ความลับของคนยิ้มหัวเราะง่ายแต่ในใจอาจเป็นโรคซึมเศร้า
วันก่อนผู้เขียนได้อ่านบทความของ ดร. Rita Labeaune ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาคลินิก ได้พูดถึงเรื่องของคนเป็นโรคซึมเศร้าไว้อย่างน่าสนใจ หากคนนั้นเพียงมีอาการซึมเศร้า เอาแต่ร้องไห้ ก็คงไม่มีอะไรน่าประหลาดใจมากนัก แต่กลับมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนหัวเราะง่าย ยิ้มง่าย แต่ในใจกลับเป็นโรคซึมเศร้า รู้หรือไม่ว่ามีคนเป็นจำนวนมากที่กำลังหน้าชื่นอกตรม ภายนอกดูร่าเริง แต่ภายในกลับแบกความเศร้าไว้เต็มหัวใจ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า คนไทยที่เป็นผู้ป่วยซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคน (ข้อมูลปี 2561) ซึ่งตัวเลขนี้เฉพาะที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว และแต่ละปีมีคนไทยฆ่าตัวตายสูงถึง 4 พันราย และที่น่าตกใจกว่านั้นคือ อายุของคนที่ฆ่าตัวตายมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ดังที่เราจะเห็นข่าวอยู่หลายครั้งว่ามีเด็กมหาวิทยาลัย เด็กมัธยม หรือแม้แต่เด็กประถมฆ่าตัวตาย หากพูดถึงโรคซึมเศร้า หลายคนคงจินตนาการถึงคนที่มีแต่อารมณ์เศร้าหมอง เบื่อหน่าย หมดแรง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไร แต่ความจริงแล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละคนจะแสดงอาการแตกต่างกันไป บางคนอาจไม่ปรากฏอาการเหล่านี้เลย เพราะมัวแต่ยุ่งวุ่นวายกับภารกิจประจำวัน ที่ดูเหมือนมีพลังอยู่ตลอดเวลา รวมถึงกลุ่มคนที่มักยิ้มง่าย (Smiling Depression) หัวเราะง่าย ซึ่งทำให้เราหลายคนอดแปลกใจไม่ได้ แม้แต่เจ้าตัวเองก็ตามที่อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับภาวะป่วยทางใจ หรือในบางครั้งพวกเขาก็ไม่กล้าที่จะยอมรับตัวเอง เพราะไม่อยากถูกมองว่า “อ่อนแอ” นั่นเอง ทำไมพวกเขาจึงยิ้ม ในทางจิตวิทยาโรคซึมเศร้านั้นประกอบด้วยอาการหลักคือ อารมณ์เศร้าหมอง ดังนั้น การยิ้ม หัวเราะ ร่าเริง จึงเป็นเหมือนกลไกปกป้องตัวเอง (Defense mechanism) คือความพยายามที่จะซ่อนแอบความรู้สึกที่แท้จริง คนเหล่านั้นอาจกำลังเผชิญกับปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาเรื่องงาน หรือการอยู่อย่างไร้จุดมุ่งหมาย การยิ้มอาจเป็นการสวมหน้ากาก ซึ่งผู้คนที่กำลังเผชิญสิ่งเหล่านี้อยู่ในบทบาทที่ชีวิตเป็นไปด้วยดี พวกเขามีหน้าที่การงานดี ดูแลครอบครัวที่เพียบพร้อม ดูเป็น family person เล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือเข้าสังคมตามปกติ ชีวิตพวกเขาอาจดูสมบูรณ์แบบจากภายนอก แต่ภายใต้หน้ากากเหล่านั้น พวกเขากำลังเศร้าโศก รู้สึกไร้ค่า นอนไม่หลับ หรือแม้กระทั่งมีความคิดอยากตาย ในภาวะของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วไป หากมีความคิดอยากตาย หลายคนอาจไม่มีเรี่ยวแรงมากพอจะลุกขึ้นมาทำตามที่ใจต้องการ แต่คนที่ถูกเรียกว่า Smiling Depression นี้จะมีแรงและพลังงานมากพอที่จะลุกขึ้นมาวางแผนและทำตามแผนจนกระทั่งทำสำเร็จ นี่เป็นเหตุผลว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเศร้าหมองเสียด้วยซ้ำ แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ที่มีภาระหน้าที่มากมาย มีธุรกิจ ทีมงาน และชีวิตส่วนตัวให้รับผิดชอบมากมาย และดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปในทางที่ดี แต่ในบางครั้งข้างในใจกลับสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีความสุข กลับรู้สึกเศร้า วิตกกังวล และขาดไร้ซึ่งแรงบันดาลใจ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังไม่ถึงขั้นป่วย และสามารถฟื้นฟูตัวเองให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนวัยทำงานที่อาจเผชิญกับภาวะซึมเศร้าได้เป็นครั้งคราว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับภาวะนี้ ขอให้หมั่นสังเกตตัวเอง ตระหนักรู้ตัวเอง และหาทางฟื้นฟูความรู้สึกให้กลับมามีความสุขกับชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิมให้เร็ว ไม่อย่างนั้นคุณอาจเข้าข่ายที่ควรขอความช่วยเหลือ > 9 วิธีในการดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง เพื่อชีวิตที่มีความสุข อย่างไรก็ตาม วิธีการสังเกตตัวเองว่าอาจเข้าข่ายโรคซึมเศร้าแบบ Smiling Depression อาจดูจากอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีความวิตกกังวลในใจ กลัว โกรธ เหนื่อยล้า อ่อนแรง หัวเสีย สิ้นหวัง รวมทั้งอาจมีการนอนหลับที่ผิดไปจากปกติ เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกแล้วนอนต่อไม่ได้ รู้สึกไม่มีความสุข ทำอะไรก็ไม่สนุก กินไม่ลง หรือความต้องการทางเพศลดลง เข้าไปทำแบบประเมินโรคซึมเศร้า ที่อ้างอิงจากกรมสุขภาพจิต ได้ที่นี่ >> อีกทั้งคุณยังสามารถสังเกตอาการคนรอบข้างได้ว่าพวกเขากำลังเผชิญภาวะเหล่านี้หรือไม่ โดยดูจากไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมที่แปลกไป ดูเบื่อหน่าย ทั้งที่ปกติเคยเปี่ยมด้วยพลัง บางครั้งคุณสามารถสังเกตได้จากการโพสสถานะหรือแชร์บางเรื่องราวลงในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งเดี๋ยวร่าเริง เดี๋ยวเศร้าหมอง ก็อาจเข้าข่ายเช่นกัน > ชำแหละความคิดโรคซึมเศร้า รู้เพื่อป้องกันคนใกล้ตัว คิดสั้น อยากตาย แต่การจะไปบอกตรง ๆ ว่าพวกเขาอาจกำลังเป็นโรคซึมเศร้านั้น จะดูรุนแรงเกินไปสำหรับคนที่เป็น Smiling Depression เพราะสำหรับพวกเขา การยอมรับสิ่งเหล่าคือความอ่อนแอ และการยื่นมือเพื่อช่วยเหลือก็อาจถูกปฏิเสธโดยบอกว่าพวกเขาสบายดีได้เช่นกัน ดังนั้นคุณอาจต้องใช้ความใจเย็นและใช้เวลาให้นานมากพอในการนั่งลง คุยกัน รับฟังโดยไม่ตัดสิน พูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่กำลังเผชิญ หรือชีวิตของพวกเขาช่วงนี้ ซึ่งคุณต้องสร้างความไว้วางใจและปลอดภัยมากพอที่จะทำให้อีกฝ่ายยอมเปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง ในหลายครั้งที่คุณอาจต้องเป็นฝ่ายบอกเล่าความรู้สึกหรือความในใจของคุณก่อน เพื่อเปิดประเด็นการสนทนาและสร้างความไว้วางใจ > 5 เคล็ดลับจูงใจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา หากคุณพบว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเข้าข่ายโรคซึมเศร้า ควรไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีแผนกจิตเวช หรือหากยังไม่มีเวลาหรือไม่แน่ใจ มีวิธีที่สะดวกและง่ายสำหรับคุณคือ การโทรปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตวิทยาคลินิก ที่จะช่วยวินิจฉัยเบื้องต้น หรือหากยังไม่เข้าขั้นป่วย คุณก็จะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เพื่อฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ที่ iStrong มีบริการนักจิตวิทยาที่ว่านี้เช่นกัน ดูรายละเอียดได้ที่นี่ https://www.istrong.co/service จำไว้ว่า การยอมรับว่าตัวเองกำลังไม่มีความสุข รู้สึกเศร้า วิตกกังวล กลัว หดหู่ หรือเครียด ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือความเข้มแข็งมากพอที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้น และเปิดเผยให้คนอื่นได้เห็นสิ่งที่อยู่ข้างในใจของคุณ หากความรู้สึกเศร้าเหล่านั้นไม่ได้รับความสนใจ ไม่ถูกพูดถึง ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และอาการจะยิ่งย่ำแย่ลงทุกขณะ โรคทางจิตใจก็สามารถรักษาให้หายได้เหมือนกับโรคทางกาย ขอเพียงรู้เท่าทัน ยอมรับ และเปิดรับความช่วยเหลือและการรักษา ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตัวในการรักษา ในไม่ช้าคุณก็จะกลับมามีความสุขกับชีวิตของคุณได้อีกครั้ง > อ่านบทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพิ่มเติมได้ที่นี่
Comentarios