หยุดการ Verbal Abuse ในบ้าน ช่วยเพิ่ม Self-esteem ให้ลูกรักได้
การ Verbal Abuse หรือ การทำร้ายกันด้วยคำพูด ดูจะเป็นการลงโทษสากลที่หลาย ๆ บ้านใช้ในการอบรมลูก ๆ แต่รูปแบบก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งมีทั้งแบบด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย ใช้คำพูดประชดประชัน การพูดถึงทั้งต่อหน้าและลับหลังในเชิงล้อเลียน การสรรหาคำมาเรียกแทนชื่อให้คนฟังอับอาย หรือการพูดด้วยคำพูดสุภาพ แต่น้ำเสียง และอารมณ์ที่สื่อออกมาเป็นไปในทางลบ และไม่ว่ารูปแบบของ Verbal Abuse แต่ละบ้านนั้นจะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยากล้ายืนยันเลย ก็คือ ผลของ Verbal Abuse ได้สร้างบาดแผลทางใจที่รุนแรง และส่งผลอย่างมากต่อตัวตน การมองโลก บุคลิกภาพ รวมไปถึงสภาพจิตใจของเด็กน้อยมาจนโตค่ะ
จากผลการศึกษาทางจิตวิทยา พบว่า Verbal Abuse ส่งผลโดยตรงต่อ Self-esteem เนื่องจาก Self-esteem คือการเห็นคุณค่าในตนเอง แต่เมื่อถูกต่อว่าในทุก ๆ วัน ทำอะไรก็โดนด่า โดนดุ ก็จะขาดความมั่นใจ มีมุมมองต่อตนเองในเชิงลบ เกิดความเชื่อผิด ๆ ว่า ฉันมันโง่ ฉันมันไม่เก่ง ฉันมันไม่ดี และที่แน่ ๆ คือ “ฉันไม่ได้เป็นที่รักของพ่อ แม่” หรือพูดอีกแบบ ก็คือ คำใด ๆ ที่เราได้ด่าลูกไว้ มันได้สมพรปากแล้วละค่ะ
นอกจากลูกจะกลายไปเป็นคนที่เราว่า เราด่าเขาแล้ว ลูกยังต้องได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้น และระยะยาวที่สะเทือน Self-esteem มากมายเลยค่ะ ดังเช่น จากผลการศึกษาทางจิตวิทยา พบว่า Verbal Abuse ได้ส่งผลระยะสั้นทำให้เด็ก หรือบุคคลที่ถูก Verbal Abuse มีภาวะซึมเศร้า เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม ไม่ไว้ใจใคร หวาดระแวง มีความเครียดสูง วิตกกังวลง่าย นอกจากนี้ยังทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่เข้าสังคม ไม่กล้าแสดงออก กลัวการอยู่ในที่สาธารณะ รู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวประหลาด และยังทำให้ลูกมีปมด้อย รู้สึกว่าตนเองไม่ดี ไม่เก่ง ไม่ฉลาด ไม่เท่าคนอื่น และหากมีอาการเรื้อรัง หรือสะสมนานเข้า ๆ ลูกก็จะกลายเป็นโรคซึมเศร้า (Major Depression) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) หรืออาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม (Antisocial personality disorder)ซึ่งจะไปก่อความเดือดร้อน หรือไปทำร้ายผู้อื่นในสังคมได้
สำหรับผลกระทบในระยะยาวนั้น จะทำให้เด็กเกิดปัญหาด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากสภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ หรือผลกระทบทางสุขภาพจิตที่เกิดจาก Verbal Abuse เช่น เมื่อเด็กมีภาวะซึมเศร้า ก็มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะกินน้อยลงมาก หรือกินมากเกินไป มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น นอนมาก นอนข้ามวันข้ามคืน นอนแบบไม่อยากตื่นขึ้นมาเจอใคร หรือนอนไม่หลับ เครียด ฝันร้าย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังตามมาได้ ทั้งนี้ เมื่อเด็กเกิดภาวะ Low Self-esteem หรือเห็นคุณค่าในตนต่ำ ก็จะขาดความมั่นใจในตนเอง เป็นเป้าโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ฉายแสง ในที่ทำงาน ขาดความมั่นใจ ขาดภาวะผู้นำ ไม่กล้าลงมือทำ ไม่กล้าติดสินใจ และกลายเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่เกิดภาวะ Low Self – esteem จะมีลักษณะเด่นอีกประการ ก็คือ มองโลกในแง่ร้าย ทำให้เขามองทุกคนในแง่ลบ ไม่เชื่อใจใคร ไม่ไว้ใจใคร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น มีแนวโน้มสูงที่จะติดสารเสพติด ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งรุนแรงที่สุด ก็คือ กลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย เป็นภัยสังคมเมื่อเขาโตขึ้น
ด้วยเหตุนี้แล้ว เราจึงควรหยุดการ Verbal Abuse ทั้งในบ้านและในสังคม เพราะนอกจากความสะใจของผู้พูดแล้ว ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดอีกเลย หนำซ้ำยังจะนำพามาซึ่งปัญหาที่เกิดกับลูก หากรักเขา และต้องการเสริม Self – esteem ให้เขา ลองมาใช้วีการลงโทษทางบวกดูนะคะ นอกจากจะไม่สร้างบาดแผลทางใจแล้ว ยังสามารถปรับพฤติกรรมทางลบ และเสริมพฤติกรรมทางบวกได้อีกด้วยละค่ะ
1. ลดการดุด่า มาลงมือแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปด้วยกัน
หากลูกทำผิด หรือทำพลาด เช่น ทำของแตก ทำบ้านเลอะ ทำของเสียหาย ทำของหาย โดยปกติแล้วสิ่งที่เราจะทำ ก็คือ เอ็ดตะโรลูกด้วยเสียงใช่ไหมคะ ทีนี้มาเปลี่ยนใหม่ เป็นหายใจเข้า – หายใจออก ลึก ๆ ยาว ๆ ให้ใจเย็น หรือถ้ายังไม่สงบแนะนำให้ไปหาที่กรีดร้อง หรือชกกระสอบทรายก่อนได้ เมื่อสงบแล้วจึงค่อยชวนลูกมาเก็บกวาดบ้าน มาประกอบของ มาแก้ไขในสิ่งที่เขาทำ แล้วเขาจะได้เห็นความยากลำบากในการแก้ไขสถานการณ์ ไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบค่ะ
2. ลดการทำให้เจ็บใจ เป็นมาใช้เวลาเพื่อส่วนรวม
หากลูกมีพฤติกรรมที่สร้างปัญหาให้คนรอบข้าง เช่น แกล้งเพื่อ ขโมยของ แทนที่เราจะลงโทษลูกด้วยคำพูดรุนแรง หรือริบของเล่นลูกให้ลูกเจ็บใจ เปลี่ยนมาชวนลูกทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นบริจาคของ เก็บขยะ ปลูกต้นไม้ ช่วยเหลือสัตว์ในสถานสงเคราะห์ หรือร่วมกิจกรรมของชุมชน เพื่อให้ลูกได้เห็นว่าโลกนี้ยังมีคนที่รอคอยความช่วยเหลืออีกมาก แล้วเราจะยังไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นอีกหรือ และลูกก็สามารถใช้พลังของลูก ใช้แรงของลูก ในการช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้
3. พาไปดูผลกระทบของสิ่งที่ทำ
หรือถ้าลูกมีมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำให้คนรอบข้างได้รับความเดือดร้อน และไม่เต็มใจที่จะไปทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ก็พาเขาไปดูผลของการกระทำของเขาเลยค่ะว่าสิ่งที่เขาทำ ทำให้คนอื่นเดือนร้อนขนาดไหน เช่น พาลูกไปเยี่ยมเพื่อนที่บาดเจ็บ พาไปขอโทษเพื่อน ขอโทษผู้ปกครองของเพื่อน พาไปดูว่าการที่เขาเล่นซนจนของพังเสียหาย เจ้าของสิ่งของต้องเดือดร้อนขนาดไหน เพื่อให้เขาได้ตระหนักถึงผลของการกระทำค่ะ
4. ถ้าลูกขาดอะไร ก็เสริมในส่วนนั้น
หากลูกมีความสามารถในส่วนไหนที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเรา ลองดูสิว่านอกจากการพูดจาดูถูก หรือการเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว เราสามารถพาเขาไปฝึกฝนอะไรได้บ้าง เช่น เรามีเวลาสอนการบ้านลูกมากขึ้นไหม เราสามารถพาลูกไปเรียนพิเศษได้ไหม หรือเราสามารถฝึกฝนลูกด้วยตนเองอะไรได้บ้างไหม แล้วเราก็จะได้เห็นค่ะว่าลูกชอบอะไร ถนัดอะไร ลูกไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนใครเพราะเขามีดีในตัวเอง เพียงแค่เราต้องหาให้เจอและสนับสนุนให้ถูกทาง
5. ลดการเปรียบเทียบ เพิ่มการตั้งเป้าหมาย
ถ้าลูกไม่เก่งเท่าลูกข้างบ้าน ลูกยังไม่ดีเท่าเพื่อนร่วมชั้น หรือเรามองว่าลูกยังไม่เจ๋งเท่าเด็กในข่าวแล้วละก็ ลองเปลี่ยนคำพูดเปรียบเทียบที่ทำให้เกิดปมด้อย มาเป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตลูก ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวไปด้วยกันดีไหมคะ แล้วเราจะได้มองเห็นว่าในอีก 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี ลูกอยากจะทำอะไรให้สำเร็จ วิธีการนี้จะช่วยลดแรงกดดันทั้งตัวเราและลูกลงได้มาก และยังสามารถวางแผนชีวิตได้อย่างง่ายด้วยละค่ะ
บ่อยครั้งที่เราใช้คำพูดในการทำร้ายกัน และบ่อยครั้งที่เราพูดโดยไม่คิด แต่คนฟังจำติดไปจนวันตาย ซึ่งผลของมันรุนแรง เรื้อรัง และยาวนาน เกินกว่าที่เราจะคาดคิดเชียงคะ หวังว่าบทความนี้จะช่วยลดการ Verbal Abuse ในครอบครัวลงได้บ้าง เพื่อเสริมสร้าง Self-esteem ของคนในบ้านที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
[1] Starfish Academy. (2564). Verbal Abuse ระวังความรุนแรงทางคำพูด สร้างแผลในใจลูกตลอดกาล. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2565 จาก https://www.starfishlabz.com
[2] พบแพทย์. (กันยายน 2564). Self Esteem การเห็นคุณค่าในตัวเองที่สร้างได้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2565 จาก https://www.pobpad.com
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุข กับการเขียนบทความจิตวิทยา
Comments