top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จักกับ Sleep Deprivation ภาวะอดนอนที่สามารถทำให้คุณประสาทหลอนได้



รู้หรือไม่? หากคนเราไม่ได้กินอาหารจนเกิดความรู้สึกหิว หลังจากที่ได้กินอาหารเข้าไปแล้ว คุณก็จะรู้สึกอิ่มรวมถึงได้รับพลังงานและสารอาหารชดเชยเข้าไปในร่างกายได้เหมือนปกติ แต่ในกรณีที่คุณไม่ได้นอนหลับนั้น มันไม่สามารถที่จะนอนหลับชดเชยย้อนหลังได้เลย การที่คุณไม่ได้นอนหลับในจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอรวมไปถึงการนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพนั้นจะทำให้คุณเกิดภาวะอดนอน (Sleep Deprivation) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดังนี้

  1. เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด : มีหลายงานวิจัยที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงการมีภาวะความดันสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน(หัวใจวาย) โรคหลอดเลือดสมอง (Stoke)

  2. เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน : การนอนหลับที่ไม่เพียงพอจะส่งผลต่อระบบในร่างกายให้มีการหลั่งน้ำตาลออกมาในเลือดมากขึ้น หากระบบในร่างกายมีการหลั่งน้ำตาลออกมาอย่างผิดปกติเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้

  3. เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน : ในช่วงที่อดนอนจะทำให้คนเราเกิดความรู้สึกหิวขึ้นมาได้ ส่งผลให้อาจมีการบริโภคอาหารที่มีพลังงานและคาร์โบไฮเดรตสูงมากขึ้น การนอนไม่พอจึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอ้วนได้

  4. ภูมิคุ้มกันทำงานลดลง : ขณะที่นอนหลับ ร่างกายจะมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมไปถึงฟื้นฟูภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย การอดนอนจึงทำให้ร่างกายไม่สามารถที่จะซ่อมแซมหรือฟื้นฟูระบบต่าง ๆ ได้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันลดลง

  5. ระบบฮอร์โมนผิดปกติ : ระบบฮอร์โมนก็เป็นอีกระบบที่ร่างกายจะทำการซ่อมแซมฟื้นฟูประสิทธิภาพในเวลาที่คนเรานอนหลับ การอดนอนจึงมีผลให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดเพี้ยนไป ซึ่งฮอร์โมนหลายชนิดมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์

  6. เกิดอาการเจ็บปวด (pain) : การอดนอนส่งผลให้คนเราเกิดความรู้สึกเจ็บปวดได้ง่ายขึ้น และเมื่อคนเราเกิดความรู้สึกเจ็บปวดก็จะนอนหลับได้ยากมากขึ้น ความเจ็บปวดและการนอนไม่หลับจึงส่งผลต่อกันและกับเหมือนเป็นวงจร

  7. เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช (Mental health disorder) : การนอนหลับมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิต การนอนหลับที่ไม่เพียง โดยเฉพาะการอดนอนสะสมสามารถก่อให้เกิดอาการทางจิตเวชได้ เช่น

    • มีความคิดสับสน ความคิดในหัวที่ยุ่งเหยิงจะทำให้ตั้งสมาธิได้ยากเพราะมีความคิดมากมายหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (racing thoughts)

    • มีความเชื่อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือมีอาการหลงผิด (delusion)

    • ประสาทหลอน (hallucinations) มีการรับรู้ที่ผิดปกติไป เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน ได้กลิ่น รับรู้รสชาติ หรือเกิดความรู้สึก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

    • อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอารมณ์แปรปรวน มีการตอบสนองทางอารมณ์ลดลง

    • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น กลายเป็นคนเอาแน่เอานอนไม่ได้


กรณีตัวอย่างของการอดนอนที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบร่างกาย

มีบุคคลจากหลากหลายอาชีพที่มีรูปแบบของการปฏิบัติงานที่เสี่ยงต่อการอดนอนหรือเกิดภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น อาชีพนักบิน ซึ่งกรณีตัวอย่างของการอดนอนที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบร่างกายเกิดขึ้นกับนักบินของสายการบินแห่งหนึ่งในต่างประเทศที่เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก โดยจากการสืบสวนพบว่า นักบินประจำเที่ยวบิน ได้รับจำนวนชั่วโมงการทำงานยาวนานต่อเนื่อง 72 ชั่วโมงและได้พักเพียงเล็กน้อยก่อนจะต้องทำการบินอีกครั้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษย์ปัจจัยจากองค์การนาซ่าได้เข้ามาช่วยวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติในครั้งนี้ พบว่า เวลานอนของนักบินไม่เพียงพอ ซึ่งตามปกติมนุษย์ควรจะได้นอนหลับ 6 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงก็จะเกิด “หนี้การหลับ (sleep debt)” ขึ้น เมื่อหนี้การหลับสะสมเพิ่มขึ้นก็จะเกิดความเหนื่อยล้าสะสมตามไปด้วย ซึ่งกัปตันในเที่ยวบินนี้มีหนี้การหลับที่สูงมากทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานลดลง 50% เช่น ความทรงจำ การตัดสินใจ ความระมัดระวัง ปฏิกิริยาตอบรับ ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ จากกรณีอุบัติเหตุเครื่องบินตกครั้งดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญจึงสรุปว่าเกิดขึ้นจากการความเหนื่อยล้าสะสมและการนอนหลับที่ไม่เพียงพอทำให้กัปตันมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด นำไปสู่การเปลี่ยนกฎการบินที่มีการจำกัดชั่วโมงบินของพนักงาน

นอกจากกรณีดังกล่าว คุณอาจจะเคยเห็นบุคคลจากสายงานต่าง ๆ ที่อยู่ในคลิปตามสื่อสาธารณะที่แสดงพฤติกรรมหงุดหงิดฉุนเฉียว มีการโต้เถียงอย่างรุนแรงกับผู้รับบริการ ซึ่งหลายครั้งเมื่อสืบไปก็พบว่ามาจากสภาวะการอดนอนเพราะมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมากเกินไป


ทำอย่างไรถึงจะไม่อดนอนจนเกิดสภาวะติดหนี้การนอน?

  • รับรู้ว่าตนเองกำลังนอนน้อยแต่ไม่ต้องบังคับให้ตัวเองต้องนอน : บางคนมีอาการนอนไม่หลับหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ เมื่อตื่นมาจึงรู้สึกไม่สดชื่นและมีอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ทำให้เมื่อใกล้ถึงเวลานอนก็จะเริ่มวิตกกังวลกลัวว่าตัวเองจะนอนไม่หลับอีก ผลคือนอนไม่หลับจริง ๆ ตรงข้าม หากคุณไม่กังวลก่อนนอนก็อาจจะทำให้คุณนอนหลับได้ง่ายขึ้น

  • ให้ความสำคัญกับการนอนหลับ : แม้ว่าการงานหรือภารกิจอื่น ๆ จะมีความสำคัญ แต่การนอนหลับก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน คุณจึงควรจัดสมดุลให้กับตนเองโดยอย่าลืมบริหารจัดการเวลาให้มีช่วงเวลาในการนอนหลับอย่างเพียงพอในแต่ละวันด้วย

  • สภาพแวดล้อมของห้องนอนก็สำคัญ : ในบางครั้งการนอนไม่หลับก็มาจากแสง เสียง กลิ่น สัมผัส และอุณหภูมิของห้องนอน คุณควรดูแลห้องนอนให้สะอาด จัดห้องให้มีแสงและอุณหภูมิที่เหมาะแก่การนอนหลับ เลือกใช้กลิ่นหรือเสียงที่มีส่วนช่วยให้การนอนหลับของคุณดีขึ้น และหากเป็นไปได้ควรงดใช้จอที่ให้แสงสีฟ้าในช่วงเวลาเข้านอน เช่น สมาร์ทโฟน

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Sleep Deprivation. Retrieved from https://www.sleepfoundation.org/sleep-deprivation

[2] Can you "catch up" on your sleep debt? Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=z4IIqNo9xMw

[3] Sleep Deprivation Psychosis Is A Real Thing. Retrieved from https://www.webmd.com/connect-to-care/sleep-apnea/sleep-deprivation-psychosis-is-a-real-thing

[4] เครื่องบินตกปริศนาในฐานทัพสหรัฐ. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=hYu_TEyihgE


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page