นักจิตวิทยาแนะนำ 5 เทคนิคในการเลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตดี อย่างมีความสุข
จากข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่รุนแรงและน่ากลัวหลาย ๆ ข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยของเรามีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดีและมีความสุข โดยอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นางจินตนา จันทร์บำรุง) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยตอนหนึ่งว่า สถิติความรุนแรงในครอบครัว ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 มีจำนวนผู้ถูกกระทำ 2,177 ราย โดยเพศชายเป็นผู้กระทำ 86% และ 65% ในนั้นเป็นผู้ที่ไม่เคยกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน ทางด้านผู้ถูกกระทำเป็นเพศหญิง 81% โดยช่วงอายุที่ถูกทำร้ายมากที่สุด คือ ช่วงวัยกลางคน (อายุ 36 - 59 ปี) 34% ซึ่งส่วนใหญ่จะความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา 41% ป็นการทำร้ายร่างกายมากที่สุด 64% รองลงมาคือ ทำร้ายจิตใจ 32% และเรื่องเพศ 4% โดยความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นสูงสุดในบ้าน 88% อีกทั้งพบว่าความรุนแรงต่อเด็กยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงจะก่อความรุนแรงในอนาคต หรือพูดง่าย ๆ ว่า ความรุนแรงในบ้านเป็นการบ่มเพาะอาชญากร หรือฆาตรกรในอนาคตนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของลูกรัก และเลี้ยงดูลูกรักอย่างมีความสุข จึงขอนำเทคนิคจิตวิทยาในการเลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตดี อย่างมีความสุขมาฝากกันค่ะ
1. ปกป้องลูกตามวัยและตามสมควร
เทคนิคแรกที่นักจิตวิทยาแนะนำในการเลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตดี อย่างมีความสุข ก็คือ การปกป้องลูกอย่างเหมาะสมค่ะ โดยเน้นการปกป้องตามวัยเป็นหลัก เช่น ในวัยทารกก็เน้นการตอบสนองตามความต้องการของลูกเป็นหลัก หิวก็ป้อน ง่วงก็กล่อมหลับ หรือในวัยเด็กต้องพยายามดูแลความปลอดภัยของชีวิตเป็นหลัก เพราะเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขา แถมยังซุกซน และไม่รู้ว่าสิ่งใดอันตราย สิ่งใดปลอดภัย แต่เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น การปกป้องจะเปลี่ยนจากทางกายเป็นทางจิตใจและสังคมเป็นหลัก เพราะลูกรับรู้ความรู้สึกของตนเองชัดเจน และกำลังก่อร่างอัตลักษณ์ส่วนตนให้เป็นรูปเป็นร่าง จึงต้องการการสนับสนุนทางจิตใจและสังคมอย่างมาก เป็นต้น หากเราสามารถปกป้องลูกได้อย่างเหมาะสม เราจะเป็น Safe Zone ที่ดีเยี่ยมของลูก และลูกจะมีความมั่นใจ มีความภาคภูมิใจในตนเอง และมีความเข้มแข็งทางจิตใจค่ะ
2. ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย และทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต
เทคนิคจิตวิทยาต่อมา ก็คือ การส่งเสริมพัฒนาการตามวัยและทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต โดยการ ส่งเสริมพัฒนาการตามทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ ซึ่งมีหลากหลายทฤษฎีค่ะ เช่น ทฤษฎี Psychosexual developmental stage ของ Freud ทฤษฎี Cognitive Theories ของ Piaget แต่ทฤษฎีที่เป็นที่นิยมนำมาใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กมากที่สุด คือ ทฤษฎี Psychosocial development ของ Erikson ค่ะ โดยแบ่งพัฒนาการของคนเราเป็น 8 ขั้น ได้แก่
ขั้นที่ 1 ระยะทารก (Infancy period) อายุ 0-2 ปี : ขั้นไว้วางใจและไม่ไว้วางใจผู้อื่น (Trust vs Mistrust)
ขั้นที่ 2 วัยเริ่มต้น (Toddler period) อายุ 2-3 ปี : ขั้นที่มีความเป็นอิสระกับความละอายและสงสัย (Autonomy vs Shame and doubt)
ขั้นที่ 3 ระยะก่อนไปโรงเรียน (Preschool period) อายุ 3-6 ปี : ขั้นมีความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด (Initiative vs Guilt)
ขั้นที่ 4 ระยะเข้าโรงเรียน (School period) อายุ 6-12 ปี : ขั้นเอาการเอางานกับความมีปมด้อย (Industry vs Inferiority)
ขั้นที่ 5 ระยะวัยรุ่น (Adolescent period) อายุ 12-20 ปี : ขั้นการเข้าใจอัตลักษณะของตนเองกับไม่เข้าใจตนเอง (Identity vs role confusion)
ขั้นที่ 6 ระยะต้นของวัยผู้ใหญ่ (Early adult period) อายุ 20-40 ปี : ขั้นความใกล้ชิดสนิทสนมกับความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว (Intimacy vs Isolation)
ขั้นที่ 7 ระยะผู้ใหญ่ (Adult period) อายุ 40-60 ปี : ขั้นการอนุเคราะห์เกื้อกูลกับการพะว้าพะวงแต่ตัวเอง (Generativity vs Self-Absorption)
ขั้นที่ 8 ระยะวัยสูงอายุ (Aging period) อายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป : ขั้นความมั่นคงทางจิตใจกับความสิ้นหวัง (Integrity vs Despair)
3. ส่งเสริมความเข้าอกเข้าใจตนเองและผู้อื่น
การส่งเสริมให้เด็ก ๆ มี “ความเข้าอกเข้าใจ” หรือ Empathy จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจที่ดีเมื่อลูกของเราต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน หรือถูก Bully เพราะเมื่อลูกมีความเข้าอกเข้าใจในตนเอง เขาจะมองสถานการณ์อย่างเป็นกลาง ไม่ตอกย้ำซ้ำเติมตนเองเข้าไปอีก จะเรียนรู้การเยียวยาความรู้สึกตนเอง ไม่ให้เสียสุขภาพจิตไปกว่าเดิม และหากพบเห็นผู้อื่นที่ตกอยู่ในความลำบาก หรือถูกทำร้ายจิตใจ ลูกของเราก็จะใจดีมากพอที่จะช่วยเหลือ หรือปลอบใจ ส่งเสริมกำลังใจให้แก่ผู้อื่น โดยเทคนิค การส่งเสริม Empathy ให้แก่ลูกของเรา นักจิตวิทยาก็ได้แนะนำไว้ 5 วิธีด้วยกัน ได้แก่
ให้ความรักกับลูกอย่างเต็มที่
สอนให้ลูกรู้จักการให้
สอนให้ลูกคิดถึงคนอื่น
สอนให้คิดยืดหยุ่น
สอนให้เด็ก ๆ เปิดกว้าง
4. ส่งเสริมอารมณ์ทางบวก และความมั่นคงทางอารมณ์
“ความมั่นคงทางอารมณ์” เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นตัวบ่งชี้ความฉลาดทางอารมณ์แล้ว (Emotional Quotient ; EQ) ยังเป็นตัวเสริมสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสมตามวัย เมื่อลูกต้องเจอสถานการณ์กดดันทางความรู้สึก หรือถูกบีบคั้น ทำร้ายความรู้สึก ลูกของเราจะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเหมาะสม ไม่เกรี้ยวกราด เหวี่ยงวีน และ ยังสามารถรักษาความรู้สึกของตัวเองไว้ได้อีกด้วย โดยนักจิตวิทยาก็ได้แนะนำเทคนิคในการส่งเสริม EQ ไว้ดังนี้ค่ะ
ส่งเสริมให้เด็กรู้เท่าทันตัวเอง (Self - awareness)
สอนให้จัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม (Self - management)
ส่งเสริมด้านการเรียนรู้สังคมและอารมณ์ที่เหมาะสม (Social awareness)
สร้างทักษะด้านความสัมพันธ์ที่เหมาะสมตามวัย (Relationship skills)
รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเลือก (Responsible decision making)
5. ส่งเสริมให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัย
การส่งเสริมให้ลูกช่วยเหลือตนเองตามวัย ก็เป็นอีกสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของลูกอย่างมาก เพราะไม่วันใดก็วันหนึ่งเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะต้องอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนอกบ้าน ต้องไปอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ด้วยเหตุนี้ลูกของเราจึงจำเป็นต้องมีทักษะในการเอาตัวรอด และอยู่ได้ด้วยตนเอง เช่น ทักษะการทำความสะอาดบ้าน ทักษะการทำอาหาร ทักษะการครัว ทักษะงานบ้าน งานเรือน เป็นต้น วิธีการฝึกก็สามารถทำได้โดยการมอบหมายงานบ้านให้ลูกรับผิดชอบตามช่วงวัย โดยเราต้องช่วยลูกทำด้วยนะคะ เพื่อไม่ให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าถูกพ่อ แม่เอาเปรียบ แล้วลูกจะมีทักษะการเอาตัวรอดยามที่เขาจำเป็นต้องใช้ค่ะ
การเลี้ยงลูกให้ดีเป็นเรื่องจำเป็น แต่การเลี้ยงลูกให้ลูกมีความสุข และมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ เพราะลูกเราคืออนาคตของชาติ ส่วนพ่อ แม่ อย่างเราคือผู้สร้างอนาคตให้ลูกค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
[1] 3 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตดี ตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา (https://www.istrong.co/single-post/3-techniques-for-raising-children-to-be-good-people)
[2] 12 สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังเป็นพ่อแม่ที่เป็นพิษ(https://www.istrong.co/single-post/toxic-parent)
อ้างอิง :
[1] พะยอม อิงคตานุวัฒน์. 2550. ตำราจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เล่ม 2. กรุงเทพฯ : บริษัท ธนาเพรส จำกัด. หน้า 3 – 6.
[2] ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. ตุลาคม 2564. สถิติความรุนแรง ในครอบครัว ประจำปีงปบระมาณ 2564. กรุงเทพฯ : กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
[3] สำนักข่าวไทย. 21 ตุลาคม 2564. สถิติความรุนแรงในครอบครัว ช่วงโควิดพุ่งสูงเฉลี่ย 200 เรื่อง/เดือน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2565 จาก https://tna.mcot.net/social-808024
[4] PPTV Online. 12 พฤศจิกายน 2564. เผยสถิติ 16 ปีที่ มีการใช้ความรุนแรงกับเด็กมากกว่า 1,300 ราย และมีการทำร้ายอย่างต่อเนื่อง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2565
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comments