top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับเพลงที่มีคำหยาบ



ช่วงนี้กำลังมีดราม่าร้อนแรงเกี่ยวกับเพลงที่มีคำหยาบ ซึ่งหลายคนก็ออกมาแสดงความกังวลใจว่าลูกหลานของตัวเองจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรือเลียนแบบไปแล้วด้วยการเอาเพลงนั้นมาร้องที่บ้าน ทำให้มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่สบายใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม


ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยามาเกือบ 11 ปี และมีประสบการณ์เป็นคุณแม่มา 14 ปี พบว่ามีสิ่งที่น่ากังวลใจมากกว่าเพลงที่มีคำหยาบอยู่มากมายหลายอย่าง และคำหยาบคายจากเพลงหรือจากสังคมภายนอกไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน ในโลก Social Media มันไม่ได้น่ากลัวเท่า “คำพูดรุนแรงจากคนในครอบครัว” เลยค่ะ


เพราะจากประสบการณ์การทำงานพบว่ามีผู้ที่มาปรึกษาหลายคนที่กำลังรับการรักษาจากจิตแพทย์ ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางวาจา เช่น ชอบพูดไล่ลูกออกจากบ้าน ชอบพูดจาเสียดสีทิ่มแทงใจลูก ชอบขู่ว่าจะไม่รักจะเอาลูกไปทิ้ง ฯลฯ


อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ยังคงรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับเพลงที่มีความหยาบคาย และต้องการที่จะปกป้องลูกจากความเป็นพิษใน Social Media แต่ก็รู้ดีว่าตัวเองคงไม่สามารถปิดหูปิดตาลูกจากสื่อต่าง ๆ ได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ความช่วยเหลือลูกได้ดังนี้


1. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม


ในโลก Social Media สิ่งที่กำหนดว่าผู้ใช้งานรายใดควรจะได้รับข้อมูลชุดใดนั้นมาจากการทำงานของ “algorithms” (คำสั่งหรือเงื่อนไขแบบทีละขั้นตอนที่จะทำให้หุ่นยนต์นั้นทำสิ่งที่เรากำหนดให้) ซึ่งมันจะป้อนข้อมูลที่สอดคล้องกับคำค้นหาของผู้ใช้งาน ในขณะที่จะไม่ป้อนข้อมูลที่ผู้ใช้งานไม่เคยคลิกหรือค้นหาเพราะมันจะตีความว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานไม่สนใจ


ทั้งนี้ ธรรมชาติของวัยรุ่นจะรู้สึกอุ่นใจกว่าเมื่อทำอะไรเหมือนกับคนอื่น รวมไปถึงการติดตาม “Peer influencers” (กลุ่มบล็อกเกอร์ที่มีความชื่นชอบ หรือเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ทำให้มีคนที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกันมาติดตาม โดยมีจำนวนผู้ติดตามประมาณ 1 หมื่นถึง 1 แสนคน) ก็เป็นพฤติกรรมที่พบได้เป็นปกติในวัยรุ่น


ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงของ algorithms และพฤติกรรมของวัยรุ่นก็คือ ลูกหลายของคุณก็อาจจะกลายเป็น target ของคนผลิตคอนเทนต์บางประเภทได้ ผู้เขียนจึงอยากเสริมเพิ่มเติมว่า การที่คุณพ่อคุณแม่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy) และพัฒนาการตามวัยของลูกควบคู่กันไป ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันสื่อและสามารถให้ความรู้กับลูกได้เมื่อมีปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่ากังวลใจเกิดขึ้น


2. รับฟังและเข้าใจ


รับฟังเวลาที่ลูกเล่าถึง influencers ที่เขาชอบหรือสิ่งที่เขาสนใจ และชวนลูกคุยว่าเพราะอะไรเขาถึงชอบหรือสนใจบุคคลหรือสิ่งนั้น โดยเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่ามุมมองของเขาออกมาให้มาก เพื่อทำความเข้าใจความคิดมุมมองของลูกอย่างไม่ตัดสินหรือด่วนสั่งสอนทั้งที่ลูกยังไม่ทันได้เล่าออกมาอย่างละเอียด ซึ่งผู้เขียนมองว่าการที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถทำเช่นนี้ได้ต้องฝึกสติมาพอสมควร ต้องมีเวลาคุณภาพร่วมกับลูก ใส่ใจลูกอยู่เสมอ และมีสัมพันธภาพที่ดีกับลูกมากพอ


3. สรุปปัญหา


แทนที่จะไปโฟกัสอยู่กับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของ influencers ให้เปลี่ยนเป็นชวนลูกแตกประเด็นต่อยอดจากพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ เช่น ชวนลูกคิดว่าอะไรที่ทำให้ influencers ทำแบบนั้น และชวนให้ลูกคิดตามว่าที่จริงแล้วเป้าหมายของ influencers ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์แบบไหนก็คือพวกเขาต้องการสร้างรายได้และความมีชื่อเสียง


4. ส่งเสริมให้ลูกมี Critical Thinking


ภูมิคุ้มกันหรือยาดีในการปกป้องลูกจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมบนโลกออนไลน์ก็คือทักษะในการวิเคราะห์ (Critical Thinking) โดยทักษะนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่คุณพ่อคุณแม่ไปบอกหรือสั่งสอนลูกให้เชื่อฟังทำตาม ดังนั้น แทนที่จะใส่ชุดความคิดความเชื่อของตัวเองลงไปให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ควรจะฝึกลูกให้มีมุมมองเชิงวิพากษ์ (critical perspective) ด้วยการตั้งคำถามให้ลูกคิดและวิพากษ์สิ่งที่ลูกเห็นใน Social Media


5. สะท้อนคิดในเรื่องของคุณค่า (Value)


ชวนลูกคุยว่าพฤติกรรมใน Social Media มันสอดคล้องกับสิ่งที่ครอบครัวหรือสังคมของเราให้คุณค่าหรือไม่ และถ้าสิ่งที่ influencers ทำมันเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ ลูกควรจะทำตามไหม ผู้เขียนขอเสริมว่า ต่อให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะอยู่ในกระแสนิยมในโลกออนไลน์มากแค่ไหน


หากลูกมองว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นไอดอลของเขา และสัมผัสได้ว่าบ้านเป็นเซฟโซนที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นปลอดภัยมีความสุข ลูกจะไม่มีทางที่จะทำตาม influencers ที่มีพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับอย่างแน่นอน หากคุณพ่อคุณแม่มั่นใจว่าใส่ใจลูกอย่างเพียงพอก็ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นกังวลมาก

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดรู้สึกกังวลใจกับพฤติกรรมของลูก แต่ไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร หรือใช้วิธีของตัวเองแล้วพบว่ามันกลับทำให้ลูกยิ่งต่อต้านและมีพฤติกรรมในทางลบมากขึ้น ก็อย่าลังเลใจที่จะปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นค่ะ ยิ่งปรึกษาเร็ว ยิ่งแก้ไขพฤติกรรมลูกได้ง่าย หากปล่อยทิ้งไว้นานก็อาจจะยากที่จะแก้ไข

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] 5 Ways to Protect Your Child From Toxic Influencers on Social Media. https://independentschoolparent.telegraph.co.uk/lifestyle/how-to-protect-children-from-toxic-influencers/

[2] อัลกอริทึม (Algorithm) คืออะไร? https://www.enablerspace.com/th/digitalmarketingtips/what-is-an-algorithm/

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยา

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page