5 วิธีดูแลจิตใจลูกเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของพ่อ แม่
ถึงแม้ว่าหลายบ้านจะเลือกจบปัญหาความขัดแย้งในบ้านด้วยการ “หย่า” แต่ก็มีอีกหลายบ้าน ที่แก้ด้วยการ “ทน” ซึ่งในมุมมองของดิฉัน ไม่ว่าจะแก้ด้วยวิธีไหน คนที่เจ็บที่สุด ต้องการการดูแลจิตใจ มากที่สุด ก็คือ “ลูก” ค่ะ เพราะไม่ว่าพ่อ แม่จะหย่า หรือจะทนอยู่ด้วยกัน แต่บ้านก็ไม่เป็นบ้าน ไม่เป็นครอบครัวอีกต่อไป ทั้งนี้ ในมุมมองของแม่คนหนึ่ง และลูกคนหนึ่งที่มีแม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็เข้าใจคุณพ่อ คุณแม่ดีค่ะ ว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของชีวิตคู่ และในบางความขัดแย้งก็ยากที่จะประสานความสัมพันธ์ให้เหมือนเดิมได้ ในเมื่อเราไม่สามารถเลี่ยงที่จะให้ลูกเผชิญกับความขัดแย้งในบ้านได้ ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอเสนอแนวทางในการดูแลจิตใจลูกเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของพ่อ แม่ ตามหลักจิตวิทยาค่ะ
1. หาจังหวะที่ดี แล้วบอกลูกให้เข้าใจถึงสถานการณ์ความขัดแย้ง
ถึงแม้ว่าความขัดแย้งจะเป็นของผู้ใหญ่ คือ พ่อ แม่ แต่ผลของมันก็กระทบไปทั้งครอบครัว และเมื่อความขัดแย้งมาถึงจุดที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ของพ่อ แม่ คุณพ่อ คุณแม่เอง ก็ต้องหาช่วงจังหวะดี ๆ พูดคุยกับลูกให้เข้าใจถึงสถานการณ์และความเป็นไป ซึ่งอาจเป็นเวลาทานอาหาร หรือวันหยุด โดยการบอกให้ลูกรู้นั้นควรใช้น้ำเสียงปกติ ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง และไม่กล่าวโทษ ไม่ว่าร้ายอีกฝ่าย เพียงบอกเหตุผล และความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้ลูกเตรียมใจรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ค่ะ
2. รับฟังความรู้สึกของลูก
การรับฟังความรู้สึกของลูก เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดที่นักจิตวิทยาแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่หมั่นทำอยู่เสมอ เพราะการดูแลจิตใจลูกด้วยการรับฟังความรู้สึก และใส่ใจลูก สามารถทำให้ลูก ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และเติบโตขึ้นเป็นคนปกติที่มีคุณภาพได้ค่ะ โดยคุณพ่อ คุณแม่ ควรรับฟังสิ่งที่ลูกพูดอย่างตั้งใจ และต้องคอยสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรม อารมณ์ หรือผลการเรียนเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะนั้นอาจหมายความว่าลูกกำลังมีความทุกข์อยู่ก็เป็นได้ค่ะ
3. อธิบายให้ลูกฟังชัดเจนถึงแผนที่จะดูแลลูกต่อไป
หนึ่งในความกังวลใหญ่ของเด็กที่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของพ่อ แม่ ก็คือ อนาคต ของเขาค่ะ เพราะเมื่อพ่อ แม่ ขัดแย้งกันถึงขั้นแตกหัก สิ่งที่ตามมาก็คือ การแยกบ้าน แยกครอบครัว และเด็ก ก็จะเป็นกังวลว่าตนเองต้องไปอยู่กับใคร ต้องใช้ชีวิตยังไง แล้วจะยังได้พบอีกคนอยู่หรือไม่ เพราะฉะนั้น เพื่อดูแลจิตใจของลูก คุณพ่อ คุณแม่ ควรบอกลูกให้ชัดเจนถึงแผนที่จะดูแลลูกหลังจากที่พ่อ แม่ ตกลงกันเรียบร้อยว่าจะจัดการชีวิตคู่อย่างไร เช่น ลูกจะอยู่กับแม่ในบ้านหลังเดิม อยู่โรงเรียนเดิมโดยมีคุณแม่รับ - ส่ง สามารถพบคุณพ่อได้ทุกวันอาทิตย์ เป็นต้น เมื่อลูกได้เห็นภาพอนาคตชัดเจน เขาจะลดความเครียด ลดความกังวลลง และจะมีความต่อต้านต่อพ่อ หรือแม่ น้อยลงไปด้วยค่ะ
4. ให้ความมั่นใจกับลูกว่าพ่อและแม่จะยังรักลูกอยู่เหมือนเดิม
ความกังวลใจต่อมาที่นักจิตวิทยาพบในเด็กที่พ่อ แม่ขัดแย้งกัน ก็คือ ความกังวลถึงความรัก ที่พ่อ และแม่มีให้ต่อเขาค่ะ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ควรบอกความรู้สึกทางบวกที่มีต่อลูก และแสดงให้ลูกเห็นว่า ถึงแม้พ่อ แม่ จะไม่ได้รักกันแล้ว แต่ความรักที่มีต่อลูกจะไม่เปลี่ยนแปลงไป และแสดงให้ลูกมั่นใจว่า พ่อ กับแม่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอเมื่อลูกต้องการ ถึงแม้ในวันนี้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันเหมือนเดิมก็ตาม
5. ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ขอย้ำอีกครั้งว่าถึงแม้ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นกับคนสองคน แต่ผลของมันสะเทือน ไปทั้งครอบครัวค่ะ เพราะฉะนั้น ได้โปรดอย่าคิดว่าทุกการตัดสินใจต้องมาจากพ่อ หรือแม่ หรือพ่อและแม่ แต่ทุกการตัดสินใจที่มีผลกระทบทั้งครอบครัว ควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย และขออย่า ได้คิดว่าลูกยังเล็กอยู่ ลูกไม่รู้เรื่องหรอก เพราะลูกสาวดิฉัน 3 ขวบรู้เรื่องดีเชียวละค่ะ ดังนั้นแล้ว หากสิ่งใด ก็ตามมีผลกระทบกับครอบครัว ขอให้ถามความเห็นของลูกด้วยนะคะ
ถึงแม้ว่าความขัดแย้งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยาขอแนะนำไม่ให้คุณพ่อ คุณแม่
เปลี่ยนแปลงไป ก็คือ ความรัก และความใส่ใจที่มีต่อลูกค่ะ เพราะไม่มีวิธีใดดูแลจิตใจของลูกได้ดีเท่ากับความรักของพ่อ แม่ อีกแล้วค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : pobpad. หย่าร้าง บอกลูกอย่างไรเมื่อชีวิตคู่ต้องจบลง ?. มปป. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2563 จาก https://www.pobpad.com
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Comments