top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Sunday night syndrome: ความรู้สึกหดหู่ ทุกข์ใจเมื่อใกล้วันจันทร์



“พรุ่งนี้วันจันทร์” คำสั้น ๆ ที่แสนสะเทือนใจ จนบ่อยครั้งก็มานึกสงสัยว่าเราเกลียดวันจันทร์หรือเปล่านะ จนมารู้ความจริงว่า เราไม่ได้เกลียดวันจันทร์ แต่เราเกลียดทุกวันที่เริ่มทำงานใหม่ เพราะเรารู้สึกว่าเรายังพักผ่อนไม่เต็มที่เลย ยิ่งเป็นวันทำงานวันแรกหลังจากหยุดยาวด้วยนะคะ Post Vacation Blues หรือซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวถามหากันเลยทีเดียว


ซึ่งอาการเกลียดวันจันทร์ หรือไม่ชอบวันแรกที่ต้องไปทำงานว่าหนักหนาแล้ว แต่ยังมีคนบางกลุ่มต้องเจอภาวะซึมเศร้าเพราะความความเครียดที่จะต้องไปทำงานซึ่งหนักหนากว่ามากค่ะ โดยในทางจิตวิทยาเรียกภาวะนี้ว่า Sunday night syndrome


อาการเด่นของภาวะนี้ ก็คือ จะมีความรู้สึกเศร้าหรือกังวลใจเนื่องจากวันหยุดที่กำลังจะหมดลง และการมาถึงของวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้ที่มีภาวะ Sunday night syndrome ไว้ดังนี้ค่ะ


1. มีปัญหาในการนอนหลับ


ข้อสังเกตแรก ก็คือ นอนหลับยาก หลับไม่สนิท หรือถึงขั้นนอนไม่หลับ เพราะต้องการใช้เวลาพักผ่อนในคืนสุดท้ายก่อนจะต้องทำงานให้เต็มที่ หลาย ๆ คนที่มีภาวะ Sunday night syndrome มักไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังซึมเศร้าก่อนวันไปทำงาน เพราะคิดว่าที่ตัวเองนอนดึก เพราะนอนกลางวันในวันหยุดมากไป หรือติดซีรี่ย์ หรือติดเกม


แต่จริง ๆ แล้วการที่เราใช้เวลานอนในตอนกลางคืนไปกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราผ่อนคลาย สบายใจ สุขใจ นั่นก็เพราะจิตใจของเราต้องการจะเติมความสุข เก็บเกี่ยวความสุขก่อนที่จะเจอความเครียดในที่ทำงาน


2. อารมณ์ไม่คงที่ แปรปรวน


หากว่าคนใกล้ตัวของเรา หรือตัวเราเองมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย โมโหบ่อย อารมณ์แปรปรวน อย่างผิดปกติในวันอาทิตย์ หรือในวันสุดท้ายของการพักผ่อนยาว นั่นอาจไม่ใช่เพราะ PMS (Premenstrual Syndrome) หรือ อาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน หรือ PMDD (Premenstrual dysphoric disorder)


หรือ อาการผิดปกติทางร่างกาย จิตใจ และ/หรืออารมณ์อย่างรุนแรง ก่อนการมีประจำเดือน แต่อย่างใด แต่อาจเกิดจากภาวะ Sunday night syndrome เพราะอารมณ์หงุดหงิดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะเกิดเฉพาะวันสุดท้ายของวันหยุด และเกิดได้ทุกเพศทุกวัยเลยค่ะ


3. รู้สึกเศร้าหนักมาก


นอกจากภาวะ Sunday night syndrome จะแสดงออกมาในรูปแบบความโกรธแล้ว ยังแสดงออกมาในรูปของความเศร้า ซึม เบื่อ ท้อ หมดแรง นอนทั้งวัน ไม่สนใจจะทำอะไร ไม่อาบน้ำ ไม่รับประทานอาหาร ไม่ออกจากห้อง ไม่พูดคุยกับใคร เพราะผู้ที่มีภาวะ Sunday night syndrome กำลังเป็นทุกข์ใจอยู่กับวันจันทร์ หรือวันทำงานที่กำลังใกล้เข้ามา


4. กังวลใจ ว้าวุ่น อยู่ไม่สุข


นอกจากอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว และซึมเศร้าที่บ่งบอกถึง Sunday night syndrome แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยายังกล่าวว่า คนที่หาอะไรทำตลอดเวลา อยู่ไม่สุข อยู่นิ่ง ๆ นาน ๆ ไม่ได้ ไม่มีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นาน และขยันมากในวันสุดท้ายของวันหยุด อาจไม่ใช่เพราะเขาต้องการใช้วันหยุดอย่างคุ้มค่า แต่นั้นเป็นสัญญาณว่าเขากำลังกังวลใจ ว้าวุ่นใจ และไม่สามารถสงบใจได้เพราะเครียด และกังวลเกี่ยวกับวันทำงานมากเกินไปนั่นเองค่ะ


5. เครียด


และแน่นอนค่ะ ข้อสังเกตข้อสุดท้าย ก็คือ เครียด คิดมาก คิดเยอะ คิดเกี่ยวกับวันพรุ่งนี้ที่ยังมาไม่ถึง และยังไม่รู้แน่ว่าจะมีเรื่องดี หรือเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น เพียงแค่รับรู้ว่าพรุ่งนี้ทำงานความเครียดก็เข้าเกาะกุมทันที แล้วก็จะเครียดอยู่อย่างนั้นทั้งวัน ทั้งคืน จนถึงวันทำงานก็ยังเครียด ซึ่งความเครียดนั้นจะมาลดลงช่วงวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ค่ะ ส่วนวันเสาร์ หรือวันแรกของวันหยุดยาวจะสดชื่น แจ่มใสสุด ๆ แต่พอถึงวันสุดท้ายของการพักผ่อนก็วนลูปใหม่เช่นนี้ต่อไป


ทั้งนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้ให้ข้อแนะนำในการรับมือกับภาวะ Sunday night syndrome เอาไว้อย่างน่าสนใจ และทำตามได้ไม่ยาก ดังนี้ค่ะ


1. จดสิ่งที่กังวลใจออกมาให้เห็น


เมื่อเรามีความกังวลใจ สิ่งต่าง ๆ สารพัดจะมารุมมาสุมกันอยู่ในหัว จนเรากังวลมั่วไปหมด เพราะฉะนั้นแล้วขอให้จดรายการที่เรากังวลใจออกมาเป็นข้อ ๆ ให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เรากังวลมีกี่เรื่องกันแน่ และเรื่องไหนเร่งด่วน เรื่องไหนสำคัญ หรือเรื่องไหนสามารถทำได้เลย เรื่องไหนต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร หากเรามองเห็นสิ่งที่กังวลใจอย่างเป็นรูปธรรมและมีการวางแผนเพื่อจัดการกับสิ่งกังวลใจนั้น เราจะมีความโล่งใจ สบายใจมากขึ้นค่ะ


2. วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ


ในวันศุกร์ หรือวันสุดท้ายของการทำงาน หากยังมีงานที่จัดการไม่หมด สิ่งที่จะช่วยลดความกังวลใจในช่วงวันหยุดได้ ก็คือ เรียงลำดับความเร่งด่วนของงาน และวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ว่าอะไรทำก่อน อะไรทำหลัง งานชิ้นนี้ควรทำอะไรบ้างตามลำดับขั้น และต้องประสานกับใครบ้าง เมื่อเราได้วางแผนการทำงานไว้แล้ว ในช่วงวันหยุดเราจะสามารถปล่อยวางเรื่องงานได้มากทีเดียวค่ะ


3. ปิดเรื่องงานในวันหยุด


วิธีที่จะทำให้เราคิดถึงเรื่องงานได้น้อยที่สุดในวันหยุดพักผ่อน ก็คือ ปิดรับเรื่องงานไปเลยค่ะ ไม่เปิดไลน์งาน ไม่เปิดอีเมล ปิดการรับสายจากที่ทำงาน ขึ้นโปรไฟล์ทั้งไลน์ เฟสบุ๊ค และอีเมลในเชิงสัญลักษณ์ว่าคุณกำลังลางาน หรือคุณกำลังพักผ่อน แล้วห้ามใจตัวเองไว้ค่ะอย่าไปเปิดดู หรือรับสาย เพราะคุณทำงานมาอย่างเต็มที่ในวันทำงานแล้ว ยิ่งถ้าคุณมีภาวะ Sunday night syndrome แล้วละก็ยิ่งเป็นสัญญาณว่า คุณควรจะพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่เสียที


4. หากิจกรรมสนุก ๆ ทำในวันหยุด


กาดที่จะทำให้เราเบี่ยงเบนความสนใจออกจากเรื่องงานที่เรากังวล ก็คือ การทำตัวให้ยุ่ง หรือคิดเรื่องอื่นที่น่าสนใจมากกว่า เช่น ไปเที่ยว ไปดำน้ำ ไปปีนเขา ไปตั้งแคมป์ ไปดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ไปสวนสนุกกับลูก ไปทะเล นอนเล่นน้ำในสระ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ตอบสนองความสุขตามรูปแบบการใช้ชีวิต และถูกจิต ถูกใจคุณ นอกจากคุณจะรู้สึกโล่งใจแล้ว สมองยังได้รับการชาร์ตแบต และจะมีความสดชื่น กระปี้กระเป่า มีไฟในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ


5. พูดคุยเรื่องที่กังวลใจกับคนรัก คนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือใครที่เราพูดคุยด้วยได้


หากความทุกข์ใจในเรื่องการทำงานมันหนักหนาจนเราปล่อยวาง หรือยกออกไปไม่ได้ ก็ระบายมันออกมาค่ะ โดยการพูดคุยเรื่องที่กังวลใจกับพ่อ แม่ คนรัก เพื่อนสนิท ลูก หมา แมว ต้นไม้ หรือกับใครก็ได้ที่เขาพร้อมรับฟัง นอกจากเราจะได้พูดได้แลกเปลี่ยนความทุกข์ในใจแล้ว เรายังจะได้แนวคิดดี ๆ มุมมองการมองโลกในมุมที่แตกต่างออกไป จนบางครั้งเราอาจสามารถเปลี่ยนมุมมองที่มีต่องานได้ และลดความทุกข์ใจลงไปมากมาย


6. หากทำมาทั้งหมดแล้วยังไม่หายจากความทุกข์ใจ ลองไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาดู


และสุดท้ายแล้ว หากคุณได้ลองทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาตั้งแต่ข้อ 1 – 5 แล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้คุณลองนัดหมายผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อขอรับคำปรึกษา ซึ่งคุณอาจจะต้องทำการประเมินทางจิตวิทยาตามความเหมาะสมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และเขารับการบำบัด หรือการปรึกษาเพื่อรักษาความเครียดที่ต้นเหตุต่อไปค่ะ


ความเครียดจากที่ทำงาน มีน้อย ๆ พอเป็นไฟ แต่ถ้ามีมากไปมันจะเป็นทุกข์ หากคุณต้องการคำปรึกษาแต่ไม่รู้จะคุยกับใคร istrong ยินดีให้ความช่วยเหลือเสมอนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

1. ญาณิน ทิพากร. (2564, 26 กันยายน). Sunday Night Blues อารมณ์หดหู่ในคืนวันอาทิตย์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566 จาก https://chulalongkornhospital.go.th

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด

iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2024 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page