4 สไตล์การสื่อสารที่ควรเลิกใช้ หากไม่อยากให้การ “เกลียดคนในบ้าน” เกิดขึ้น
การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์มีลักษณะเป็นสัตว์สังคม มนุษย์จึงมีความต้องการที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับคนอื่น โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ เพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกว่างเปล่า โดดเดี่ยว หรือหวาดกลัว ซึ่งในการที่มนุษย์จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับอื่น ๆ ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากการสื่อสารที่เลือกใช้นั้นขาดประสิทธิภาพ ก็อาจจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง และความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งก็นำมาซึ่งความรู้สึกไม่มีความสุข
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ก็อาจจะนำมาสู่ความรู้สึกเกลียดคนในบ้านได้ บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนให้มารู้จักกับ 4 สไตล์การสื่อสารที่เป็นสาเหตุของความรู้สึกเกลียดคนในบ้าน เพื่อให้คุณสามารถเอาไปใช้เป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสร้างความสุขให้กับตัวเองและคนในครอบครัวได้
สไตล์การสื่อสารที่เป็นสาเหตุของความรู้สึกเกลียดคนในบ้าน (Toxic Communication Styles) ทั้ง 4 สไตล์ มีดังต่อไปนี้
1. ใช้การตำหนิวิจารณ์ (Criticism)
เป็นธรรมดาที่บางครั้งคนในบ้านจะทำอะไรไม่ถูกใจเรา หรือเราเองก็อาจจะมีบ้างที่ทำอะไรไม่ถูกใจคนในบ้าน และก็เป็นธรรมดาอีกเช่นกันที่เมื่อมีการทำอะไรไม่ถูกใจเกิดขึ้น ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ โมโห หรืออาจจะถึงขั้นปรี๊ดแตกในบางครั้ง แต่บ้านจะไม่เป็นเซฟโซนขึ้นมาโดยทันทีและอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดคนในบ้านขึ้นมา หากการสื่อสารเป็นไปในลักษณะของการตำหนิวิจารณ์ เพราะการตำหนิวิจารณ์จะทำให้คนฟังรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรที่ไม่ปกติหรือเป็นคนที่ไม่ดี ฟังแล้วรู้สึกแย่ และบางครั้งก็ไม่เข้าใจว่าเขาทำอะไรผิดมากขนาดนั้นเลยหรือ?
เทคนิคในการปรับเปลี่ยน: ลองเปลี่ยนจากการตำหนิวิจารณ์ มาเป็นการสื่อสารความต้องการของตัวเองออกไปให้คนฟังได้รับรู้ว่าเราอยากให้เขาทำอย่างไร เช่น จากเดิม “เป็นอะไรมากมั้ย? จะขี้เกียจอะไรขนาดนั้น แค่เอาฝาชักโครกลงแค่นี้ก็ทำไม่ได้เลยหรือไง?” เปลี่ยนเป็น “ฉันอยากให้เธอเอาฝาชักโครกลงให้ด้วยทุกครั้ง”
2. ดูถูกหรือสบประมาท (Contempt)
การดูถูกหรือสบประมาท มีทั้งในรูปแบบของการใช้คำพูดสบประมาทและการใช้ภาษาท่าทางที่แสดงถึงการดูถูก ซึ่งการสื่อสารโดยใช้การดูถูกสบประมาทก็เป็นอีกวิธีการสื่อสารที่ทำให้ความรู้สึกเกลียดคนในบ้านเกิดขึ้นได้ เพราะพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ทุกคนล้วนต้องการได้รับการยอมรับ แต่การดูถูกหรือสบประมาทเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับ รวมถึง ยังสะท้อนถึงการไม่ให้เกียรติกันอีกด้วย
เทคนิคในการปรับเปลี่ยน: ลองปรับมุมมองความเชื่อของตัวเองที่อาจจะเคยคิดว่า –ฉันดีกว่าเธอ- เป็นการมองว่าทุกคนมีคุณค่าและมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครด้อยกว่าหรือเหนือกว่าไปใครในทุกด้าน แม้บางเรื่องเราอาจจะเก่งจริง ๆ แต่ก็อย่าลืมว่าเราเองก็ไม่ได้เก่งสมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง
การมองเห็นศักยภาพของคนอื่นในบ้านจะช่วยให้เราเกิดความรู้สึกชื่นชม และช่วยลดความรู้สึกว่า –เธอด้อยกว่าฉัน- อันเป็นความรู้สึกที่ทำให้เราเชื่อว่ามันสมเหตุสมผลแล้วที่เราจะดูถูกหรือสบประมาทคนอื่น เช่น จากเดิม “น้ำหน้าอย่างแกน่ะเหรอจะหางานดี ๆ ทำได้ ขนาดเรียนยังร่อแร่ เกรดก็ไม่ถึง 2.5” อาจจะเปลี่ยนเป็น ไม่ต้องพูดอะไรเลยยังดีกว่า หากพูดออกมาแล้วมันจะเป็นคำพูดเชิงลบที่ทำร้ายจิตใจคนฟัง แต่หากจะอยากจะสื่อสารกับคนในบ้านโดยที่ไม่ทำให้เกลียดกัน ก็ควรเลือกใช้คำพูดเชิงบวกมากกว่าคำพูดเชิงลบ เช่น “ไม่เป็นไรหรอก ถึงการเรียนจะกลาง ๆ แต่คนเรามันก็ต้องมีดีกันบ้าง ลูกชอบทำอะไรล่ะ?”
3. ชอบแก้ตัว (Defensiveness)
เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วที่ไม่อยากให้ตัวเองรู้สึกแย่ และบางความรู้สึกแย่ก็มาจากการที่จะต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดหรือทำอะไรพลาดไป เพราะอาจจะนำมาซึ่งความรู้สึกอับอายขายหน้า หรือกลัวว่าจะถูกลงโทษ การแก้ตัวจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มักถูกหยิบมาใช้เพื่อปกป้องตัวเอง แต่ในทางกลับกัน การแก้ตัวบ่อย ๆ จะยิ่งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดหวัง และถ้าต้องเจอกับการแก้ตัวบ่อย ๆ ก็อาจจะรู้สึกสิ้นหวังไปเลย เพราะรู้สึกว่า -พูดไปก็เท่านั้น ยังไงเขาก็แก้ตัวอยู่ดี- ทำให้ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ชอบแก้ตัวอีกต่อไป เพราะอยู่ด้วยแล้วไม่มีความสุข
เทคนิคในการปรับเปลี่ยน : สิ่งที่จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาตัวเองจากคนที่ชอบแก้ตัวไปสู่คนที่ยอมรับความจริงได้ ก็คือ ฝึกให้ตัวเองเป็นคนมีความรับผิดชอบ คนที่มีความรับผิดชอบจะไม่กลัวการถูกลงโทษ จึงมองว่า - ไม่จำเป็นต้องแก้ตัว แต่จำเป็นต้องแก้ไขตัวเอง – ซึ่งจะทำให้เลิกเป็นคนที่มีนิสัยชอบแก้ตัวเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกลงโทษ หรือปรับมุมมองจากการมองว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องน่าอับอาย เป็น มองว่า เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการยอมรับผิดเมื่อตัวเองทำผิดและรู้จักพูดขอโทษออกไป ย่อมดีกว่าการทำผิดแล้วพยายามหาข้อแก้ตัวอย่างแน่นอน
4. ทำตัวเป็นเหมือนฝาผนัง (Stonewalling)
อย่างที่บอกไปแล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความต้องการเชื่อมโยงตัวเองกับคนอื่น ดังนั้น ลักษณะของการสื่อสารแบบหนึ่งที่มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งจนอาจไปถึงขั้นเกลียดคนในบ้านก็คือ การไม่ตอบสนองแต่เลือกที่จะนิ่งเฉยแทน เหมือนพูดกับฝาผนังหรือกำแพงหินเย็น ๆ ที่ไม่มีเสียงตอบรับอะไรมาเลย ซึ่ง Stonewalling ที่ว่านี้ได้รวมไปถึงการที่อีกฝ่ายเลือกที่จะหนีบทสนทนาด้วย และยิ่งความรู้สึกแย่มันสะสมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแต่จะทำให้ความรู้สึกไม่พอใจมันเพิ่มขึ้นเท่านั้น และหากความไม่พอใจถูกเก็บสะสมไว้นาน ๆ ก็อาจจะกลายเป็นความเกลียดไปได้ในวันหนึ่ง
การที่บางคนเลือกที่จะนิ่งหรือหนีไปจากการสนทนา ในบางครั้งก็อาจจะเป็นไปได้ตัวเขาเองก็กำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมจะรับฟังด้วยเหมือนกัน เพราะอาจจะกำลังอยู่ในสภาวะเครียด กดดัน หรือกำลังอารมณ์ไม่ดีอยู่ จึงไม่อยากจะรีบตอบสนองออกไปในตอนนั้นเพราะกลัวว่าจะเกิดการทะเลาะกันรุนแรงหากพูดออกไปตอนที่ตัวเองกำลังอารมณ์ไม่ดี
เทคนิคในการปรับเปลี่ยน : เพิ่มการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมาให้คนในบ้านรับรู้ว่าเพราะอะไรคุณจึงเลือกที่จะนิ่งแทนที่จะพูดคุยกัน ซึ่งการที่จะสื่อสารออกมาได้นั้น คุณจะต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวเองให้ได้เสียก่อน โดยอาจจะเริ่มจากการฝึกฝนการคุยกับตัวเองให้สามารถมองเห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น จะได้สามารถบอกให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจได้ว่าตอนนี้คุณกำลังอยู่ในสภาวะอารมณ์แบบใด เช่น หากคนในบ้านต้องการที่จะพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบ้าน แต่คุณยังไม่พร้อม อาจจะสื่อสารออกไปว่า “ตอนนี้ผมกำลังรู้สึกเครียดมาก ขอเวลาอยู่กับตัวเองสักสองวัน แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาคุยกันได้ไหม”
อย่างไรก็ตาม การอยู่ร่วมกันกับคนอื่นนั้นมีความเป็นศิลปะที่ไม่มีสูตรตายตัว หากคุณต้องการเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นเพิ่มเติม ก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือมาเรียนรู้กับหลักสูตรระยะสั้นของ iSTRONG ได้ค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
ประวัตินักเขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments