top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เริ่มชีวิตใหม่ยังไงให้ไม่ทำร้ายตัวเองและลูกเมื่อต้องเลี้ยงเดี่ยว


ข่าวพ่อเลี้ยงหรือแม่ทำร้ายลูกจนเสียชีวิตไม่เพียงแต่กระทบต่อความรู้สึกของคนในสังคม แต่ยังกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่กำลังตัดสินใจหรือผู้ที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วยโดยเฉพาะในฝั่งของแม่เลี้ยงเดี่ยวจะเกิดโอกาสในการรู้สึกกดดันได้มากกว่า เนื่องจากในมุมมองทางสังคมแล้ว ผู้เป็นแม่จะถูกคาดหวังมากมาย หากตัดสินใจผิดพลาดไปก็จะมีโอกาสถูกสังคมด่าทอมากกว่าผู้เป็นพ่อ แต่กระนั้น แม้ว่าสังคมจะมีกลไกการลงโทษทางสังคมกับแม่ที่ตัดสินใจผิดพลาดจนลูกเสียชีวิต เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข่าวพ่อเลี้ยงหรือแม่ทำร้ายลูกจนเสียชีวิตก็ไม่มีวี่แววว่าจะลดลงไปเลย สิ่งนี้อาจสะท้อนว่าการแก้ปัญหานี้ด้วยการด่าทออาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ปัญหานี้ลดลง การหันมาทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือทางสังคมจึงอาจให้ผลที่ดีกว่า


การเลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญกับอะไรบ้าง?

นอกจากพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางใจจากการอกหักหรือสูญเสียคนที่เคยรักกันไปแล้ว ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นและต้องเผชิญที่มีเพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่

  • การขาดการสนับสนุนทางสังคม พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องรับหน้าที่ดูแลลูก มักจะต้องใช้เวลาแทบทั้งหมดของตัวเองไปกับลูก ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ด้วยกันน้อยลงไปโดยปริยาย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีใครที่มาช่วยผลัดเปลี่ยนหน้าที่ในการเลี้ยงลูก จึงอาจเกิดความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวหรือหดหู่ได้

  • การจัดการว่าใครจะดูแลลูก กรณีที่ทั้งสองฝ่ายต้องผลัดกันรับลูกไปดูแล การบริหารจัดการว่าใครจะดูแลลูกวันไหนบ้างก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคิด

  • ความเครียด กรณีที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องรับผิดชอบลูก 100% โดยไม่มีอีกฝ่ายรับผิดชอบช่วยเหลือเรื่องลูก อาจทำให้เกิดความเครียดในระดับสูงได้

  • ความกังวลในเรื่องการเงิน พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายคนกังวลว่ารายได้ของตนเองจะเพียงพอกับรายจ่ายของครอบครัวหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่อีกฝ่ายไม่รับผิดชอบ จึงเกิดความวิตกกังวลในเรื่องการเงิน โดยจากงานวิจัยเรื่อง “The Impact of Financial Hardship on Single Parents: An Exploration of the Journey From Social Distress to Seeking Help” ของ Rebecca Jayne Stack & Alex Meredith พบว่า พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มในการต้องเผชิญกับปัญหาการเงิน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะทางใจของพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และมีความเสี่ยงในการเกิดความรู้สึกแปลกแยก มีความวิตกกังวลสูง และเกิดภาวะซึมเศร้าได้


จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากเกิดความเครียดจากการเลี้ยงเดี่ยว?

แม้ว่าความเครียดนั้นมีส่วนดีคือช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว เช่น ถ้าพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวรู้สึกเครียดในระดับที่เหมาะสม ก็จะมีการตื่นตัวว่าจะต้องทำยังไงให้ตัวเองและลูกข้ามผ่านสถานการณ์เลวร้ายไปได้ แต่หากมีความเครียดเกิดขึ้นแล้วไม่ได้สังเกตตัวเองจนกลายเป็นความเครียดสะสมเรื้อรัง พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้

  • มีปัญหาทางอารมณ์เกิดขึ้น เช่น หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล หดหู่ซึมเศร้า

  • ภูมิต้านทานลดลงจากความเครียด ทำให้ป่วยบ่อยขึ้นหรือป่วยง่ายขึ้น

  • แรงจูงใจหรือความคิดสร้างสรรค์ลดลง

  • มีอาการทางกายที่เกิดจากความเครียด เช่น ปวดหัวบ่อย กล้ามเนื้อตึงทำให้ปวดเมื่อยเนื้อตัว

  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ทำให้ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

  • อารมณ์และความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่อง “Factors affecting the quality of life of single mothers compared to married mothers” ของ Ga Eun Kim & Eui-Jung Kim ซึ่งทำการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างแม่เลี้ยงเดี่ยวและแม่ที่สมรสชาวเกาหลีใต้ โดยพบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นออกมาน้อยกว่าของแม่ที่สมรส, แม่ที่มีอายุมากกว่า, มีการศึกษาสูงกว่า หรือมีอาชีพการงานที่ดีกว่า ในทางกลับกัน แม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความเครียดในระดับสูง, มีอาการของโรคซึมเศร้า, มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมึนเมา


จะพาตัวเองและลูกไปตลอดรอดฝั่งได้แม้ต้องเลี้ยงเดี่ยวได้อย่างไร?

การเลี้ยงเดี่ยวนั้นไม่ง่ายเพราะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างซึ่งล้วนทำให้เกิดความเครียด แต่หากพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถวางแผนชีวิต หาวิธีรับมือกับความเครียด หรือเข้าถึงความช่วยเหลือได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ดีไม่แพ้คนอื่น ซึ่งแม้ว่าคุณต้องเลี้ยงเดี่ยวแต่คุณก็สามารถพาตัวเองและลูกไปตลอดรอดฝั่งได้ ถ้าคุณเลือกวิธีรับมือกับแต่ละปัญหาอย่างเหมาะสม ดังนี้


1. รับมือกับความเหงา

แม้ว่าการเลี้ยงลูกนั้นหมายถึงคุณจะมีลูกอยู่ข้าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง แต่การที่ลูกยังเล็กนั้นอาจทำให้คุณรู้สึกเหงา และโดดเดี่ยว

วิธีการรับมือกับปัญหา: แม้ว่าคุณจะอยู่ในสถานะพ่อ/แม่ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าคุณเองก็ต้องการการดูแลเช่นกัน โดยคุณอาจจะลองใช้เวลาที่ลูกหลับอยู่เป็นเวลาพักผ่อนของคุณ ไม่ว่าจะงีบหลับไปกับลูก เล่นโยคะ ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือโทรหาเพื่อนสักคนให้รู้สึกว่าคุณยังมีความเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ อยู่


2. รับมือกับความรู้สึกสงสัยในคุณค่าของตนเอง

สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อต้องเลี้ยงเดี่ยว ก็คือความรู้สึกสงสัยในตัวเอง เช่น “ฉันเป็นคนที่ไม่ดีพอใช่หรือเปล่า” “ฉันเป็นคนมีตำหนิไปแล้วใช่ไหม” “ฉันเป็นคนที่แย่มากเลยใช่ไหมที่ไม่สามารถรักษาครอบครัวไว้ได้” ฯลฯ

วิธีการรับมือกับปัญหา: ฝึกอยู่กับความเป็นจริงของปัจจุบันและฝึกโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ เช่น “ฉันเลี้ยงลูกได้ดี” “ฉันสามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงลูกได้”


3. รับมือกับการที่ต้องตัดสินใจอะไรคนเดียว

การเลี้ยงเดี่ยวจะทำให้รู้สึกว่าขาดเพื่อนคู่คิด และต้องตัดสินใจทุกเรื่องเพียงลำพัง

วิธีการรับมือกับปัญหา: ฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่สามารถมองหาทางออกของทุกสถานการณ์ได้ รวมไปถึงฝึกทักษะในการแก้ปัญหา ซึ่งแม้ว่าในครั้งแรก ๆ อาจจะทำได้ไม่ดีนัก แต่หากคุณฝึกแก้ปัญหาบ่อย ๆ คุณจะเกิดทักษะที่ทำให้คุณสามารถกลายเป็นคนที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่งในที่สุด


หากเปรียบการเลี้ยงเดี่ยวดั่งการพลัดตกน้ำ คนที่ไม่สามารถประคองสติได้ก็จะไขว่คว้าทุกสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงกะลามะพร้าว แต่คนที่ว่ายน้ำเป็นและมีสติเพียงพอก็จะสามารถพาตัวเองเข้าสู่ฝั่งได้ อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องเผชิญปัญหาอยู่ตามลำพัง อย่างน้อยก็ยังมีนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษาที่จะสามารถช่วยให้คุณผ่านวิกฤตชีวิตไปได้เพียงแค่คุณเปิดใจไปรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ

 

อ้างอิง

[1] Single Parenting Stress: How to Beat Burnout. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/single-parenting-stress-how-to-beat-burnout-5216180

[2] The Impact of Financial Hardship on Single Parents: An Exploration of the Journey From Social Distress to Seeking Help. Retrieved from. https://link.springer.com/article/10.1007/s10834-017-9551-6

[3] Factors affecting the quality of life of single mothers compared to married mothers. Retrieved from. https://bmcpsychiatry.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12888-020-02586-0

[4] An Emotional Survival Guide for Single Moms. Retrieved from. https://www.seleni.org/advice-support/2018/3/13/an-emotional-survival-guide-for-single-moms

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comentários


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page