top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 วิธีสอนลูกให้มีมารยาทในสังคม


เราคงได้ยินกันบ่อยๆ กับคำกล่าวที่ว่า “ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” และคุณผู้อ่าน ก็คงเคยสงสัยในพฤติกรรมของเพื่อนร่วมสังคมจนเกิดคำถามในใจว่า “คนแบบนี้โตขึ้นมาในสังคมแบบไหนนะ?” การที่เรารู้สึกเช่นนี้ ไม่ว่ากับเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม นั้นก็เพราะเรารู้สึกว่าเขาเหล่านั้นสร้างความเดือดร้อนให้แก่เรา ไม่ว่าจะเป็นส่งเสียงดัง เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีมารยาท ซึ่งพฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุมาจาก “มารยาททางสังคมบกพร่อง”


มารยาทสังคม


โรคมารยาททางสังคมบกพร่องคืออะไร?


โรค “มารยาททางสังคมบกพร่อง” ก็คือ พฤติกรรมการไม่ตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์ปกติจากคนรอบข้าง เช่น มีคนทักก็เฉย มีคนให้ของก็เฉย มีคนแสดงน้ำใจก็เฉย หรือพูดง่ายๆคือ แสดงท่าทีหยิ่งอย่างจริงจังนั้นเอง นอกจากนี้ยังมีการขาดมารยาทขั้นพื้นฐาน ไม่รู้จักการสวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ไม่รู้จักแม้กระทั่งการยิ้ม ไม่แสดงออกถึงการมีน้ำใจ และสำหรับผู้ที่มีอาการของโรค “มารยาททางสังคมบกพร่อง” หนักหนารุนแรง จะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม มีความคิดว่าโลกต้องหมุนรอบฉัน ทุกคนต้องทำตามใจฉัน ฉันต้องได้ก่อน ฉันมีสิทธิทำอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นอันตรายมากค่ะหากคนผู้นั้นทำตามความคิดของเขา เพราะเมื่อเขาไม่พอใจ เขาอาจจะทำร้ายใครก็ได้ หรือหากต้องการสิ่งใด ก็อาจขโมยสิ่งนั้นเลยก็ได้



ซึ่งความหนักหนาของพฤติกรรมข้างต้นนี่เอง ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้างที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกับเขา แน่นอนว่าเจ้าตัวไม่เดือดร้อนหรอกค่ะ คนที่ป่วยเป็นโรค “มารยาททางสังคมบกพร่อง” ที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือ อาชญากรที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เด็กแว๊น สก๊อย เป็นต้น



โรคมารยาททางสังคมบกพร่องเกิดจากอะไร?


ทางจิตวิทยา “โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง” จัดอยู่ในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติ (Personality Disorder) โดยประกอบด้วยโรคที่เข้าข่าย “มารยาททางสังคมบกพร่อง” 3 โรค ได้แก่


เด็กเรียกร้องความสนใจ

1.โรคต่อต้านสังคม หรือ Antisocial personality disorder

มีลักษณะเด่น คือ มีพฤติกรรมเกเรมากมาตั้งแต่เด็ก ชอบทำตัวเป็นอันธพาล ก้าวร้าว ขี้โมโห หยาบคาย ชอบความรุนแรง ชอบทำร้ายคนอื่น ชอบรังแกสัตว์ ชอบละเมิดสิทธิผู้อื่น เวลาที่โกรธจะชอบใช้กำลังและไม่สามารถระงับอารมณ์ของตัวเองได้ บางรายมีประวัติในการใช้สารเสพติด ชอบทำผิดกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำของตนเอง จัดได้ว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมเลยทีเดียว



2.โรคชอบเรียกร้องความสนใจ หรือ

Histrionic Personality Disorder

ฟังดูชื่อโรคเหมือนจะไม่มีผิดไม่มีภัยอะไร

แต่แท้จริงแล้วคนที่เป็นโรคนี้มักจะสร้างความเดือดร้อนเรื้อรังให้แก่คนรอบข้างมากกว่าโรคอื่นๆ กล่าวคือ บุคคลที่เป็นโรคนี้มีพฤติกรรมที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้รับความสำคัญและเป็นที่สนใจอย่างมาก โดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งที่ตนเองกระทำลงไปนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีงามหรือไม่


3.​โรคหลงตัวเอง หรือ Narcissistic Personality Disorder

มีอาการเด่น คือ มองภาพลักษณ์ของตัวเองว่าเป็นคนที่หล่อ สวย เก่งอย่างที่ไม่มีใครจะเทียบเทียมได้ จนกลายเป็นว่าตัวเองทำอะไรก็ดีไปหมดไม่เคยมีอะไรที่ผิดพลาดเลย คนที่หลงตัวเองต้องการให้คนอื่นยกย่องชมเชยตัวเองตลอดเวลาจนเป็นที่น่าหมั่นไส้ อีกทั้งเป็นคนที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว ตัวเองต้องมาก่อน ชอบเอารัดเอาเปรียบและไม่เคยมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น



เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นโรคมารยาททางสังคมบกพร่อง

วิธีการที่จะป้องกันไม่ให้ลูกๆ หรือเด็กๆ ในปกครองของเราไม่ให้เป็น “โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง” นั้น จิตแพทย์และนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กจากหลายๆ ประเทศ ให้ข้อเสนอแนะไว้ 5 วิธีด้วยกัน ดังนี้ค่ะ


เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก

1.เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กๆ

หากคุณผู้อ่านต้องการจะปลูกฝังสิ่งใดให้แก่เด็กๆ คุณผู้อ่านต้องเป็นต้นแบบให้แก่เด็กๆ ก่อน โดยเด็กๆ จะเริ่มเรียนรู้บทบาททางเพศ มาตรฐานทางศีลธรรมและการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจากตัวแบบ (Role Model) ในครอบครัว โดยมีตัวแบบเป็นตัวอย่าง และให้ข้อมูลแก่เด็ก เพื่อเรียนรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ดังนั้นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจึงสามารถสร้างขึ้นโดยการเรียนรู้จากบุคคล ในครอบครัว และรวมถึงแนวความคิดค่านิยมของสังคม



2.วางกฎในบ้านร่วมกัน และทำตามกฎของบ้านอย่างเคร่งครัด

การวางกฎในบ้านร่วมกันระหว่างพ่อ แม่ ลูก ถือเป็นการปลูกฝังประชาธิปไตยให้แก่เด็กๆรูปแบบหนึ่ง เพราะเด็กๆจะได้เรียนรู้จากแสดงความคิดเห็น ได้เรียนรู้การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และที่สำคัญ เด็กๆจะได้เรียนรู้การปฏิบัติตามกฎระเบียบ



3.ทำกิจกรรมที่ฝึกสมาธิร่วมกัน

การฝึกสมาธินอกจากจะทำให้จิตใจปลอดโปร่ง สมองแจ่มใส สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี แล้วยังทำให้เด็กมีสติมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าตนทำอะไร และสิ่งที่ทำจะส่งผลอย่างไร ซึ่งจะทำให้เด็กๆมีความตระหนักในตนเอง และคิดถึงคนอื่นอยู่เสมอ



4.ฝึกการใช้เหตุผล

แน่นอนเลยว่าเราทุกคนย่อมมีความสบายใจที่จะทำงาน ทำกิจกรรม หรือใช้ชีวิตร่วมกับคนที่มีเหตุผล มากกว่าคนที่ใช้อารมณ์ เพราะคนที่มีเหตุผลนั้นย่อมมีการกระบวนการคิด วิเคราะห์ที่เป็นระบบ เป็นผู้มีระเบียบในชีวิต และการใช้เหตุผลเพื่อการตัดสินใจ ที่จะเลือกการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในสถานการณ์ต่าง ๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางจิตใจของบุคคลได้อย่างมีแบบแผน และยังทำให้เข้าใจพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ ได้



5.ฝึก “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” ให้ติดปาก

นาย ณภัทร เสียงสมบุญ นักแสดงสุดหล่อขวัญใจของใครหลายๆคน เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สาเหตุที่เขาไม่เคยมีปัญหาทะเลาะกับเพื่อน หรือเป็นข่าวเสียหายด้านการใช้อารมณ์รุนแรงเลย นั้นก็เพราะแม่หมูของเขาได้ติดอาวุธให้มาสองอย่าง คือ คำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ”


จากคำสัมภาษณ์นี้ ในฐานะคุณแม่ลูกหนึ่งต้องขอชื่นชมแม่หมู พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ เลยว่าปลูกฝังและอบรมสั่งสอนน้องนายได้ดีจริงๆ เพราะการใช้ชีวิตในสังคมของเรานั้น ต้องอยู่ในบทบาทของผู้รับอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของสิ่งของ หรือการช่วยเหลือ ดังนั้น คำ “ขอบคุณ” จึงเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความสำนึกในน้ำใจของผู้ให้อย่างง่ายๆ แต่ชัดเจนค่ะ และการอยู่ในสังคม ยิ่งคนเยอะยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะมีการปะทะกันบ้าง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้นแล้ว คำ “ขอโทษ” อย่างจริงใจก็เป้นสิ่งจำเป็นที่จะสอนให้เด็กๆเรียนรู้อย่างขึ้นใจค่ะ



หวังว่าข้อแนะนำและความรู้ที่ได้นำเสนอในบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่าน ที่เป็นคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณผู้อ่านที่ยังไม่มีเด็กๆเป็นของตัวเองก็ตาม ได้นำไปปรับใช้หรือบอกต่อ เพื่อมาปูกฝังให้เด็กๆของเราเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพ และห่างไกล “โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง” กันค่ะ


 

อ้างอิง :

1. American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and Statistical Manual Disorders. Fifth edition. Washington, D.C : American Psychiatric Association.

2. แพง ชินพงศ์. 2560. คุณเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติหรือเปล่า?. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ออนไลน์ฉบับวันที 20 กุมภาพันธ์ 2560.

3. www.baanjomyut.com

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page