9 เทคนิคจิตวิทยาเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ (Self Esteem) ในตัวเองของ LGBTQ
- Chanthama Changsalak
- Jun 17, 2022
- 2 min read
Updated: Feb 19

เนื่องจากเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นเดือน "Pride Month" หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ ) เนื่องจาก "Pride Month" มีจุดกำเนิดมาจากความไม่เท่าเทียมทางสิทธิ การไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม
จึงทำให้ชาว LGBTQ ทั้งที่เปิดเผยตัว และยังไม่เปิดเผยตัวได้มารวมกันเพื่อแสดงตัวตนครั้งแรกที่ 28 มิถุนายน 1960 ที่สโตนวอลล์ อินน์ รัฐนิวยอร์ก แต่ถูกจับกุม และการมาเป็นจลาจล แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ชาว LGBTQ เกิดแรงฮึด จนเมื่อในปี ค.ศ. 1970 ประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา ทั้งที่เป็น LGBTQ และผู้คนที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ได้ออกมาเดินขบวน
และเมื่อปี ค.ศ. 2009 Barack Obama ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถึงแม้ว่าทั่วโลก ร่วมถึงประเทศไทยจะผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่การใช้ชีวิตของชาว LGBTQ บางส่วนในสังคมไทย ก็ยังคงต้องอดทนกับการไม่ได้รับการยอมรับในสังคม
โดยจากบทสัมภาษณ์ของคุณปิ่นปินัทธ์ แท่งทอง จาก the matter ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เรามักจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกพูดถึงด้วยคำพูดที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร เราก็พยายามที่จะผลักดันตัวเองให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เหมือนกับว่าถ้าเราอยู่ในสังคมนี้มันต้องเก่ง เราเองว่าเราต้องพิสูจน์ทุกอย่างอะ ให้เราได้รับการยอมรับ
เราใช้เวลาประมาณสามปีในช่วงมัธยมปลายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักในโรงเรียน เพื่อจะให้ไม่มีใครมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเป็น และมองข้ามสิ่งที่เราเป็น ให้ไปโฟกัสกับตัวตนของเรา กิจกรรมที่เราทำ งานที่เราทำ หรือว่าผลตอบรับของงานที่เราทำ”
หรือจากบทสัมภาษณ์ของคุณอังสุมาลิน อากาศน่วม คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวของคุณภารวี อากาศน่วม ผู้เป็น LGBTQ ที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชายข้ามเพศ (Transman) ที่เป็น Non - Binary และ Aromantic Asexual ตอนหนึ่งที่ว่า “แม่จะมีเพื่อนที่เป็นหลากหลายทางเพศหลายคน ตั้งแต่เราเป็นเด็ก ๆ คุณพ่อ คุณแม่ ก็จะเห็นว่าเพื่อนที่เป็นเกย์อยู่ที่บ้านตัวเองไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ยอมรับ ก็จะหนีมาอยู่กับเรา”
นั่นแสดงให้เห็นว่า การสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง หรือ Self Esteem เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะในทางจิตวิทยา Self Esteem ส่งผลต่อพลังใจในการใช้ชีวิต รวมถึงการมีความลาดทางอารมณ์ที่เหมาะสม โดยผู้ที่มี Self Esteem สูง จะมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง มองโลกในแง่ดี มีพลังบวก แต่ถ้าหากมี Self Esteem ต่ำ จะส่งผลให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกทางลบต่อตนเองขาดพลังใจในการใช้ชีวิต
ด้วยความห่วงใยและสนับสนุนทุกความเท่าเทียม จึงขอนำเทคนิคจิตวิทยาในการสร้าง Self Esteem มาฝากกันค่ะ
1. มองตัวเองในมุมบวก
ในเมื่อมีบางคนในสังคมที่มองเราในแง่ลบ ทำให้เรารู้สึกบั่นทอนอยู่แล้ว เราจึงไม่ควรทำร้ายตัวเองเพิ่มไปอีกด้วยการมองตนเองในแง่ลบ และควรเสริมความภาคภูมิใจในตนเองด้วยการมองตนเองในแง่ดี มองตัวเองในมุมบวก เสริมพลังใจให้ตนเอง ด้วยการชื่นชมตนเองบ้าง ให้รางวัลกับตนเองบ้าง และพูดถึงตนเองในแง่ดีค่ะ
2. หมั่นพัฒนาตนเอง
สิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำว่า เราจะสามารถสร้างความภาคภูมิใจในตนเองและพัฒนาตนเองให้กลายเป็นคนที่ “ดี” กว่าเก่า ก็คือ การหมั่นพัฒนาตนเองค่ะ เช่น เรียนเสริม เรียนต่อ เข้าคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ ที่เราสนใจ เปิดฟัง Podcast ในหัวข้อที่เราสนใจ หรือเข้าร่วมกลุ่มต่าง ๆ ที่เสริมทักษะ พัฒนาสมรรถนะ และศักยภาพของเรา ให้เราเจ๋ง และโดดเด่นขึ้นไปอีกค่ะ
3. ปฏิเสธในสิ่งที่ “ไม่ใช่” และ “ยอมรับ” ในสิ่งที่ใช่
หลาย ๆ สถานที่ และหลาย ๆ สถานการณ์ ที่เราจะถูกบังคับให้เลิกว่าเราต้องแสดงออกว่าเป็น “หญิง” หรือ “ชาย” เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงเพศสภาพมีความหลากหลายมากกว่าเพศกำเนิด ดังนั้น เพื่อเสริมสร้าง Self Esteem ของเรา เราจำเป็นต้องปฏิเสธสิ่งที่ “ไม่ใช่” ในบางเรื่องที่กระทบกระเทือนกับความรู้สึกของเรา
เช่น การเน้นย้ำคำนำหน้าชื่ออย่างตั้งใจ การถูกล้อเลียนเรื่องเพศสภาพ เป็นต้น โดยบอกกับผู้นั้นตรง ๆ ไปเลยว่าเรา “ไม่โอเค” รวมถึงเราต้องกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ “ใช่” สำหรับเรา เช่น การแต่งกายตามเพศสภาพ การทำกิจกรรมที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดแต่ตรงใจเรา ไม่ว่าจะเป็น การเรียนแต่งหน้า ทำผล ทำขนม ขับรถแข่ง เอาเป็นว่าสิ่งใดที่สร้างความสบายใจให้กับเราโดยไม่กระทบกับสิทธิและความรู้สึกของผู้อื่น ก็ทำเถอะค่ะ
4. มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต
การมีเป้าหมายในการใช้ชีวิต จะเติมไฟในชีวิตของเราให้ลุกโชน ทำให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เรามีความสุข เพื่อให้ชีวิตของเรามีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยเราอาจเริ่มจากตั้งเป้าระยะใกล้ก่อน คือ ตั้งเป้าหมายประจำวัน แล้วค่อยขยายเป้นตั้งเป้าหมายประจำสัปดาห์ เป้าหมายรายเดือน เป้าหมายรายปี ไปเรื่อย ๆ ค่ะ
5. เปิดกว้าง ให้อภัย และไม่รีบตัดสินคนอื่น
“อยากได้สิ่งใด ต้องให้เขาก่อน” คำกล่าวนี้ยังใช้ได้เสมอค่ะ เพราะฉะนั้น หากเราต้องการให้คนอื่นยอมรับ เราก็ต้องยอมรับในความแตกต่าง เปิดกว้าง ให้อภัย และไม่รีบตัดสินคนอื่นทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้จักเขา หรือรีบตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่คนอี่นเม้ามอยมา
6. สร้างเพื่อนเก่ง
ในการสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเองนั้น เราควรสร้างมิตรแท้ และไม่มีศัตรูถาวร เพราะเมื่อเรามีพันธมิตร มีเพื่อน เราจะรู้สึกสบายใจในการใช้ชีวิต รู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยตัวตน และมีความสุขที่จะอยู่ในสังคม อยู่ในที่ที่เป็นของเราค่ะ
7. ไม่นำตนเองไปเทียบกับคนอื่น
อีกหนึ่งเทคนิคที่นักจิตวิทยาแนะนำในการสร้าง Self Esteem ก็คือ การไม่นำตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นค่ะ เพราะทุกคนมีความแตกต่างกัน มีความชอบ ความเก่ง ความถนัดแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่เราอาจจะมีบางเรื่องที่ไม่เก่งเท่าเพื่อน และมีบางเรื่องที่เราโดดเด่นเป็นพิเศษ
8. ใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารัก และรักเรา
การได้ใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารัก และรักเรา นอกจากจะเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเราแล้ว ยังช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิต เสริมสร้างความหวังในการใช้ชีวิต เพราะคนที่เรารักเขาแสดงออกชัดเจนว่าเขาเข้าใจเรา และยอมรับในตัวเราอย่างแท้จริง
9. รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง
นอกจากเราจะเสริมสร้างความรู้ ความสามารถ สร้างเพื่อน สร้างแรงใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ เราต้องดูแลสุขภาพของเราให้แข็งแรง ดูแลสุขภาพจิตใจให้มั่นคง เพื่อให้เรามีแรงกาย และแรงใจในการใช้ชีวิต และต่อสู้กับโลกที่บางทีก็โหดร้ายกับเราต่อไปได้อย่างมีความสุขค่ะ
ถึงแม้ว่าสังคมบางส่วนจะยังไม่ยอมรับในตัวตนของเรา แต่คนหนึ่งที่ต้องยอมรับและภาคภูมิใจ ในสิ่งที่เป็นเรา ก็คือ ตัวเราเองค่ะ ดังเช่นที่คุณปิ่นปินัทธ์ แท่งทอง ได้ให้สัมภาษณ์ในตอนหนึ่ง ว่า “เราอะต้องเป็นคนใจดีต่อตัวเอง ต่อให้แบบว่า โลกภายนอกมันจะใจร้ายกับเรา ไม่มีใครเข้าใจเรา แต่ถ้าเราเชื่อมั่น เราใจดีกับตัวเอง เราให้อภัยกับความผิดของตัว เรารู้สึกว่ามันน่าจะช่วยให้ Self Esteem ของเขาเพิ่มขึ้นได้”
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
[1] คมชัดลึก. (2 มิถุนายน 2565). เปิดประวัติ "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่ม LGBTQ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/517153
[2] ฐานเศรษฐฏิจ. (5 มิถุนายน 2565). 4 เรื่องควรรู้ Pride Month พลังธงสีรุ้งความภาคภูมิใจของ LGBTQ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://www.thansettakij.com/general-news/527602
[3] ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ และวรรษมน ไตรยศักดา. (30 มิถุนายน 2564). LGBTQ Love & Family EP.3: สัมภาษณ์เต็ม ‘ซิงเกิลมัมและลูกชายข้ามเพศ’ เมื่อความหลากหลายไม่ยากเกินที่จะเข้าใจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://thestandard.co/single-mum-and-lgbtq-son/
[4] พบแพทย์. (ตุลาคม 2564). Self Esteem การเห็นคุณค่าในตัวเองที่สร้างได้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://www.pobpad.com
[5] the matter. (3 มิถุนายน 2564). “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี” เมื่อคำเหล่านี้ทำร้าย LGBTQ คุยกับ ลูกอี๊ด-ปิ่นปินัทธ์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://thematter.co/social/transgender-and-the-world-of-stereotype/147525
บทความแนะนำ :
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา