัวเองวางไว้ เป็นต้น ส่งผลให้ครอบครัวตึงเครียด ไม่มีความสุข และเกิดปัญหาตามมา ซึ่งในเรื่องธี่หยดเองก็เช่นกันค่ะ ความเข้มงวดของพ่อทำให้ลูก ๆ อึกอัด ไม่สบายใจ จนทำให้ยักษ์ พี่ใหญ่ของบ้านต้องหนีไปเป็นทหาร ยศ พี่คนรองต้องแบกรับภาระทำงานหนักเพื่อแบ่งเบางานของพ่อ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ประหลาดกับแย้ม ก็ไม่มีใครกล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากพ่อ


3. ใส่ใจความรู้สึกของทุกคนให้มาก


ความดีงามอย่างหนึ่งของครอบครัวหลักในเรื่องธี่หยด ก็คือ พี่น้องใส่ใจกันอย่างมาก เมื่อใครคนใดคนหนึ่งเกิดปัญหา ทุกคนที่เหลือก็พร้อมช่วย แม้แต่ยักษ์ และยศ ที่ดูไม่ลงรอยกัน ตึงใส่กัน แต่ยักษ์ก็รักและห่วงใยน้องเสมอ และยศเองก็เชื่อใจและไว้ใจพี่ ความใส่ใจความรู้สึกของกันและกันของพี่น้องทั้ง 6 คนนี้ ช่วยเป็นเกราะป้องกันให้แย้มได้มากพอสมควรทีเดียวค่ะ เพราะถ้าพี่น้องไม่ใส่กัน ไม่สนใจกัน เรื่องอาจจะแย่กว่าที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ก็เป็นได้


4. ความยุติธรรมสำคัญเสมอ


ด้วยความที่แม่ในเรื่องธี่หยดมีลูกมากถึง 6 คน จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากต่อการเปรียบเทียบการได้รับความรักจากแม่ในบรรดาพี่น้อง ดังเช่นฉากหนึ่งที่หยาดได้ชวนแย้มออกไปเดินเล่น แต่แย้มที่ถูกผีเข้าได้ปฏิเสธอย่างหยาบคาย และพูดจาไม่ดีใส่ทั้งหยาดและยี่ ทำให้หยาดโกรธมาก จึงตวาดน้องเสียงดังจนแม่มาห้าม และแย้มที่ถูกผีเข้าและมีอาการป่วยเรื้อรังได้ใช้ความอ่อนแอในการขอความเห็นใจจากแม่ และใส่ร้ายว่าหยาดดุตน นั่นทำให้แม่เข้าข้างแย้มที่ป่วยอยู่ และดุหยาด ทำให้หยาดเสียใจ แม้ว่าแม่จะพยายามปรับความเข้าใจกับหยาดแล้วก็ตาม แต่ความรู้สึกของหยาดก็ได้เสียไปแล้ว


5. อย่าละเลยปัญหาของคนในครอบครัว


เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดกับคนในครอบครัว เช่น อาการเจ็บป่วย หรือการมีพฤจิกรรมที่เปลี่ยนไป หากเราละเลย ไม่ใส่ใจปัญหาเล็กน้อยนั้นอาจลุกลามใหญ่โตขึ้นมาได้ อย่างในเรื่องธี่หยด ก็คือ การถูกผีเข้า แต่ในชีวิตจริงเราก็เคยได้ยินข่าวมามากว่าคนที่ป่วยหนักนั้น ในตอนต้นของอาการป่วยมักแสดงอาการน้อยมาก จึงไม่ได้ใส่ใจ และไม่ได้รักษาจนอาการลุกลามกลายเป็นโรคร้าย หรือคนในบ้านที่เก็บตัวเงียบ รับประทานอาหารน้อยลง พูดจาน้อยลง หากเราไม่ใส่ใจเขาอาจเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชจนยากต่อการรักษาก็เป็นได้


6. ทำหน้าที่ในครอบครัวให้ดีที่สุด


ทฤษฎีจิตวิทยาครอบครัวกล่าวไว้ว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็งและสงบสุข ก็คือ สมาชิกครอบครัวต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด พ่อก็ควรดูแลและปกป้องครอบครัว แม่ก็ควรดูแล อบรม ให้ความรักกับลูก ลูก ๆ ก็มีหน้าที่เรียนรู้ และเติบโตอย่างดีที่สุด เพื่อเป็นความหวังของครอบครัว และสืบต่อวงศ์ตระกูล หากทุกคนทำหน้าที่ของตนเองดีที่สุด รับรองเลยค่ะว่าต่อให้เกิดปัญหา ทถุกคนก็สามารถจับมือก้ามข้ามผ่านปัญหาไปได้


ครอบครัวถือว่าเป็นสังคมที่เล็กที่สุด แต่สำคัญมากที่สุดในทางจิตวิทยา เพราะครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของชีวิต คน ๆ หนึ่งจะเติบโตขึ้นมาดีหรือไม่ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับครอบครัว และแน่นอนว่าคนในครอบครัวสำคัญต่อกันและกันมากที่สุด สามีสำคัญต่อภรรยา พ่อแม่คือโลกทั้งใบของลูก และลูกคือชีวิตของพ่อแม่ ดังนั้นแล้วเราจึงควรดูแลกันและกันให้ดีที่สุดนะคะ


หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2022, 11 กุมภาพันธ์). การทำหน้าที่ของครอบครัว – Family Function. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2566 จาก https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/family-function

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page