top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังเลี้ยงลูกให้เป็น “เด็กสปอยล์ (spoiled kid)”


ในฐานะที่ผู้เขียนเองเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาและเป็นแม่ด้วยในเวลาเดียวกัน ผู้เขียนมีความเข้าใจว่าพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนมีความรักต่อลูก และเมื่อสังเกตกระแสของการเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันก็จะพบว่าพ่อแม่หลายคนมีความกังวลว่า ลูกจะลำบาก หลายคนมักจะพูดว่า “ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนที่ตัวเองเคยลำบากมาก่อน” ซึ่งเป็นเจตนาที่หวังดี แต่ผลลัพธ์จะออกมาดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรูปแบบและวิธีที่คุณใช้ในการเลี้ยงลูก ผู้เขียนพบว่าหลายครอบครัวรักลูกไม่ถูกทางจนทำให้เด็กมีบุคลิกภาพแบบเอาแต่ใจหรือกลายเป็นเด็กสปอยล์ ซึ่งเมื่อเด็กเติบโตขึ้นและต้องไปอยู่ในสังคมก็จะส่งผลกระทบทางลบอย่างมาก เพราะเด็กมักจะคาดหวังให้คนอื่นเป็นไปอย่างใจและต้องพบกับความผิดหวังที่สังคมภายนอกไม่ได้ตามใจ ยิ่งเมื่อไปเจอคนที่เอาแต่ใจเหมือนกันก็จะยิ่งรู้สึกไม่พอใจและผิดหวังมากขึ้นไปอีก ผู้เขียนพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการของโรคซึมเศร้าหรือโรคบุคลิกภาพผิดปกติบางคนมีประวัติถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ จึงอยากจะหยิบยกข้อมูลจากบทความจากเว็บไซต์ CNBC ที่กล่าวถึง 5 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสปอยล์ ดังนี้


1. ลูกอยากได้อะไรก็ได้ ไม่เคยมีคำว่า “ไม่” จากปากของพ่อแม่ผู้ปกครอง ในทางกลับกัน มักจะเป็นฝั่งลูกที่มักจะพูดว่า “ไม่” กับพ่อแม่ผู้ปกครอง


2. ลูกมักเป็นไปฝ่ายได้รับมากกว่าแบ่งปัน เมื่ออยู่ในครอบครัวที่เลี้ยงให้ลูกมักจะเป็นฝ่ายได้รับและไม่ได้สอนเรื่องการแบ่งปัน ลูกก็จะเรียนรู้ผิดว่า ทุกคนต้องให้ฉันหรือยอมฉันอยู่แล้วเป็นปกติ เวลาที่ได้รับอะไรจากคนอื่นจึงไม่มีการกล่าวขอบคุณ หรือเวลาอยากให้คนอื่นช่วยอะไรก็จะพูดในเชิงสั่งมากกว่าจะขอร้องด้วยความสุภาพ


3. ลูกมีความต้องการแบบ “ASAP” (As soon as possible) หมายถึง เวลาอยากได้อะไรก็ต้องได้เดี๋ยวนั้น การที่คุณเลี้ยงลูกแบบ เมื่อลูกต้องการอะไรก็จะทำให้เลยทันที ก็จะทำให้ลูกขาดทักษะในการรอคอย ขาดความเข้าใจว่าคนอื่นไม่ได้ว่างอยู่ตลอดเวลาจึงไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการให้ได้เดี๋ยวนั้น ซึ่งเมื่อเด็กสปอยล์ไม่ได้อะไรเดี๋ยวนั้นก็จะหงุดหงิดโมโหและเชื่อว่ามันสมเหตุสมผลที่จะแสดงอาการเกรี้ยวกราดใส่คนอื่น


4. ลูกเป็นคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง เด็กสปอยล์มักจะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษและมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้เครื่องหมาย MVP เป็นรางวัลจากคุณครู เด็กสปอยล์จะมีความเชื่อว่า “ฉันต่างหากที่ควรได้รับ” หรือ “ฉันควรจะได้รางวัลมากกว่าเพื่อนคนนั้น”


5. ลูกไม่รู้สึกพอใจสักทีแม้ว่าจะมีอะไรมากมาย หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ต่อให้พ่อแม่ซื้อของเล่นให้เต็มบ้าน ลูกก็จะยังรู้สึกว่าตัวเองมีของเล่นน้อยเกินไป และพยายามจะร้องขอให้พ่อแม่ซื้อให้ตัวเองอีกเรื่อย ๆ


วิธีการแก้ไขพฤติกรรมลูกก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กสปอยล์


1. อะไรที่ไม่สมเหตุสมผลต้องกล้าที่จะปฏิเสธลูกไปโดยไม่ต้องรู้สึกผิด พ่อแม่หลายคนทนไม่ไหวที่จะเห็นลูกร้องไห้หรือมีท่าทางซึมไปด้วยความผิดหวัง จึงตามใจลูกทุกอย่างแม้ในบางครั้งลูกจะต้องการอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลหรือเรียกร้องมากเกินไป ซึ่งการตามใจแบบนี้เป็นความรักลูกที่ไม่ถูกทาง


2. ชื่นชมพฤติกรรมที่ลูกทำได้ดีหรือทำถูกต้อง แต่ไม่ชมพร่ำเพรื่อโดยไม่ระบุพฤติกรรม เช่น ควรชมว่า “แม่ชอบที่ลูกแบ่งของเล่นให้เพื่อน” แทนที่จะชมว่า “ลูกสวยจังเลย” หรือ “ลูกแม่เก่งที่สุดเลย”


3. ปลูกฝังให้ลูกมี Gratitude การฝึกให้ลูกมีความรู้สึกขอบคุณซาบซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีจะช่วยให้ลูกมีความสุขมากขึ้น รับมือกับความยากลำบากที่ต้องเจอได้มากขึ้น นำไปสู่การมีระดับความพึงพอใจในชีวิต (Life Satisfaction) มากขึ้น


4. ฝึกให้ลูกรู้จักอดทนรอคอยด้วยการไม่ตอบสนองความต้องการของลูกโดยทันที แต่ให้รั้งเวลาออกไปเพื่อให้มีช่วงที่ลูกต้องอดทนรอคอย


5. สะท้อนให้ลูกเห็นเวลาที่ตัวเองมีพฤติกรรมไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น โดยอาจจะใช้คำพูด เช่น “ลูกคิดว่าเพื่อนจะรู้สึกยังไงที่รู้ว่าลูกไปหยิบขนมของเพื่อนกินมาโดยไม่ขอก่อน”


6. สอนให้ลูกแบ่งปันแทนที่จะคิดแต่ว่าตัวเองจะต้องเป็นฝ่ายได้รับ โดยอาจจะพาลูกทำกิจกรรมที่ได้ทำพฤติกรรมแบ่งปัน เช่น เอาขนมไปแจกเพื่อนที่โรงเรียน เอาของที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาค


ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มากก็น้อย และขอเป็นกำลังใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนเพราะการเลี้ยงเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพโดยเฉพาะทางจิตใจนั้นไม่ง่ายและต้องอาศัยความทุ่มเททั้งด้านเวลาและความอดทน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการพูดคุยกับลูก ก็อาจจะใช้วิธีการเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องให้ลูกเห็นแทน หรือหากพบว่าลูกมีปัญหาอารมณ์พฤติกรรมมากก็ควรพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

RAISING SUCCESSFUL KIDS A child psychologist shares the 5 signs you’ve raised a ‘highly spoiled’ kid—and how parents can ‘undo’ it. https://www.cnbc.com/2023/02/18/child-psychologist-shares-signs-of-highly-spoiled-kids-and-how-parents-can-raise-kind-grateful-kids.html


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG


Kommentarer


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page