บอกลานิสัย “เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด” ด้วยทักษะ Assertiveness
คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่มีนิสัยไม่กล้าปฏิเสธคนอื่น กลัวคนอื่นจะมองไม่ดี แคร์ความรู้สึกหรือสายตาของคนอื่นมากจนตัวเองต้องตกที่นั่งลำบากบ่อย ๆ หรือที่เรียกว่า เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด หากคำตอบของคุณคือ “ใช่” ในบทความนี้ผู้เขียนได้สรุปข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงรวมถึงประสบการณ์ชีวิตของตัวเองในการเลิกเป็นคนแบบเอ็นดูเขาเอ็นเราขาดหรือ People Pleaser ด้วยการนำทักษะ Assertiveness มาใช้ ดังนี้
Assertiveness มาจากคำในภาษาอังกฤษที่แปลตามความหมายจากพจนานุกรม อ. สอ เสถบุตร ก็คือ การยืนยันรักษาผลประโยชน์ แต่คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่า “การกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม” ซึ่งจัดเป็นทักษะทางสังคมประเภทหนึ่ง โดยคนที่มี Assertiveness ก็คือมีสไตล์ในการสื่อสารกับคนอื่นแบบเปิดเผย กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก หรือความต้องการของตัวเองออกมาให้คนอื่นได้รับรู้
ซึ่ง Assertiveness จะเป็นการแสดงออกที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความก้าวร้าว (Aggressive) กับการนิ่งเฉยไม่โต้ตอบ (Passive) คนที่มี Assertiveness จึงเป็นคนที่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นได้เป็นอย่างดีและสามารถรักษาความรู้สึกของตัวเองได้ด้วยในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้คนที่มี Assertiveness เป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตดีตามไปด้วย
ทำไมหลายคนจึงไม่มี Assertiveness?
ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ส่วนตัวที่หล่อหลอมให้มีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว คนที่ขาด Assertiveness ส่วนใหญ่มักมีประสบการณ์แย่ ๆ เวลาที่แสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา หรือเมื่อบอกความต้องการของตัวเองออกมาแล้วกลับถูกเมินเฉยหรือตำหนิ ซึ่งอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมก็มีผลต่อระดับของ Assertiveness ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสังคมที่ปลูกฝังค่านิยมว่า คนดีคือคนที่เสียสละอุทิศตน เชื่อฟังและเป็นผู้ตามที่ดี
ซึ่งโดยมากแล้วสังคมเอเชียมักจะเป็นเช่นนั้นเพราะสังคมเอเชียจะเป็นแบบ Collectivism ที่ค่านิยมทางสังคมจะเน้นให้คนในสังคมประพฤติตนให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานของกลุ่ม และให้คุณค่ากับการพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเอาไว้แม้จะส่งผลเสีย คนเอเชียส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ “กลัวการถูกเกลียด” “พยายามเอาใจทุกคน” “ใส่ใจคนอื่นมากไปจนตัวเองเหนื่อย” “เป็นผู้ตามหรือเป็นคนที่ต้องยอมคนอื่นตลอด”
How to เป็นคนที่มี Assertiveness
1. ฝึกทักษะการปฏิเสธ เรียนรู้ที่จะ say no
คนที่มี Assertiveness จะมีทักษะการปฏิเสธเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง และ say no เมื่อคนอื่นเริ่มจะล้ำเส้น ซึ่งอันดับแรกต้องเลิกกลัวการขัดแย้งกับคนอื่นจนยอมเป็นที่รองรับหรือตอบสนองอารมณ์ความต้องการของคนอื่นถึงขั้นยอมเก็บกดตัวตนไว้ เพราะหากยิ่งกลัวการขัดแย้งกับคนอื่นก็จะยิ่งหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยการเก็บกดอารมณ์ของตัวเองเอาไว้ จึงมักตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบอยู่เสมอ
2. ฝึกฝนจนกว่าจะชำนาญ
Assertiveness เป็นทักษะ มันจึงไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ดังนั้นหากคุณอยากเป็นคนที่มี Assertiveness ก็จำเป็นที่จะต้องฝึกฝน ยิ่งฝึกฝนมากเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสทำได้มากเท่านั้น
3. เขียนมันออกมา
การเขียนบันทึก (journal) หรือไดอารี่จะช่วยให้คุณเห็นภาพความคิดและพฤติกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น เพราะคนที่ขาด Assertiveness นั้นจะไม่แม้แต่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังขาด Assertiveness การเขียนทุกอย่างออกมาไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ความรู้สึก หรือพฤติกรรมของตัวเองแล้วนำมาอ่านมันจะเป็นการช่วยให้คุณมองเห็นภาพของตัวเองได้มากขึ้นและจะเริ่มเกิดการตระหนักว่าอะไรคือปัญหา
4. ปรึกษานักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัด
การที่คุณเป็นคนที่ขาด Assertiveness บางครั้งมันก็มีที่มาที่ไปอันเป็นเบื้องหลัง ซึ่งอาจจะพ่วงมากับปัจจัยด้านสุขภาพจิต (Mental health condition) เช่น Anxiety disorders, โรคไบโพลาร์, โรคซึมเศร้า หรือโรคจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดจะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยให้คุณเข้าใจตนเองมากขึ้น
นำไปสู่การจัดการกับความคิดอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ดีขึ้น รวมถึงเป็นผู้ช่วยที่ดีในการฝึกฝนทักษะ Assertiveness เปรียบเสมือนว่าคุณมีเทรนเนอร์ในการฝึกจิตใจให้มีความแข็งแรงมากขึ้น
5. เริ่มด้วยก้าวเล็ก ๆ แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ
มันเป็นไปได้ยากที่จู่ ๆ คุณจะลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองจากคนที่ยอมคนอื่นตลอดแล้วกระโดดมาเป็นคนที่กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผยแบบคนที่มี Assertiveness และมันก็คงน่าตกใจสำหรับคนรอบข้างที่จู่ ๆ คุณก็เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
ดังนั้น คุณควรเริ่มแบบทีละเล็กละน้อย เช่น เมื่อบาริสตาเสิร์ฟกาแฟให้ไม่ตรงกับที่คุณสั่ง แทนที่คุณจะรับมาดื่มโดยไม่พูดอะไรทั้งที่ในใจคุณไม่ชอบกาแฟที่บาริสตาทำ ก็ลองบอกกับบาริสตาไปอย่างสุภาพว่าที่จริงแล้วคุณสั่งอะไรไป
6. ฝึกใช้ภาษากายพูดแทน
คนที่มี Assertiveness จะมีลักษณะเด่นอีกอย่างก็คือสามารถใช้ภาษากายได้ดี เช่น eye contact ซึ่งภาษากายเป็นภาษาสากลที่คนทั้งโลกสามารถเข้าใจได้ และในบางครั้งภาษากายมันก็สื่อสารความรู้สึกได้ดีกว่าคำพูด
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] Assertive Communication. https://www.psychologytools.com/resource/assertive-communication/
[2] Assertiveness. https://www.psychologytoday.com/us/basics/assertiveness
[3] How to Be More Assertive. https://www.verywellmind.com/how-to-be-more-assertive-6361677
[4] Individualism – Collectivism – ความเป็นปัจเจกนิยม – คติรวมหมู่. https://smarterlifebypsychology.com/2019/05/10/individualism-collectivism/
[5] หนังสือ เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข เขียนโดย โกะโด โทคิโอะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments