Strength-Based Approach เลิกมองหาสิ่งที่บกพร่อง แล้วหันมามองสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเอง
เมื่อพูดถึงมุมมองของสังคมโลกหรือแม้แต่แนวคิดทางจิตวิทยาในยุคที่ผ่านมา เวลาเจอคนที่มีอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันจนทำให้รู้สึกทุกข์ใจไม่มีความสุข คนส่วนใหญ่ก็มักจะชวนให้เขามองหาความผิดปกติ แม้กระทั่งเวลาที่อาการเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวเองก็มักจะพยายามหาความผิดปกติก่อน
ถ้ามองในบริบทของสังคมไทย คนไทยหลายคนก็มักจะมีคำถามว่า “ฉันเป็นบ้าเป็นประสาทรึยัง” และพยายามที่จะค้นหาว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร ชีวิตของตัวเองมีความขาดพร่องอะไร ทำไมฉันถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งการมองหาความผิดปกตินั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด เพราะมันเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่จิตแพทย์
ซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยโรคจะต้องทำเป็นอันดับแรก ๆ แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่จิตแพทย์ การพยายามค้นหาว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดนั้นมีอาการผิดปกติอะไร บกพร่องอะไร อาจจะไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะนอกจากจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำแล้ว การไปมองหาสิ่งที่บกพร่องผิดปกติอาจจะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ไม่ชอบตัวเองมากขึ้นไปอีก
ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีอาการของโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว การไปมุ่งค้นหาว่าตัวเองบกพร่องผิดปกติอะไรอาจทำให้อาการแย่ลงไปกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ไม่ได้จะมาบอกว่าให้คุณเพิกเฉยไม่ทำอะไรกับอาการที่เกิดขึ้น แต่จะมาชวนให้คุณทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิมคือเปลี่ยนจากการไปโฟกัสที่ความบกพร่องผิดปกติ เป็นการมองหาศักยภาพหรือทรัพยากรภายในที่มีอยู่ในตัวบุคคลแทน ซึ่งการมองแบบนี้เรียกว่า “Strength-Based Approach”
Strength-Based Approach มีพื้นฐานแนวคิดว่าตัวบุคคลคือปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีความคิดและอารมณ์เป็นตัวแปรสำคัญ แนวคิดนี้จึงสนับสนุนให้บุคคลมองเห็นศักยภาพหรือข้อดีของตัวเองมากกว่าที่จะโฟกัสกับข้อบกพร่องซึ่งเป็นการมองตัวเองในเชิงลบ
เมื่อกล่าวแบบนี้ก็คงเดาได้ไม่อยากว่า Strength-Based Approach เป็นแนวคิดที่อยู่ในกลุ่มของจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และเป็นแนวคิดพื้นฐานของการช่วยเหลือแบบ Strength-Based therapy หรือ Strength-Based counseling
ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้แปลความหมายของ Strength-Based counseling เอาไว้ว่า “การให้คำปรึกษาแบบใช้ความเข้มแข็งเป็นฐาน) ภายใต้ปรัชญาว่า “เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขจุดอ่อน แต่เป็นเรื่องง่ายมากกว่าหากเราเสริมจุดแข็งเพื่อให้ใช้งานได้มากขึ้น” ซึ่งความเข้มแข็งที่กล่าวถึงนั้นมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่
ด้านความคิด วิธีการมองโลกของบุคคล
ด้านสัมพันธภาพ หรือกำลังใจจากคนรอบข้าง
ด้านความสามารถ วิธีการผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ไขปัญหาของบุคคล
เป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐาน
ส่งเสริมให้บุคคลมีกรอบความคิดหรือทัศนคติทางจิตใจในทางที่ดีขึ้น
ปลูกฝังให้เกิดมุมมองทางบวกต่อโลกซึ่งจะช่วยให้บุคคลมองตัวเองในทางบวกตามไปด้วย
เอื้อให้บุคคลมองเห็นศักยภาพและทรัพยากรภายในของตัวเอง
ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยอะไรที่ถ่วงรั้งการเติบโตงอกงาม (personal growth) ของบุคคล
ประโยชน์ของการให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐาน
การปรับมุมมองจาก “บุคคลมีอะไรบกพร่องที่ต้องแก้ไขรักษา” เป็น “บุคคลมีทรัพยากรอะไรที่สามารถดึงออกมาใช้ได้” ผ่านการให้ความช่วยเหลือแบบ Strength-Based ที่เป็นการให้คำปรึกษาหรือการทำจิตบำบัดจะช่วยให้เกิด resilience ซึ่ง resilience เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวและฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคหรือแม้แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิตได้
โดยไม่ได้เป็นการสร้างทักษะใหม่แต่เป็นการชี้ชวนและขยายโฟกัสให้บุคคลมองเห็นจุดแข็งหรือทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนจึงไม่เคยดึงมันมาใช้ และหากพิจารณาองค์ประกอบของความเข้มแข็งทั้ง 3 ด้านที่กล่าวไปในข้างต้นก็จะพบว่ามันก็คือองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านของ resilience ได้แก่ I am, I have และ I can
Strengths-Based Therapy เหมาะกับใครบ้าง
Strengths-Based Therapy เป็นรูปแบบการบำบัดที่เหมาะกับผู้ที่มี self-esteem ต่ำ มีปัญหาเรื่องความวิตกกังวล มีอารมณ์หดหู่ซึมเศร้า มีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัว บุคคลที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น รวมไปถึงการแนะแนวอาชีพ (career counseling) ก็สามารถนำหลักการแบบ Strengths-Based มาใช้ได้เช่นกัน
ตัวอย่างเทคนิคที่ใช้ใน Strength-Based Therapy
แสดงให้เห็นว่าจุดแข็งคืออะไร เป็นอย่างไร โดยอาจจะมีลิสต์ของจุดแข็งรูปแบบต่าง ๆ ให้ผู้รับบริการดูเป็นตัวอย่าง
มองหาจุดแข็งของผู้รับบริการ โดยอาจจะใช้คำถามนำ เช่น “คุณชอบอะไรในตัวเองบ้าง” “ข้อดีของคุณมีอะไรบ้าง”
ใช้การ Re-Framing โดยชวนให้ผู้รับบริการคิดหรือมองสถานการณ์ด้วยมุมมองแบบใหม่
ให้ผู้รับบริการเขียนจุดแข็งของตัวเองออกมาเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ใช้เทคนิคการตั้งคำถามแบบ Strengths Growth Questions เช่น “คุณใช้วิธีอะไรในการผ่านปัญหาใหญ่ ๆ ของชีวิตมาได้”
อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐานก็มีสิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ การมองแง่บวกที่เป็นพิษ (toxic positivity) เนื่องจากวิธีการแบบ Strength-Based จะมุ่งเน้นมองหาจุดแข็งและชวนคิดในทางบวก แต่หากโฟกัสในทางบวกอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือไม่สอดคล้องความจริงก็อาจจะกลายเป็นการมองแง่บวกที่เป็นพิษได้
ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐานจะต้องเป็นบุคคลที่เอื้อให้ผู้รับบริการสามารถค้นพบศักยภาพหรือสิ่งที่เป็นความเข้มแข็งของเขาเอง โดยมีทิศทางเพื่อพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือเมื่อพบศักยภาพของตนเองแล้วต้องสามารถดึงมันมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองได้
ซึ่งจะแตกต่างจากการมองแง่บวกที่เป็นพิษที่จะทำให้ผู้รับบริการเกิดมุมมองว่าตนเองก็ดีอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร Strength-Based Therapy นั้นมีเป้าหมายสำคัญคือการชี้ชวนให้เห็นจุดแข็งและนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากผู้รับบริการรู้ว่าตัวเองมีอะไรดีหรือมีจุดแข็งอะไรแล้วไม่เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงก็ถือว่าการให้ความช่วยเหลือโดยใช้ Strength-Based Approach เป็นพื้นฐานไม่บรรลุเป้าหมาย
ดังนั้น หากคุณต้องการรับความช่วยเหลือแบบ Strength-Based Therapy ก็ควรเลือกผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการรับรองคุณวุฒิ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ที่ผ่านการอบรมฝึกฝนมาโดยตรง
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] What Is a Strength-Based Approach? (Incl. Examples & Tools). https://positivepsychology.com/strengths-based-interventions/
[2] What Is Strengths-Based Therapy?. https://www.verywellmind.com/strengths-based-therapy-definition-and-techniques-5211679
[3] คลังความรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. https://dmh-elibrary.org/items/show/1444
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยา
Commenti