Self-love to Self-love สิ่งที่อยากจะบอกกับคนที่รักตัวเองไม่เป็น
การรักตัวเอง (Self-love) เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีคนพูดถึงบ่อยในช่วงนี้ และแม้ว่ามันจะดูเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจแต่มันก็เป็นความจริงที่ว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าการรักตัวเองคืออะไร รวมถึงไม่รู้วิธีการที่เป็นรูปธรรมในการรักตัวเอง จึงจะพบได้บ่อยว่าเมื่อหลายคนพูดถึง “การรักตัวเอง” ก็จะมีลักษณะเป็นนิยามที่เลื่อนลอยแต่ไม่มีวิธีการ เช่น “รักตัวเองไม่เจ็บเลยสักวัน” แต่ไม่ระบุว่าต้องทำยังไงถึงจะรักตัวเองเป็น หรือบางคนก็อาจจะนำไปสับสนกับคำว่า “การสงสารตัวเอง (Self-pity)” ซึ่งดูเผิน ๆ แล้วมันคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน เพราะการสงสารตัวเองนั้นจะหมายถึงการมองเห็นแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองจนรู้สึกสงสารตัวเองซึ่งมันมักจะนำไปสู่ความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น “ทำไมทุกอย่างมันต้องมาเกิดแต่กับฉัน” และมักจะลงเอยด้วยความรู้สึกหดหู่ซึมเศร้า ต่างจากการรักตัวเองที่มันจะเกิดขึ้นผ่านพฤติกรรมสร้างสรรค์และความคิดในแง่ดีต่อตนเองซึ่งผลลัพธ์ก็คือการมีอารมณ์ในเชิงบวก เช่น สดชื่นแจ่มใส รู้สึกมีพลัง มีความหวังและกำลังใจในการดำเนินชีวิต
การรักตัวเองสำคัญยังไง?
การรักตัวเองเป็นรากฐานของหลาย ๆ อย่างที่สำคัญต่อชีวิต เช่น
- การกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม (Assertiveness) ซึ่งเป็นสมดุลที่อยู่ตรงกลางระหว่างความก้าวร้าวกับการไม่กล้าแสดงออกเลย เช่น เมื่อมีคนมาลัดคิว คนที่ก้าวร้าวก็อาจจะตะโกนด่าทอหรือทำร้ายคนที่ลัดคิว ส่วนคนที่ไม่กล้าแสดงออกเลยก็อาจจะยอมให้คนอื่นลัดคิวแล้วเก็บกดความไม่พอใจเอาไว้อยู่หลายวัน ในขณะที่คนที่กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมจะบอกไปตามตรงด้วยน้ำเสียงที่สุภาพว่า “รบกวนช่วยไปต่อคิวนะคะ หางแถวอยู่ตรงนั้นค่ะ”
- การวางขอบเขต (set boundary) ที่จะช่วยให้วางตัวได้อย่างเหมาะสมและไม่ปล่อยให้ใครมาล้ำเส้น
- การรักษาความสัมพันธ์แบบ “healthy relationship” กับคนอื่น
- การมีพฤติกรรมดูแลตัวเอง (self-care)
- การพาตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
- การมีความรู้สึกภาคภูมิใจในฐานะที่ตัวเองเป็นบุคคลคนหนึ่ง
พฤติกรรมอะไรบ้างที่จะนำไปสู่การรักตัวเองเป็น?
1. ปฏิบัติกับตัวเองด้วยความอ่อนโยน มี empathy ต่อตัวเอง โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องเจอกับอุปสรรค ทำความเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนคู่ควรกับความรักและการให้อภัยในความผิดพลาด
2. รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและบอกความต้องการดังกล่าวออกไปให้คนอื่นรับรู้ได้อย่างชัดเจน และให้ความสำคัญกับสุขภาวะของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก รวมถึงปฏิเสธหรือ say no ในสิ่งที่มันดูดพลังหรือมันทำให้คุณค่าของคุณถูกลดทอนลง
3. เลือกทำกิจกรรมที่หล่อเลี้ยงร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย ฝึกสติและสมาธิ นอนหลับอย่างเพียงพอ ทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ
4. รับรู้และฉลองความสำเร็จของตัวเองไม่ว่ามันจะเล็กหรือใหญ่ ให้รางวัลตัวเอง สะท้อนการเติบโตของตัวเองซึ่งอาจจะทำโดยการเขียนบันทึกว่าในปีนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จของตัวเองให้กับคนที่คุณไว้วางใจหรือคนที่รักคุณ
5. พูดกับตัวเองในเชิงบวก หว่านเมล็ดพันธุ์เชิงบวกให้กับตัวตนภายในของคุณด้วยการพูดกับตัวเองด้วยคำพูดเชิงบวกและต่อสู้กับคำพูดเชิงลบ เปลี่ยนจากคำพูดตำหนิวิจารณ์ตัวเองไปเป็นการพูดกับตัวเองถึงสิ่งที่คุณทำได้หรือมีความสามารถในเรื่องนั้นรวมถึงด้านที่มีคุณค่าในตัวคุณ
6. ยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง ยอมรับความผิดพลาด นิสัยใจคอ และด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง หมั่นเตือนตัวเองว่าคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกไว้กับมาตรฐานของสังคมภายนอก และไม่ต้องเอาตัวเองไปเทียบกับใคร
7. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะจากเพื่อนที่ไว้ใจได้ คนในครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งการช่วยเหลือถือเป็นพฤติกรรมหนึ่งที่สะท้อนถึงการรักตัวเอง เพราะคุณเชื่อว่าตัวเองคู่ควรแก่การดูแลและการได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นในยามที่คุณต้องการความช่วยเหลือ
8. น้อมรับการค้นพบตัวเอง หากิจกรรมที่ช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น เช่น เขียนบันทึกเกี่ยวกับตัวเอง สะท้อนตัวเอง (self-reflection) หรือเข้ารับบริการทำจิตบำบัดเพื่อทำความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เช่น คุณสนใจอะไร คุณค่าของคุณคืออะไรบ้าง หรือความหลงใหล (passion) ที่จะช่วยให้คุณออกแบบชีวิตของตัวเองให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณมีความสุขหรือสิ่งที่จะมาช่วยเติมเต็มชีวิตของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การรักตัวเองนั้นจะว่าง่ายก็ง่ายแต่จะว่ายากก็ยาก เพราะสำหรับบางคนที่อาจจะมีเส้นทางชีวิตที่เกื้อหนุนให้เกิดพฤติกรรมรักตัวเอง เช่น เป็นที่รักของครอบครัว ได้รับการปฏิบัติที่แสดงความรักจากคนรอบข้าง ก็มักจะพัฒนามุมมองต่อตนเองในเชิงบวกได้มากกว่าคนที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบทารุณทอดทิ้ง ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เมื่ออ่านบทความแล้วรู้สึกว่า “ฉันไม่มีพฤติกรรมรักตัวเองเลย” หรือ “ฉันทำไม่ได้แน่ ๆ” แล้วคุณพบว่าตัวเองมีประสบการณ์ในอดีตที่มันรบกวนกระบวนการเติบโตงอกงามภายใน ผู้เขียนก็ขอแนะนำให้คุณลองเข้ารับบริการทำจิตบำบัดและพูดคุยกับนักจิตบำบัดเพื่อหาทางแก้ไขเยียวยาบาดแผลที่เกิดจากประสบการณ์ในอดีตนะคะ เพราะมนุษย์ทุกคนคู่ควรกับความรัก อย่างน้อย ๆ ก็คู่ควรกับความรักที่ตัวเองมอบให้กับตัวเอง เติมน้ำในแก้วของตัวเองให้เต็มก่อนแล้วจึงค่อยไปเติมน้ำในแก้วของคนอื่น
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
Keyword: รักตัวเอง, ความสุข
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] The Power of Self-Love. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/intl/blog/conquering-codependency/202306/the-power-of-self-love
[2] How to Recognize and Redirect Self-Pity. Retrieved from https://psychcentral.com/blog/self-pity-to-self-compassion
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments