top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เมื่อเรายิ้มแต่ไม่ได้สุขใจ สังเกตอย่างไรว่าเป็น Smiling Depression



เรามักจะติดภาพว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องเศร้า ต้องซึม สีหน้าต้องอมทุกข์ แต่บทความจิตวิทยานี้จะชวนมารู้จักอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า ที่หน้ายิ้ม แต่ใจเศร้า ที่เรียกว่า Smiling Depression 


Smiling Depression เป็นอาการของคนที่ยิ้มง่าย ภายนอกดูร่าเริง แต่ภายในใจเศร้าโศก แตกสลาย เมื่ออยู่ตามลำพังคนที่มีภาวะ Smiling Depression จะร้องไห้ ฟูมฟาย เศร้าซึมอย่างหนัก แต่พอต้องอยู่กับคนอื่น ๆ ผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression จะฝืนยิ้ม ทำตัวดูมีความสุข เพื่อให้คนรอบข้างต้องมาห่วงใย 


ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาให้ข้อมูลว่า Smiling Depression มีสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้

1. ห่วงใยความรู้สึกคนรอบข้างมากกว่าตัวเอง

สาเหตุนี้มาจากการที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้ตัวเองว่าตนเองกำลังป่วยอยู่ และมีความกังวลว่าคนรอบข้าง คนที่เขารักจะต้องมาเครียดไปกับอาการเจ็บป่วยของเขาด้วย เขาจึงได้เก็บกดอาการซึมเศร้าเอาไว้ภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้ม และพยายามทำตัวให้เป็นปกติ แต่ภายในถูกกัดกร่อน และกำลังพังทลาย

2. รู้สึกกดดันจากความคาดหวัง

นอกจากความกดดัน หรือคาดหวังเกินความเป็นจริงจะส่งผลให้เกิดภาวะ Smiling Depression แล้ว ยังเป็นสาเหตุหลักให้เกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย เพราะความคาดหวังที่เกินความเป็นจริงจะสร้างความกดดันมหาศาลให้แก่ผู้ถูกคาดหวัง จนทำลายความมั่นใจ ทำลายตัวตนจนเกิดเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมา

3. เป็นกลไกทางจิตในการเก็บอาการซึมเศร้า

สาเหตุการใช้กลไกทางจิต หรือในทางจิตวิทยาเรียกว่า Defense Mechanism เช่นนี้นั้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากำลังพยายามปฏิเสธอาการป่วย และพยายามฝืนใช้ชีวิตให้เป็นปกติ เพื่อบอกตัวเองว่าฉันสบายดี ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความสบายใจเลยแม้แต่น้อย 

4. พยายามจัดการไม่ให้อาการซึมเศร้าคุกคามชีวิต

การที่ผู้ป่วยซึมเศร้าพยายามฝืนยิ้ม และใช้ชีวิตให้เป็นปกตินั้น เป็นเพราะพวกเขาพยายามจัดการไม่ให้อาการซึมเศร้าคุกคามชีวิต และป้องกันไม่ให้โรคซึมเศร้าทำลายชีวิต จึงให้การยิ้มสู้ แต่นั่นกลับยิ่งทำให้ภายในเศร้า และรู้สึกแย่กว่าเดิม


แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังอยู่ในภาวะ Smiling Depression ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อมูลเอาไว้ ดังนี้ค่ะ

1. ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ในใจเศร้าซึม

ผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression มีข้อสังเกตง่าย ๆ เลยก็คือ ทุกครั้งที่คุณยิ้ม คุณไม่รู้สึกถึงความสุข หรือความรู้สึกทางบวกที่เกิดขึ้นเลย มีแต่หน้าเท่านั้นที่ยิ้ม แต่ภายในใจกรีดร้อง เศร้าซึม หม่นหมอง 

2. หัวร้อน ความอดทนต่ำกว่าปกติ

หากคุณเคยเป็นผู้อารมณ์ดี แต่อยู่ ๆ กลับหงุดหงิดง่าย หัวร้อน ความอดทนต่อผู้คนหรือสถานการณ์ต่ำ แต่ถึงแม้ภายในจะคุกรุ่นอย่างไร แต่หน้าก็ยังต้องฝืนยิ้มออกมา นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณอาจกำลังเข้าสู่ภาวะ Smiling Depression

3. เบื่อ เหนื่อยหน่ายไปทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ชอบมากก็ตาม

อาการเบื่อ เหนื่อยหน่ายใจ อ่อนล้า อ่อนเพลีย ไม่มีพลังในการใช้ชีวิต นอกจากจะเป็นสัญญาณของภาวะ Smiling Depression แล้ว หากเราปล่อยเอาไว้ไม่ดูแลรักษา ก็อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าที่แท้จริงก็เป็นได้ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากกว่า และรักษายากมากกว่า

4. ต้องฝืนใช้ชีวิตให้เป็นปกติ

หากคุณเกิดความรู้สึกว่า การใช้ชีวิตในแต่ละวัน ต้องใช้พลังงานชีวิตมหาศาลในการที่จะพาตัวเองออกจากบ้านมาทำงาน มาใช้ชีวิต และยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะแสดงออกให้เป็นปกติ ทั้งฝืนยิ้ม หัวเราะ ทำตัวสดใส ร่างเริง นั่นเป็นสัญญาณว่า คุณอาจกำลังมีภาวะ Smiling Depression อยู่ก็เป็นได้ค่ะ

5. รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า

สัญญาณอันตรายอีกข้อของ Smiling Depression ก็คือ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเริ่มรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ตัวตนถูกทำลาย  มีความคิดจะทำร้ายตนเองไม่อยากมีชีวิตอยู่ และอันตรายถึงขั้นลงมือทำร้ายตนเอง

6. มีอาการนอนผิดปกติ

เมื่อคุณนอนมากผิดปกติ ตื่นมาก็นอนต่อ เพราะไม่อยากลุกออกไปใช้ชีวิต หรือมีอาการนอนน้อย นอนไม่หลับ เพราะเครียด วิตกกังวล หากมีอาการนอนผิดปกติเป็นเวลานานควรพบแพทย์ดูนะคะ เพื่อป้องกันการพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะ Smiling Depression ในอนาคต 

7. มีอาการกินผิดปกติ

นอกจากการนอนผิดปกติแล้ว หากคุณมีพฤติกรรมการกินที่ผิดแปลกไปจากเดิม เช่น กินน้อยลง จนวัน ๆ หนึ่งแทบจะไม่กินอะไรเลย หรือกินมากแบบไม่มีเหตุผล อิ่มแล้วก็ยังกินอยู่ หรือกินทั้งวัน นั่นก็เป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะ Smiling Depression ค่ะ

8. มีปัญหาเรื่องความจำ และการใช้สมาธิ

และสัญญาณสุดท้าย ก็คือ มีปัญหาเรื่องความทรงจำและสมาธิ เริ่มจำเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ นึกชื่ออะไรก็ติดอยู่ที่ปาก จะพูดอะไรก็ติดขัดเหมือนสมองไม่แล่น ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน หรือการทำงาน จดจ่อความสนใจไม่ได้ นั่นแสดงว่าถ้าคุณไม่พักผ่อนน้อย ก็กำลังมีภาวะ Smiling Depression อยู่ค่ะ  


และถ้าคุณสังเกตตัวเองพบว่ามีอาการเข้าข่าย Smiling Depression ก็อย่าเพิ่งตกใจไป ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้มีข้อแนะนำในการดูแลตนเองสำหรับผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression ดังนี้ค่ะ

1. ระบายความในใจให้คนที่ไว้ใจได้

วิธีที่ง่ายที่สุด และบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ก็คือ การระบายความทุกข์ใจให้คนที่เรารักฟัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปพูดคุยในห้องส่วนตัวอย่างเป็นทางการเหมือนคุยกับจิตแพทย์ แค่เราสามารถโทรศัพท์พูดคุย หรือพิมพ์แชทพูดความในใจกับคนที่เรารักก็สามารถระบายความในใจได้แล้วค่ะ 

2. ออกไปใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการบ้าง

หากชีวิตมันเครียด มันอ่อน มันล้า ควรพักแล้วออกไปใช้ชีวิตที่ต้องการบ้าง เช่น ออกไปเที่ยว ออกไปผจญภัย ออกไปตามล่าหาฝันที่เคยทิ้งไปนานแล้ว เพื่อเติมไฟในการใช้ชีวิตให้ชีวิตสดชื่น สดใสมากขึ้น 

3. พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายให้แข็งแรง

เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ เราจึงต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู จิตใจได้แจ่มใส และมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง เพื่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ

4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา

และข้อแนะนำสุดท้ายสำหรับผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression ก็คือ ควรหาเวลาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักจิตบำบัด เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าได้อย่างตรงจุด และกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างที่ควรจะเป็นค่ะ


การที่เราจัดการกับภาวะ Smiling Depression ได้อย่างตรงจุดนั้น แรกที่สุดเราต้องเริ่มที่การยอมรับตัวเราเองก่อนค่ะว่าเรากำลังมีภาวะซึมเศร้า เราไม่โอเคกับชีวิตของเราตอนนี้ และเมื่อเรายอมรับความรู้สึกภายในของเราได้แล้ว เราจึงค่อยเข้าสู่แนวทางการดูแลตนเองตามที่ได้แนะนำข้างต้นเพื่อรักษาเยียวยาจิตใจให้มีความสุขมากขึ้นค่ะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 


อ้างอิง : คมสันต์  เกียรติรุ่งฤทธิ์. (21 มีนาคม 2567). Smiling Depression ยิ้มง่ายแต่ภายในแตกสลาย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/smiling-depression%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%AA/


 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page