top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

superwoman syndrome เมื่อผู้หญิงแบกรับทุกบทบาทจนขาดการรักตัวเอง



ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใด “ผู้หญิง” มักจะถูกกดทับด้วยค่านิยมทางสังคมที่หล่อหลอมให้คนในสังคมมีภาพอุดมคติเกี่ยวกับผู้หญิงว่าจะต้องมีความเป็นลูกสาวที่ดี ภรรยาที่ดี แม่ที่ดี และยิ่งในปัจจุบันนี้ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้สามารถหาเงินมีรายได้เป็นของตัวเองเพิ่มเข้ามาอีก ในขณะที่บางสังคมก็ยังเชื่อว่างานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง จึงไม่แปลกใจที่มีผู้หญิงจำนวนมากพยายามทำให้ตัวเองบรรลุสำเร็จตามนิยามของ “ผู้หญิงที่ดี” ตามที่สังคมคาดหวัง และถึงแม้จะรู้สึกเหนื่อยล้าเพียงใดก็ไม่สามารถลดละการทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุกบทบาทไปได้เลย หากคุณเป็นหนึ่งในผู้หญิงกลุ่มนี้ คุณอาจเข้าข่ายมีสภาวะ superwoman syndrome


อ้างอิงจากเว็บไซต์ APA Dictionary of Psychology คำว่า “superwoman syndrome” หมายถึงกลุ่มของผู้หญิงที่ทำทุกบทบาทหน้าที่ด้วยตัวเอง เช่น ทั้งทำงานหาเงิน ทั้งเลี้ยงลูก ทั้งดูแลจัดการงานบ้าน และทั้งเป็นภรรยาดูแลสามีในเวลาเดียวกัน โดยคำนี้มีที่มาจาก Marjorie Hansen Shaevitz ผู้แต่งหนังสือเรื่อง The Superwoman Syndrome (1984) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงที่ต้องจัดการกับบทบาทหลากหลาย (multiple roles) ของตัวเองทั้งออกไปทำงานนอกบ้าน เป็นภรรยา เป็นแม่ เป็นจิตอาสา เป็นคนดูแลบ้าน และต้องการที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกพึงพอใจกับบทบาทเส้นทางชีวิตที่ตัวเองเลือก 


จากงานวิจัยเรื่อง Superwoman Schema, Stigma, Spirituality, and Culturally Sensitive Providers: Factors Influencing African American Women’s Use of Mental Health Services โดย Cheryl Woods-Giscombe และคณะได้ทำการศึกษาในกลุ่มหญิงชาวแอฟริกันอเมริกันโดยใช้กรอบแนวคิดเรื่อง superwoman syndrome โดยผู้หญิงที่มีสภาวะนี้จะมีมุมมองต่อหน้าที่ของตัวเอง ได้แก่

  • ต้องมีภาพของการเป็นผู้หญิงแกร่ง

  • ต้องกดข่มอารมณ์ของตัวเองเอาไว้

  • ต้องสกัดกั้นความรู้สึกอ่อนแอหรือต้องการพึ่งพิงคนอื่น

  • ต้องประสบความสำเร็จแม้ว่าตัวเองจะมีทรัพยากรที่จำกัด

  • ต้องให้ความสำคัญกับคนอื่นมาก่อนตัวเอง


การวิจัยนี้ทำในกลุ่มผู้หญิงที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 19-72 ปีโดยกลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 34 ปี ซึ่งแต่ละคนมีระดับการศึกษาและรายได้ที่แตกต่างกันไป ผลจากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีสภาวะ superwoman syndrome จะไม่เข้ารับการบำบัดทางจิตใจแม้ว่าจะมีความรู้สึกทุกข์ใจจากภาระหน้าที่ที่ตัวเองแบก


นอกจากนี้ ในบทความเรื่อง From Superwoman to Human: Embracing Imperfection and Prioritizing Self-Care เขียนโดย Eliza Boquin ยังระบุอีกว่า “Black and Brown Women Suffer More When Striving for Perfection.” (ซึ่งคำว่า Black and Brown ผู้เขียนตีความว่าหมายถึงชาวแอฟริกันอเมริกันและละติน) โดยในบทความระบุว่าผู้หญิงกลุ่มนี้จะเข้ารับบริการทางสุขภาพจิต เช่น จิตบำบัด น้อยกว่าหญิงผิวขาว  และจากข้อมูลของสมาคมจิตวิทยาอเมริกาพบว่าผู้หญิงในกลุ่ม BIPOC (ทุกคนที่ไม่ใช่ชาวผิวขาว) มีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลสูงกว่าผู้หญิงผิวขาว เนื่องจากมักจะถูกกดทับจากรอบด้าน เช่น ความยากจน การไม่มีงานทำ และความเครียดที่เกิดจากปัจจัยด้านสังคมวัฒนธรรม 


ทำอย่างไรเมื่อรู้ตัวแล้วว่าตัวเองมีภาวะ superwoman syndrome?

  • ตระหนักรู้ว่าภาวะ superwoman syndrome อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนรอบข้างถูกทำลายได้ เพราะการกดดันให้ตัวเองต้องสมบูรณ์แบบอยู่ตลอดเวลานั้นจะทำให้คุณรู้สึกหมดพลังงานและไม่สามารถที่จะปล่อยให้ตัวเองมีความสุขสนุกสนานได้ ทำให้มีลักษณะเป็นคนเคร่งเครียดและชอบวิจารณ์คนอื่นที่ไม่ได้ดั่งใจคุณ

  • เรียนรู้ว่าความบกพร่องอ่อนแอ (vulnerable) นั้นมีความสำคัญ การที่คุณโอบรับความบกพร่องอ่อนแอของตัวเองจะช่วยให้คุณเชื่อมโยงกับคนอื่นได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เมื่อคุณเปิดใจยอมรับว่าคนเรามันก็ต้องมีข้อบกพร่องอ่อนแอบ้างเป็นธรรมดา คุณก็จะเป็นคนที่อ่อนโยนกับคนอื่นมากขึ้น 

  • การให้คนอื่นช่วยเหลือไม่ได้แปลว่าคุณอ่อนแอ ตรงกันข้าม คนที่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นนั้นจะต้องเป็นคนที่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองต้องการความช่วยเหลือซึ่งมันคือลักษณะของคนที่เข้มแข็งและมี resilience 

  • เปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ให้สามารถรักตัวเองได้มากขึ้น เช่น

  • คุณไม่สามารถทำทุกอย่างได้ในตัวคนเดียวในเวลาเดียว บางครั้งก็ต้องปล่อยให้คนอื่นมาช่วยทำบ้าง และอย่าลืมว่าความสมบูรณ์แบบมันไม่มีอยู่จริง

  • ตัวคุณเองก็คู่ควรที่จะได้รับการดูแลไม่แพ้คนอื่น อย่าลืมใส่ใจสุขภาพร่างกายจิตใจของตัวเองด้วย

  • การให้ความสำคัญกับคนอื่นมาก่อนตัวเองไม่ใช่เรื่องดี เพราะถ้าคุณไปถึงจุดที่คุณไม่ไหว คุณก็จะไม่มีพลังงานไปดูแลคนอื่นอยู่ดี

  • อนุญาตให้คนอื่นเป็นฝ่ายช่วยเหลือคุณบ้าง หากคุณอยู่ในช่วงที่หมดพลังหรือไม่ไหว อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น 

  • มีมุมมองต่อบริการทางสุขภาพจิตอย่างถูกต้อง การไปพบนักบำบัดหรือนักจิตวิทยาไม่ได้แปลว่าคุณอ่อนแอหรือไม่ได้เรื่อง ปัญหาบางอย่างไม่สามารถแก้ได้ด้วยความอดทน และการคุยกับนักบำบัดหรือนักจิตวิทยาก็จะมีความต่างตรงที่เป็นการพูดคุยอย่างไม่ตัดสินและอยู่ภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่นปลอดภัย

  • เลิกวัดระดับความแกร่งของตัวเองด้วยการเอาทุกอย่างมาแบกเอาไว้คนเดียว superwoman ไม่ใช่รางวัลเกียรติยศแต่จะเป็นการทำให้ตัวเองต้องแบกภาระโดยใช่เหตุ ดังนั้น อย่าลืมดูแลตัวเอง เรียนรู้ที่จะกำหนดขอบเขต (boundary) ของตัวเองไม่ให้ใครมาล้ำเส้น และอนุญาตให้ตัวเองไม่สมบูรณ์แบบบ้างก็ได้


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

Keyword: superwoman syndrome, บริการทางสุขภาพจิต


 

อ้างอิง:

[1] superwoman syndrome. Retrieved from https://dictionary.apa.org/superwoman-syndrome

[2] Superwoman Schema, Stigma, Spirituality, and Culturally Sensitive Providers: Factors Influencing African American Women’s Use of Mental Health Services. Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7544187/

[3] From Superwoman to Human: Embracing Imperfection and Prioritizing Self-Care. Retrieved from https://flowandeasehealing.com/overcomingsuperwomansyndrome/


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Commentaires


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page