บทเรียนจากคดีแม่ทำร้ายลูก : หยุดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตฆาตกร
ทุกคนคงเคยได้ยิน “แม่เด็ก 8 เดือน” ซึ่งในตอนแรกเป็นคดีเด็กหาย แต่สุดท้ายกลายเป็นคดีแม่ทำร้ายลูก แต่ระหว่างทางของคดีที่สื่อให้ข้อมูลนั้น ทำให้เราสามารถปะติดปะต่อและเห็นความเป็นมาของชีวิตเด็กสาวคนหนึ่งที่กลายมาเป็นแม่วัยใสโดยไม่ได้เตรียมความพร้อม อีกทั้งเส้นทางชีวิตยังหนักหนาสาหัส จนต้องมาลงเอยกับการกลายเป็นฆาตกร
และในตอนนี้สังคมก็ตั้งคำถามว่า “เพราะอะไรเธอถึงกลายเป็นแม่ที่ทำร้ายลูก?” และก่นด่าเธอต่าง ๆ นานา คำตอบของคำถามนี้อยู่ใกล้ตัวมากค่ะ เพราะ “พวกเราล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างฆาตกรในสังคม” ทั้งการ Bully การดูถูก การด้อยค่า การเหยียดหยาม แม้แต่การไม่ใส่ใจ ไม่ให้คุณค่า เพิกเฉยต่อความรุนแรง ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกออนไลน์ ต่างผลักดันให้คน ๆ หนึ่งรู้สึกไร้ที่พึ่ง ไร้ทางหนี ไม่มีทางออก จนตรอกและกลายมาเป็นฆาตกร
อย่างเช่นแม่เด็ก 8 เดือน ที่กลายมาเป็นแม่ทำร้ายลูก เธอก็เป็นลูกที่ถูกพ่อ แม่ ทำร้ายมาก่อน เพราะโตมากับครอบครัวที่แม่บกพร่องทางการได้ยิน พ่อขี้เมา มีการทะเลาะตบตี ใช้ความรุนแรงในครอบครัว มีฐานะยากจน ไม่มีเพื่อนสนิท ไปโรงเรียนก็ถูกเพื่อน Bully ไม่ให้เข้ากลุ่ม ไม่มีเพื่อนคบ
จนต้องออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อมีคนที่เหมือนจะรักเธอ จนตกลงใจใช้ชีวิตด้วยกัน ก็กลับกลายมาเป็นคนทำร้ายเธอ พาเธอไปขายบริการกับคนในหมู่บ้าน เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว จนเธอตั้งท้องโดยไม่ตั้งใจ และเธอก็ไม่มีความรู้เรื่องการตั้งครรภ์ ไม่มีความรู้เรื่องการดูแลลูก ไม่มีแม้แต่แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ทำให้เธอใช้ชีวิตไปวัน ๆ อย่างไร้จุดหมาย กลายเป็นคนที่โตมาโดยไร้ความรัก จึงไม่มีความรักให้กับใคร แม้แต่กับลูกของตัวเอง
จากเรื่องราวของเธอ สามารถนำมาเป็นกรณีตัวอย่างทางอาชญาวิทยา และจิตวิทยาครอบครัวได้เลยค่ะ เพราะเธอคือผลผลิตของครอบครัวและสังคมนี้ และเพื่อไม่ให้เราสร้างฆาตกรหรือแม่ทำร้ายลูกขึ้นมาอีก เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่มากพอที่จะสร้างคนดี ๆ ขึ้นมาในสังคม ดิฉันจึงได้รวบรวมคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาในการสร้างสังคมคุณภาพมาฝากกันค่ะ
1. หยุดทำร้ายกันในครอบครัว
ครอบครัวที่ดีไม่ได้วัดกันที่ฐานะครอบครัว แต่วัดกันที่ความสุขในการอยู่ร่วมกันในครอบครัว และครอบครัวที่ดีจะเป็นรากฐานให้ทุกชีวิตในครอบครัวมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่ดี แต่ถ้าครอบครัวไม่ดี พ่อ แม่ทะเลาะกันทุกวัน ใช้ความรุนแรงกันจนชาชิน พูดจาหยาบคาย โวยวายใส่กัน
เด็กในบ้านก็จดจำและนำไปใช้นอกบ้าน จนเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา หรือผู้ใหญ่ในบ้านเองก็จะเกิดความเครียดสะสม และมาระเบิดกับคนนอกบ้านจนเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการให้สังคมปลอดภัย เราต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ความปลอดภัยในครอบครัวเลยค่ะ
2. รับฟังกันให้มากขึ้น
ไม่ว่าเรามีความทุกข์ใจมาจากไหน แต่ถ้ามีใครสักคนที่ยินดีรับฟังเรา ปล่อยให้เราเล่าความในใจโดยไม่ขัด ถึงแม้เขาจะไม่ได้ให้คำปรึกษาอะไร เราก็รู้สึกสบายใจขึ้นมาก เพราะฉะนั้นลองสลับบทบาทกันบ้าง บางครั้งเราเล่าให้คนใกล้ตัวฟัง บางครั้งเรารับฟังคนใกล้ตัว ถ้าเราเป็นที่พักพิงทางใจให้กันและกันได้ จิตใจเราจะเข้มแข็ง สุขภาพจิตเราจะแข็งแรง และความสัมพันธ์ของเรากับคนใกล้ตัวก็จะเหนียวแน่นตามไปด้วย
3. ใส่ใจคนรอบข้างบ้าง
เมื่อเราต้องออกนอกบ้านโดยใช้รถสาธารณะ หรืออยู่ในที่สาธารณะ กิจกรรมส่วนใหญ่ที่เราใช้ฆ่าเวลาก็คือการใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งดิฉันเองก็เป็นค่ะ และบ่อยครั้งก็พลาดโอกาสอะไรหลายอย่า เช่น นั่งรถเมล์เลยป้าย ลง BTS ผิดสถานี ไม่ได้ลุกให้คนท้อง ผู้สูงอายุ หรือเด็กนั่ง ดิฉันก็เลยลองไม่ใช่โทรศัพท์มือถือเวลานั่งรถสาธารณะ ก็มีความเบื่อเล็กน้อยค่ะเพราะไม่รู้จะทำอะไร แต่ก็ได้ดูวิว ได้มองเห็นการใช้ชีวิตของผู้คนรอบข้าง และบางทีก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต หรือพบเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ใจฟูขึ้นได้ด้วย
4. อย่าคิดว่านั่นไม่ใช่เรื่องของเรา
เรื่องที่เรามักจะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่สนใจมากที่สุด ก็คือ เรื่องคนรักทะเลาะกัน เพราะเราไม่อยากกลายร่างเป็นสุนัขเวลาที่เขากลับมาดีกัน นั่นจึงทำให้ผู้หญิง หรือผู้ชายก็ตาม โดนคนรักทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ และหนักสุดคือทำลายชีวิต โดยที่เราไม่ให้ความช่วยเหลืออะไรเลย ทั้ง ๆ ที่เราสามารถเตือนให้เขาพาตัวเองออกมาก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น หรือสามารถปกป้องเขาได้ ฉะนั้นแล้วยอมเป็นสุนัขดีกว่าปล่อยให้ใครก็ตามกลายเป็นเหยื่อของการโดนทำร้าย ทั้ง ๆ ที่เราสามารถช่วยเขาได้
5. ให้โอกาสอย่างพอเหมาะ
ในโลกนี้ไม่เคยมีใคร “ถูกตลอดเวลา” หรือ “ประสบความสำเร็จตลอดกาล” ทุกคนย่อมเคยทำผิดพลาดบ้าง ล้มเหลวบ้าง และคนที่เคยต้องโทษหลายคนก็ทำความผิดโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นเราควรให้โอกาสคนที่เคยทำผิด หรือทำพลาดมีพื้นที่ยืนในสังคม มีเวทีที่จะแสดงความสามารถ มีพื้นที่ให้เขาประกอบอาชีพ ให้เขาได้ใช้ชีวิต แต่ถ้าทำผิดซ้ำซาก แบบนั้นเราก็ไม่ควรจะให้โอกาสเขาอีกแล้วค่ะ
6. อย่ากดดันใครจนเขาจนตรอก
เหตุอาชญากรรมในที่ทำงาน มักมีสาเหตุมาจากการทะเลาะเบาะแว้งเล็ก ๆ แล้วไม่ได้เคลียร์ใจ จนลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่จบลงด้วยการทำร้ายกัน ซึ่งเรื่องเช่นนี้นักจิตวิทยาองค์กรทราบกันดี แต่แก้และป้องกันได้ยาก เพราะในองค์กรมักจะมองว่าการทะเลาะกัน หรือผิดใจกัน หรือเม้ามอยกันของพนักงานเป็นเรื่องสุดแสนจะปกติ และยิ่งถ้าเป็นหัวหน้า หรือเจ้านายกระทำกับผู้ใต้บังคับบัญชายิ่งไม่มีใครอยากมายุ่ง แต่นั่นคือการกดดัน การบีบบังคับให้คน ๆ หนึ่งไม่มีทางเลือก จนเปลี่ยนความคับข้องใจไปเป็นความแค้น และก่อเหตุรุนแรงในที่สุด
7. สร้างแรงบันดาลใจ
การสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ต้องเล่นใหญ่ขนาดว่าลงประกวดแข่งขัน หรือได้รับมงจากเวทีไหน เพียงแค่คุณทำหน้าที่ของคุณให้ดีที่สุด เป็นแม่ที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ เป็นพนักงานที่ทำงานในเวลางานเต็มที่ เป็นเพื่อนที่จริงใจ เป็นที่คิดดี พูดดี มีทัศนคติต่อชีวิตที่ดี คุณก็สามารถส่งพลังบวกให้คนรอบข้างได้แล้วค่ะ
เราทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า สังคมจะเป็นอย่างไร คนในสังคมจะเป็นอย่างไร ล้วนอยู่ที่พวกเราสร้างสรรค์ขึ้นมา หากเราใส่ใจกันมากขึ้น ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งบทบาทในครอบครัว บทบาทในความสัมพันธ์ บทบาทในหน้าที่การงาน และบทบาทของความ “เป็นมนุษย์” ดังที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำ รับรองเลยค่ะว่าโลกเราจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก และสามารถลดจำนวนแม่ทำร้ายลูก หรือคนทำร้ายกันได้มากค่ะ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
[1] Thai PBS. (27 กุมภาพันธ์ 2566). “นิ่ม” หญิงผู้ไม่มีความฝัน วันที่ไม่เหลือใคร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จาก
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments