ชวนรู้จัก Summer Depression แม้ร้อนกายแต่ใจก็ยังซึมเศร้าอยู่ดี
หลานท่านคงเคยรู้จักกับ “โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล” หรือในทางจิตวิทยาเรียกว่า SAD (Seasonal Affective Disorder) กันมาบ้างแล้วว่า คือ โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล และโดยส่วนใหญ่จะเกิดได้มากในฤดูฝน และฤดูหนาว แต่ทราบไหมคะว่า อากาศร้อนตับละลายอย่างเช่นที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ก็ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยในทางจิตวิทยาเรียกโรคซึมเศร้าเนื่องจากอากาศร้อนว่า Summer depression หรือ Summer blues หรือในภาษาไทยเรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าฤดูร้อน” ค่ะ โดยเจ้า Summer depression นี้เป็นภาวะหนึ่งที่อยู่ในโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล โดยมีสาเหตุมาจากการแปรปรวนของการหลั่งสารเคมีในสมองที่ชื่อ “เมลาโทนิน” (Melatonin) และ “เซโรโทนิน” (Serotonin) ค่ะ โดยเมลาโทนินจะควบคุมการนอนหลับให้เป็นเวลา และเซโรโทนินจะคอยควบคุมอารมณ์ให้สมดุล แต่เมื่ออากาศมันร้อนมาก ร้อนไม่เลือกกลางวัน กลางคืน จนทำให้เราไม่สามารถนอนหลับได้ เมลาโทนินก็หลั่งออกมาผิดปกติแล้ว ก็เลยไปกระทบกับการหลั่งของเซโรโทนิน ที่ทำให้เราหงุดหงิด โมโหร้าย อารมณ์แปรปรวน แล้วแปรเปลี่ยนเป็นซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ จนเกิดความรู้สึกไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ขึ้นมาได้ และกลายเป็น Summer depression ในที่สุด
จากผลสำรวจทางจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2565 พบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ถึงร้อยละ 10 มีภาวะ Summer depression โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา Rian Rowles ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับอาการของ Summer depression ไว้ 7 อาการด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1.มีการนอนหลับผิดปกติ
โดยปกติแล้ว ในวัยผู้ใหญ่จะต้องนอนหลับต่อเนื่องอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน แต่กับวัยรุ่น เด็ก หรือผู้สูงอายุ ต้องการการนอนหลับต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป แต่พออากาศมันร้อน การนอนก็เริ่มแปรปรวนเพราะเราจะนอนไม่เป็นเวลา ง่วงกลางวันก็นอนกลางวัน แล้วกลางคืนก็นอนไม่หลับอีก พอนาน ๆ เข้า เมลาโทนินก็หลั่งน้อยลง เราก็นอนน้อยลง หรือบางรายก็นอนมากขึ้น สำหรับรายที่นอนไม่หลับก็หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ส่วนรายที่นอนทั้งวันก็ซึมเศร้าไปเลยทีเดียว
2. ควบคุมอารมณ์ไม่ได้
เมื่อการนอนผิดปกติ เนื่องจากการหลั่งของเมลาโทนินไม่ปกติ อาการต่อมาของ Summer depression ก็คืออารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เพราะเซราโทนิน สารสื่อประสารที่ควบคุมอารมณ์ก็หลั่งมาผิดปกติเช่นกัน จึงทำให้บางรายหัวร้อน หงุดหงิดง่าย อากาศร้อนแค่ไหน หัวร้อนยิ่งกว่า แต่กับบางรายจะซึมเศร้า เฉื่อยชา เบื่อทุกอย่างในชีวิต จนไม่อยากจะทำอะไรเลย
3. เครียดง่าย
อาการต่อมาของ Summer depression ก็คือ เครียดง่าย คิดมาก วิตกกังวลไปทุกสิ่งอย่าง จากแต่เดิมที่เครียดอยู่แล้ว พอเจออากาศร้อนก็เครียดเข้าไปอีก ทีนี้อาการเครียดที่เป็นตัวบ่งบอก Summer depression ก็จะมี 2 รูปแบบ คือ เครียดเฉพาะเรื่อง กับเครียดทุกเรื่อง โดยอาการเครียดเฉพาะเรื่องจะแสดงอาการเครียดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งชัดเจนไปเลย แต่สำหรับคนที่มีอาการเครียดทุกเรื่อง จะใช้ชีวิตลำบากกว่าแบบแรก เพราะไม่ว่าเจอสถานการณ์อะไรก็จะวิตกกังวลว่าจะมีเรื่องไม่ดีตามมาในทุกเรื่อง จนไม่กล้าใช้ชีวิต ไม่กล้าออกจากบ้าน
4. มีอาการซึมเศร้า
สำหรับอาการเด่นที่สุดของการเป็น Summer depression ก็คือ มีอาการซึมเศร้าต่อเนื่องติดต่อกัน 2 สัปดาห์ เช่น รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า รู้สึกเหนื่อยกับการใช้ชีวิต รู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรดีเลย เป็นต้น โดยผู้ที่เป็น Summer depression จะมีอาการเหล่านี้ชัดเจนมากจนคนรอบข้างเห็นได้ชัด และเป็นต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ขึ้นไป
5. แยกตัวจากสังคม
ในช่วง Summer คนส่วนมากมักมีภาพจำว่าเราต้องออกไปใช้ชีวิตให้มันสนุก ไปเล่นน้ำ ไปเที่ยว หรือพักผ่อนให้สมกับเป็นช่วงหยุดยาว แต่กับคนที่มีภาวะ Summer depression กลับไม่อยากจะพบปะใคร ไม่อยากออกจากบ้านไปไหน มักจะแยกตัวโดดเดี่ยว ไม่เข้าสังคม อยู่อย่างไร้ตัวตน ขังตัวเองอยู่ใน Safe Zone
6. มีการรับประทานอาหารผิดปกติ
อาการรับประทานอาหารผิดปกตินี้ จะสังเกตยากสักหน่อยในฤดูร้อน เพราะโดยปกติแล้ว เมื่ออากาศร้อนเราก็เบื่ออาหารกันเป็นปกติ แต่กับคนที่มีภาวะซึมเศร้า เขาจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่เข้าห้องน้ำ ไม่ทำอะไรเลย เหมือนหมดพลังงาน หรือในบางกรณีก็จะกินแหลก กินหมดไม่สนว่าเป็นของใคร หากพบว่าคนใกล้ตัวมีการกินที่ผิดปกติเช่นนี้ ให้พึงระวังไว้ก่อนว่าเขาอาจมีอาการซึมเศร้าก็เป็นได้
7. ขี้เกียจผิดปกติ
ถึงแม้ว่าในช่วงหยุดยาวและฤดูร้อน เราส่วนบางส่วนจะขี้เกียจกันเป็นปกติ แต่กับคนที่มีภาวะ Summer depression จะขี้เกียจมากกว่าปกติไปอีกค่ะ แต่พฤติกรรมขี้เกียจที่เขาแสดงออกนั้นไม่ได้เกิดจากความไม่ขยัน แต่เกิดจากความรู้สึกหมดไฟ หมดใจ เลยหมดพลังชีวิตที่จะทำสิ่งต่าง ๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เคยชอบทำมาก่อนก็ตาม
จากการรวบรวมข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเกี่ยวกับการรับมือ Summer depression พบว่ามีเทคนิคที่น่าสนใจในการสู้กับ Summer depression 5 เทคนิคด้วยกัน ดังนี้
พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพนั้นส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ และสมองของเราได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยละค่ะ หากคืนไหนที่เรานอนหลับสนิท นอนเต็มอิ่ม เราจะตื่นมาสดชื่น แจ่มใส สมองปลอดโปร่ง แต่ถ้าคืนไหนหลับไม่สนิท ฝันร้อย นอนไม่ดี ตื่นมาเหมือนเราพร้อมถล่มใส่ทุกคนเลยค่ะ เพราะเราจะหงุดหงิดมาก ดังนั้น หากเราต้องการลดอาการซึมเศร้า และเพิ่มความสดใสในชีวิต การนอนหลับที่ดี หรือการพักผ่อนให้เพียงพอก็มีส่วนสำคัญมาก
หากิจกรรมสนุก ๆ ทำ แม้ว่าภาวะซึมเศร้าจะเป็นผลมาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่การมีพฤติกรรมที่ช่วยส่งเสริมความสุข จะสามารถต้านความเศร้าได้ เพราะเมื่อเราทำกิจกรรมที่สนุก ๆ สมองเราจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมาก ทำให้เมลาโทนินและเซโรโทนินมีการหลั่งที่สมดุลมากยิ่งขึ้น
ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย การออกไปเที่ยวให้ผ่อนคลาย หรือการพักผ่อนที่มีประสิทธิภาพ และการทำกิจกรรมที่สนุก ๆ ล้วนแล้วแต่ดีต่อใจค่ะ เพราะเมื่อเราผ่อนคลาย ความทุกข์ ความเครียด สิ่งที่แบกอยู่จะถูกปล่อยวาง และลืมมันไปได้ชั่วขณะ ส่งผลให้สมองปลอดโปร่ง ความกังวลต่าง ๆ ลดลง และมีความสดใสเข้ามาแทน
ดื่มน้ำ และรับประทานอาหารให้เพียงพอ กองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด ร่างกายและจิตใจเองก็ต้องเดินด้วยท้องฉันนั้น หมายความว่า เมื่อร่างกายอิ่ม ได้รับสารอาหารเพียงพอ สมองและร่างกายจะได้รับพลังงานมากพอในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต เมื่อเรากินอิ่ม เราจะสบายใจ เมื่อเราสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้สำเร็จเราจะผ่อนคลาย ส่งผลให้ความเครียดและความเศร้าลดลงได้ค่ะ
หากสู้คนเดียวไม่ไหว แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา หากว่าความเศร้าที่มีมันกัดกินจิตใจจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โปรดอย่าเก็บไว้เพียงลำพัง ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาใกล้บ้านดูก่อน เขาจะให้คำปรึกษาที่ดีแก่เราได้ค่ะ แต่หากคุณไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร สามารถติดต่อ Istrong ได้นะคะ
เอาจริง ๆ แล้วไม่ว่าสภาวะอากาศจะเป็นอย่างไร ก็ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของเราทุกคนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องคอยสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจหรือไม่ เพื่อจะได้รับมือและแก้ไขให้สภาวะจิตใจกลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุดนั่นเองค่ะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง : 1. Sanook. (2566, 4 มิถุนายน). อากาศร้อนจนไม่อยากทำอะไร ทำความรู้จัก Summer Depression.[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2567 จาก https://www.sanook.com/campus/1415659/
2. Thanatcha Suvibuy. (2565, 19 เมษายน). รู้จัก Summer Depression ความเศร้าที่มาพร้อมกับหน้าร้อน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2567 จาก https://www.altv.tv/content/pr/6250369e4e62cb7e583a8792
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments