9 เทคนิคจิตวิทยาเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ (Self Esteem) ในตัวเองของ LGBTQ
เนื่องจากเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นเดือน "Pride Month" หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ ) เนื่องจาก "Pride Month" มีจุดกำเนิดมาจากความไม่เท่าเทียมทางสิทธิ การไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม จึงทำให้ชาว LGBTQ ทั้งที่เปิดเผยตัว และยังไม่เปิดเผยตัวได้มารวมกันเพื่อแสดงตัวตนครั้งแรกที่ 28 มิถุนายน 1960 ที่สโตนวอลล์ อินน์ รัฐนิวยอร์ก แต่ถูกจับกุม และการมาเป็นจลาจล แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ชาว LGBTQ เกิดแรงฮึด จนเมื่อในปี ค.ศ. 1970 ประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา ทั้งที่เป็น LGBTQ และผู้คนที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ได้ออกมาเดินขบวน และเมื่อปี ค.ศ. 2009 Barack Obama ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถึงแม้ว่าทั่วโลก ร่วมถึงประเทศไทยจะผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่การใช้ชีวิตของชาว LGBTQ บางส่วนในสังคมไทย ก็ยังคงต้องอดทนกับการไม่ได้รับการยอมรับในสังคม โดยจากบทสัมภาษณ์ของคุณปิ่นปินัทธ์ แท่งทอง จาก the matter ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เรามักจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกพูดถึงด้วยคำพูดที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร เราก็พยายามที่จะผลักดันตัวเองให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เหมือนกับว่าถ้าเราอยู่ในสังคมนี้มันต้องเก่ง เราเองว่าเราต้องพิสูจน์ทุกอย่างอะ ให้เราได้รับการยอมรับ เราใช้เวลาประมาณสามปีในช่วงมัธยมปลายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักในโรงเรียน เพื่อจะให้ไม่มีใครมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเป็น และมองข้ามสิ่งที่เราเป็น ให้ไปโฟกัสกับตัวตนของเรา กิจกรรมที่เราทำ งานที่เราทำ หรือว่าผลตอบรับของงานที่เราทำ”
หรือจากบทสัมภาษณ์ของคุณอังสุมาลิน อากาศน่วม คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวของคุณภารวี อากาศน่วม ผู้เป็น LGBTQ ที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชายข้ามเพศ (Transman) ที่เป็น Non - Binary และ Aromantic Asexual ตอนหนึ่งที่ว่า “แม่จะมีเพื่อนที่เป็นหลากหลายทางเพศหลายคน ตั้งแต่เราเป็นเด็ก ๆ คุณพ่อ คุณแม่ ก็จะเห็นว่าเพื่อนที่เป็นเกย์อยู่ที่บ้านตัวเองไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ยอมรับ ก็จะหนีมาอยู่กับเรา”
นั่นแสดงให้เห็นว่า การสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง หรือ Self Esteem เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะในทางจิตวิทยา Self Esteem ส่งผลต่อพลังใจในการใช้ชีวิต รวมถึงการมีความลาดทางอารมณ์ที่เหมาะสม โดยผู้ที่มี Self Esteem สูง จะมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง มองโลกในแง่ดี มีพลังบวก แต่ถ้าหากมี Self Esteem ต่ำ จะส่งผลให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกทางลบต่อตนเองขาดพลังใจในการใช้ชีวิต
ด้วยความห่วงใยและสนับสนุนทุกความเท่าเทียม จึงขอนำเทคนิคจิตวิทยาในการสร้าง Self Esteem มาฝากกันค่ะ
1. มองตัวเองในมุมบวก
ในเมื่อมีบางคนในสังคมที่มองเราในแง่ลบ ทำให้เรารู้สึกบั่นทอนอยู่แล้ว เราจึงไม่ควรทำร้ายตัวเองเพิ่มไปอีกด้วยการมองตนเองในแง่ลบ และควรเสริมความภาคภูมิใจในตนเองด้วยการมองตนเองในแง่ดี มองตัวเองในมุมบวก เสริมพลังใจให้ตนเอง ด้วยการชื่นชมตนเองบ้าง ให้รางวัลกับตนเองบ้าง และพูดถึงตนเองในแง่ดีค่ะ
2. หมั่นพัฒนาตนเอง
สิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำว่า เราจะสามารถสร้างความภาคภูมิใจในตนเองและพัฒนาตนเองให้กลายเป็นคนที่ “ดี” กว่าเก่า ก็คือ การหมั่นพัฒนาตนเองค่ะ เช่น เรียนเสริม เรียนต่อ เข้าคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ ที่เราสนใจ เปิดฟัง Podcast ในหัวข้อที่เราสนใจ หรือเข้าร่วมกลุ่มต่าง ๆ ที่เสริมทักษะ พัฒนาสมรรถนะ และศักยภาพของเรา ให้เราเจ๋ง และโดดเด่นขึ้นไปอีกค่ะ
3. ปฏิเสธในสิ่งที่ “ไม่ใช่” และ “ยอมรับ” ในสิ่งที่ใช่
หลาย ๆ สถานที่ และหลาย ๆ สถานการณ์ ที่เราจะถูกบังคับให้เลิกว่าเราต้องแสดงออกว่าเป็น “หญิง” หรือ “ชาย” เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงเพศสภาพมีความหลากหลายมากกว่าเพศกำเนิด ดังนั้น เพื่อเสริมสร้าง Self Esteem ของเรา เราจำเป็นต้องปฏิเสธสิ่งที่ “ไม่ใช่” ในบางเรื่องที่กระทบกระเทือนกับความรู้สึกของเรา เช่น การเน้นย้ำคำนำหน้าชื่ออย่างตั้งใจ การถูกล้อเลียนเรื่องเพศสภาพ เป็นต้น โดยบอกกับผู้นั้นตรง ๆ ไปเลยว่าเรา “ไม่โอเค” รวมถึงเราต้องกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ “ใช่” สำหรับเรา เช่น การแต่งกายตามเพศสภาพ การทำกิจกรรมที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดแต่ตรงใจเรา ไม่ว่าจะเป็น การเรียนแต่งหน้า ทำผล ทำขนม ขับรถแข่ง เอาเป็นว่าสิ่งใดที่สร้างความสบายใจให้กับเราโดยไม่กระทบกับสิทธิและความรู้สึกของผู้อื่น ก็ทำเถอะค่ะ
4. มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต
การมีเป้าหมายในการใช้ชีวิต จะเติมไฟในชีวิตของเราให้ลุกโชน ทำให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เรามีความสุข เพื่อให้ชีวิตของเรามีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยเราอาจเริ่มจากตั้งเป้าระยะใกล้ก่อน คือ ตั้งเป้าหมายประจำวัน แล้วค่อยขยายเป้นตั้งเป้าหมายประจำสัปดาห์ เป้าหมายรายเดือน เป้าหมายรายปี ไปเรื่อย ๆ ค่ะ
5. เปิดกว้าง ให้อภัย และไม่รีบตัดสินคนอื่น
“อยากได้สิ่งใด ต้องให้เขาก่อน” คำกล่าวนี้ยังใช้ได้เสมอค่ะ เพราะฉะนั้น หากเราต้องการให้คนอื่นยอมรับ เราก็ต้องยอมรับในความแตกต่าง เปิดกว้าง ให้อภัย และไม่รีบตัดสินคนอื่นทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้จักเขา หรือรีบตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่คนอี่นเม้ามอยมา
6. สร้างเพื่อนเก่ง
ในการสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเองนั้น เราควรสร้างมิตรแท้ และไม่มีศัตรูถาวร เพราะเมื่อเรามีพันธมิตร มีเพื่อน เราจะรู้สึกสบายใจในการใช้ชีวิต รู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยตัวตน และมีความสุขที่จะอยู่ในสังคม อยู่ในที่ที่เป็นของเราค่ะ
7. ไม่นำตนเองไปเทียบกับคนอื่น
อีกหนึ่งเทคนิคที่นักจิตวิทยาแนะนำในการสร้าง Self Esteem ก็คือ การไม่นำตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นค่ะ เพราะทุกคนมีความแตกต่างกัน มีความชอบ ความเก่ง ความถนัดแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่เราอาจจะมีบางเรื่องที่ไม่เก่งเท่าเพื่อน และมีบางเรื่องที่เราโดดเด่นเป็นพิเศษ
8. ใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารัก และรักเรา
การได้ใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารัก และรักเรา นอกจากจะเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเราแล้ว ยังช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิต เสริมสร้างความหวังในการใช้ชีวิต เพราะคนที่เรารักเขาแสดงออกชัดเจนว่าเขาเข้าใจเรา และยอมรับในตัวเราอย่างแท้จริง
9. รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง
นอกจากเราจะเสริมสร้างความรู้ ความสามารถ สร้างเพื่อน สร้างแรงใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ เราต้องดูแลสุขภาพของเราให้แข็งแรง ดูแลสุขภาพจิตใจให้มั่นคง เพื่อให้เรามีแรงกาย และแรงใจในการใช้ชีวิต และต่อสู้กับโลกที่บางทีก็โหดร้ายกับเราต่อไปได้อย่างมีความสุขค่ะ
ถึงแม้ว่าสังคมบางส่วนจะยังไม่ยอมรับในตัวตนของเรา แต่คนหนึ่งที่ต้องยอมรับและภาคภูมิใจ ในสิ่งที่เป็นเรา ก็คือ ตัวเราเองค่ะ ดังเช่นที่คุณปิ่นปินัทธ์ แท่งทอง ได้ให้สัมภาษณ์ในตอนหนึ่ง ว่า “เราอะต้องเป็นคนใจดีต่อตัวเอง ต่อให้แบบว่า โลกภายนอกมันจะใจร้ายกับเรา ไม่มีใครเข้าใจเรา แต่ถ้าเราเชื่อมั่น เราใจดีกับตัวเอง เราให้อภัยกับความผิดของตัว เรารู้สึกว่ามันน่าจะช่วยให้ Self Esteem ของเขาเพิ่มขึ้นได้”
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
[1] คมชัดลึก. (2 มิถุนายน 2565). เปิดประวัติ "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่ม LGBTQ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/517153
[2] ฐานเศรษฐฏิจ. (5 มิถุนายน 2565). 4 เรื่องควรรู้ Pride Month พลังธงสีรุ้งความภาคภูมิใจของ LGBTQ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://www.thansettakij.com/general-news/527602
[3] ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ และวรรษมน ไตรยศักดา. (30 มิถุนายน 2564). LGBTQ Love & Family EP.3: สัมภาษณ์เต็ม ‘ซิงเกิลมัมและลูกชายข้ามเพศ’ เมื่อความหลากหลายไม่ยากเกินที่จะเข้าใจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://thestandard.co/single-mum-and-lgbtq-son/
[4] พบแพทย์. (ตุลาคม 2564). Self Esteem การเห็นคุณค่าในตัวเองที่สร้างได้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://www.pobpad.com
[5] the matter. (3 มิถุนายน 2564). “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี” เมื่อคำเหล่านี้ทำร้าย LGBTQ คุยกับ ลูกอี๊ด-ปิ่นปินัทธ์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จาก https://thematter.co/social/transgender-and-the-world-of-stereotype/147525
บทความแนะนำ :
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา
Comentários