ทำอย่างไรถึงจะพาคนที่รู้จักไปพบจิตแพทย์ได้
โดยทั่วไปมนุษย์ทุกคนไม่มีใครหลีกหนีจากความเครียด ความวิตกกังวล ความกลัว และความสับสนในจิตใจไปได้ ในบางช่วงชีวิตของเราจะต้องพบกับเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์ ส่งผลให้ร่างกายและจิตใจตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยอาการดังกล่าวจนกว่าจะแก้ไขสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปได้จึงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่บางครั้งหากใครคนหนึ่งตกอยู่ในภาวะเครียดอย่างยาวนานจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ พฤติกรรม และคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลง นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขาควรจะต้องไปพบกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อขอรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแล้ว
ปัจจุบันคนจำนวนมากเริ่มมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรึกษาจิตแพทย์ เข้าใจว่าจิตใจนั้นสามารถเจ็บป่วยหรือจำเป็นต้องขอรับคำแนะนำช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเช่นเดียวกับการเจ็บป่วยทางกาย แต่สำหรับคนที่มีญาติหรือเพื่อนที่กำลังเจ็บป่วยทางใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวลตลอดเวลา มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และความคิด ปัญหาพฤติกรรม ฯลฯ การที่จะพาเขาและเธอเหล่านั้นไปพบจิตแพทย์อาจไม่ง่ายนัก ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะไปพบจิตแพทย์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทำให้การรักษาหรือวินิจฉัยไม่ได้ทำอย่างทันท่วงที และส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเอง
สำหรับวิธีการที่อาจนำไปประยุกต์ใช้ รวมถึงข้อห้ามเกี่ยวกับการพยายามพาคนรู้จักไปพบจิตแพทย์มีดังนี้ครับ
ข้อห้ามทำ
1. ห้ามหลอกล่อผู้ป่วยว่าจะพาไปเที่ยว จากนั้นพาไปโรงพยาบาลหรือคลินิก ไม่ว่าก่อนหน้าที่จะมาพบจิตแพทย์จะพาไปเที่ยวจริง ๆ หรือไม่ก็ตาม เพราะการหลอกล่อนี้อาจสำเร็จในครั้งแรก แต่ผู้ป่วยจะเริ่มไม่ไว้ใจผู้คนรอบข้างอีกต่อไป ส่งผลให้การพาไปรักษาครั้งต่อไปยากขึ้นอีก และผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาอีกต่อไป
2. ห้ามขู่ บางคนขู่ผู้ป่วยเหมือนขู่เด็กว่าถ้าไม่ไปจะเรียกเจ้าหน้าที่มาจับส่งโรงพยาบาล วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด ตื่นตระหนก ขาดความไว้ใจบุคลากรการแพทย์ และไม่ยอมรับการรักษาเช่นกัน
3. โต้เถียงกับผู้ป่วย ผู้ป่วยจำนวนมากมักไม่ยอมรับว่าตัวเองต้องได้รับการรักษา ไม่รู้สึกว่าตัวเองป่วย การที่จะไปบอกว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติ ต้องไปรักษา จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้พาไปโรงพยาบาล และทำให้การเดินทางไปรักษาเป็นไปได้ยากขึ้น
4. การตำหนิผู้ป่วย เช่นบอกว่าเพราะผู้ป่วยเป็นแบบนี้เลยทำให้คนที่บ้านเดือดร้อน ทำให้คนที่บ้านเหนื่อยกับการดูแลและเกิดความเครียดไปด้วย ควรต้องไปรักษาเสียที การกล่าวโทษแบบนั้นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนว่าเรากลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเขา ผู้ป่วยจะรู้สึกโทษตัวเอง และแยกตัวจากคนรอบข้างยิ่งขึ้น
5. การให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์คนเดียวโดยเฉพาะในครั้งแรก เรื่องนี้อาจดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ แต่สิ่งที่พบได้ตามสถานพยาบาลหรือคลินิกจิตเวชคือผู้ป่วยจำนวนมากเดินทางมาพบจิตแพทย์ครั้งแรกคนเดียวทั้งที่คนทางบ้านรู้แต่ไม่ได้มาด้วย การมาพบจิตแพทย์ครั้งแรกตามลำพังนั้นเป็นประสบการณ์ที่หลายคนไม่เคยคาดคิดเตรียมใจมาก่อน ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดความรู้สึกขาดความมั่นคงทางใจ มีความวิตกกังวล และเปลี่ยนใจล้มเลิกการเข้าปรึกษาในที่สุด และจะทำให้การรักษาครั้งต่อไปยากขึ้น
ข้อควรทำ
1. สร้างความไว้วางใจก่อน เพราะบุคคลที่จะพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์นั้นมีความสำคัญมาก เปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัยของผู้ป่วยในยามที่ผู้ป่วยต้องไปในสถานที่ที่ไม่เคยไป ต้องพบกับคนที่ไม่เคยรู้จักและการรักษาที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน การที่ผู้ป่วยที่กำลังวิตกกังวลหันมาเห็นเราที่ไปด้วยกันจะทำให้เกิดความมั่นคงทางใจมากขึ้น มีความผ่อนคลายมากขึ้น ผู้ที่พาผู้ป่วยไปพบแพทย์จึงควรเป็นบุคคลที่ผู้ป่วยไว้วางใจ เป็นผู้ฟังที่ดี จิตใจมั่นคง ควรเป็นญาติสนิท เพื่อนสนิท มากกว่าการให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น พี่เลี้ยงรับจ้าง พยาบาลส่วนตัวพาไป
2. พยายามเข้าใจเขาก่อน ไม่มีใครอยากเป็นผู้ป่วยไม่ว่าทางกายหรือทางใจ การทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่าตัวเองจำเป็นต้องได้รับการรักษาต้องคุยกันด้วยเหตุผล แสดงให้เขาเห็นว่าเราเข้าใจและเห็นใจเขา อยากช่วยเหลือให้เขาดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือคำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยยิ่งรู้สึกแย่ลง และควรเป็นการคุยตัวต่อตัวในบรรยากาศที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ ไม่ใช้คนจำนวนมากมาผลัดกันหว่านล้อม คะยั้นคะยอจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดัน ไม่ปลอดภัย
3. ทำให้ผู้ป่วยเห็นข้อดีของการไปพบจิตแพทย์ เช่น ยกตัวอย่างคนที่เคยไปพบจิตแพทย์แล้วอาการดีขึ้น ใช้คำพูดเชิงบวกบอกว่าผู้ป่วยน่าจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังได้รับการรักษาและคำแนะนำอย่างถูกต้องอย่างไร อาจเป็นการกลับไปทำงานอดิเรกที่ตนรักได้เหมือนเดิม การได้ไปเที่ยวอย่างมีความสุขมากขึ้น การได้หายจากอาการไม่พึงประสงค์ที่คุกคามเขาอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น และทิ้งช่วงให้เขาได้ไตร่ตรองตัดสินใจด้วยตัวเองบ้าง
4. การใช้คำเชิงสร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลมาก กลัวการพบจิตแพทย์มากกว่าคนทั่วไป เราอาจใช้คำเชิงสร้างสรรค์เพื่อทำให้ผู้ป่วยไม่วิตกกังวลจนเกินไป เช่น แทนที่จะบอกว่าไปพบจิตแพทย์โดยตรงก็อาจบอกว่าจะชักชวนไปตรวจสุขภาพพร้อมกัน ถ้าหากมีตรงไหนที่หมอให้คำแนะนำจะได้ช่วยกันจำ หรืออาจไม่ใช้คำที่สื่อถึงวิชาชีพจิตแพทย์โดยตรง แต่อาจใช้คำที่สื่อความหมายใกล้เคียง เช่น พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านอารมณ์ หมอที่เก่งเรื่องรักษาอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น
การพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยรักษาเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก ความสำเร็จของการรักษาฟื้นฟูสุขภาพจิตต้องเริ่มจากการที่ญาติหรือเพื่อนสร้างให้ผู้ป่วยเกิดความไว้วางใจ มีความมั่นใจว่าหากเข้ารับการรักษาแล้วจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงจะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ และผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมาณทางใจด้วยดี จึงนับว่าญาติและเพื่อนที่พาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์นั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าบุคลากรทางการแพทย์เลยครับ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
Facebook Page สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย : บทความ “วิธีโน้มน้าวคนใกล้ชิดไปพบจิตแพทย์” 29 เมษายน 2014
ผศ.พญ.กมลเนตร วรรณเสวก : “การเตรียมตัวก่อนตัดสินใจไปพบจิตแพทย์” ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=941
ประวัติผู้เขียน
ธเนศ เหลืองวิริยะแสง
วิทยากรฝึกอบรมและ HRD Specialist
MSc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.
Comments