จิตวิทยาการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของชีวิตที่ทุกๆ ท่านทราบดีอยู่แล้ว แต่พอเราเจอการเปลี่ยนแปลงเข้าจริงๆ พวกเราส่วนใหญ่ กลับทำใจลำบากที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น และค่อนข้างมีความยากลำบากในการปรับตัว ซึ่งผู้เขียนเองก็เช่นเดียวกันค่ะ ต้องบอกเลยว่าถ้าเจอเรื่องเซอร์ไพส์ก็ไปไม่เป็นเช่นกัน
จากทฤษฎี แนวคิด และงานวิจัยทางจิตวิทยา
ที่เกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้าต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงพบว่า การที่เราจะรอดจากการเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือ เราต้อง “ปรับตัว” เหมือนที่ชาร์ล ดาวิน นักวิทยาศาสตร์ทางชีววิทยากล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ปรับตัวเท่านั้นคือผู้อยู่รอด”
ในทางจิตวิทยา “การปรับตัว” เป็นพฤติกรรมประเภทหนึ่งที่ใช้เปลี่ยนพฤติกรรม หรือใช้ปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นพฤติกรรมประเภทที่ช่วยให้บุคคลอยู่รอดในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การที่เราจะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ก็คือการรักษาสมดุลระหว่างตัวเราเอง กับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
การปรับตัวที่ส่งผลให้เราสามารถประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเป็นการปรับตัวที่อยู่บนพื้นฐานของความสร้างสรรค์ โดยผู้ที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต้องมีกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบระเบียบ มีการกำหนดเป้าหมายในการปรับตัว จึงจะนำไปสู่พฤติกรรม “Conformal” หรือพูดภาษาเข้าใจง่าย ก็คือ “อยู่เป็น”
กล่าวคือ เมื่อเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เราจะต้องเรียนรู้ว่าอะไรคือ อุปสรรคภายนอกและภายใน โดยอุปสรรคภายนอกก็คือ ความกดดันจากคนรอบข้าง ความเร่งด่วน ฉุกเฉินของสถานการณ์ ส่วนอุปสรรคภายในก็คือ ภาวะสติแตกของเรา
นั่นเอง เมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรคืออุปสรรค และอะไรคือเป้าหมาย กระบวนการของการปรับตัวจึงจะดำเนินการผ่านกลไกการป้องกันตน (Defense Mechanism) ของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็น การเก็บกด (Repression) การป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น (Projection) การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) การถดถอย (Regression) การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) การฝันกลางวัน (Fantasy) การแยกตัว (Isolation) การระบายอารมณ์โกรธ (Displacement) การเลียนแบบ (Identification) ซึ่งผลลัพธ์ของการปรับตัวนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีการและการแสดงออกที่แต่ละคนเลือก
ทั้งนี้ ความสำเร็จของการปรับตัวจะถูกกำหนดโดยการทำงานของร่างกายและจิตใจของแต่ละบุคคล หากทั้งร่างกายและจิตใจทำงานได้สอดประสานกัน ก็มีแนวโน้มสูงว่าการปรับตัวในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในการที่เราจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน ก็ต้องพึ่งพาและเข้าใจปัจจัย ดังต่อไปนี้
1.ปัจจัยความแตกต่างของแต่ละบุคคล
เช่นที่กล่าวถึงข้างต้นว่า บุคคลแต่ละคนเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่รู้สึกว่าเป็นปัญหาก็จะใช้กลไกการป้องกันตน (Defense Mechanism) ตามที่ตนได้เรียนรู้มาหรือตามที่ตนถนัด โดยผสานกับบุคลิกภาพ และพื้นฐานความคิดความเชื่อ เช่น ในสถานการณ์ที่องค์กรต้อง Dow sizing และ A กับ B กลายเป็นผู้ที่ถูกให้ออก. หาก A เป็นบุคคลที่มอง
โลกในแง่ดีและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเลือกใช้กลไกการป้องกันตน (Defense Mechanism) แบบการแยกตัว (Isolation) ในช่วงแรก เพื่อรักษาความผิดหวัง ความเสียใจ และเมื่อเขาสามารถลุกขึ้นใหม่ได้ก็อาจใช้การเลียนแบบ (Identification) เพื่อหาแนวทางการสมัครงานใหม่ หรือทำธุรกิจของตนเอง ในส่วนของ B ผู้ซึ่งมองโลกในแง่ร้ายและไม่เคยเชื่อมั่นในตนเอง ก็มีแนวโน้มที่จะใช้กลไกการป้องกันตน (Defense Mechanism) แบบการป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น (Projection) การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) การถดถอย (Regression) และการระบายอารมณ์โกรธ (Displacement) ซึ่งก็จะออกมาประมาณว่า “เพราะบริษัทบริหารไม่ดีเองจึงต้องลดคนลง ฉันไม่ได้ผิดอะไรเลยแต่ก็ต้องถูกให้ออก ถ้าอย่างนั้นตอนนี้คงต้องกลับบ้านไปอยู่กับแม่ก่อนแล้วละเพราะยังไม่มีงาน ไม่มีเงิน และถ้ามีโอกาสกลับมาแก้แค้น บริษัทไม่รอดแน่” จากตัวอย่างการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ตัวอย่าง คุณผู้อ่านก็คงเดาได้นะคะว่าผลลัพธ์ของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร
2.ปัจจัยองค์ประกอบของสภาพแวดล้อม
ได้แก่ อุณหภูมิ ขนาดห้อง รูปแบบห้อง จำนวนคนในสถานการณ์ บุคลิกภาพ และการแสดงออกของคนที่อยู่ร่วมสถานการณ์ และอีกมากมาย จากปัจจัยที่ยกตัวอย่างมา ต่างก็มีงานวิจัยรองรับว่ามีผลต่อการปรับตัวของบุคคลในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น เช่น จากบทความของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์สามารถปรับตัวในอุณภูมิที่ต่ำได้ดีกว่าอุณหภูมิที่สูง หรือในการศึกษาทางจิตวิทยาเรื่องความสัมพันธ์ของจำนวนสมาชิกในกลุ่มและความรับผิดชอบ พบว่า กลุ่มที่มีสมาชิก 8 – 10 คน กลุ่มจะมีการกระจายความรับผิดชอบได้ดีกว่ากลุ่มที่มีสมาชิกน้อยกว่า 8 และมากกว่า 10 คน เป็นต้น
3.ปัจจัยทางสังคม
ปัจจัยในหัวข้อนี้ค่อนข้างจะซับซ้อนค่ะ เพราะมีเรื่องเพศสภาพ ค่านิยม บรรทัดฐานสังคม ศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ซึ่งคนที่มีพื้นฐานต่างกันต้องมาเผชิญสถานการณ์เดียวกัน วิธีรับมือก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย
หากคุณผู้อ่านต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งแรกที่ต้องมี คือ “สติ” ค่ะ และสิ่งที่ต้องทำต่อมาคือประเมินปัจจัย และเลือกวิธีรับมือกับปัญหา หากคุณผู้อ่านมีความพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงแล้ว เชื่อแน่ค่ะว่า คุณผู้อ่านสามารถอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์แน่นอน
เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา
iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
1.ศรีมงคล เทพเรณู. จิตวิทยาบุคลิกภาพและการปรับตัว.
http://www.bsru.ac.th/identity/archives/4158
2.ดวงมณี จงรักษ์.2559.ทฤษฎีการให้การปรึกษาและจิตบำบัดเบื้องต้น.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น 7).
3. ถวิล ธาราโภชน์ และศรัณย์ ดำริสุข. 2546.พฤติกรรมมนุษย์กับพัฒนาตน.พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพมหานคร : บริษัท อักษราพิพัฒน์ จำกัด บางกอกน้อย.
4. เขียน วันทนียตระกูล. 2558. จิตวิทยาสำหรับครู. (พิมพ์ครั้งที่ 3). เชียงใหม่ : ธนกฤษพริ้นส์.
Comments